ตรังวุ่น ปิด รพ.วังวิเศษ กักตัว 41 บุคลากรแพทย์ หลังผู้ป่วยโควิดมารักษา เสี่ยงสูงอีก 182 ราย ลุ้นผลตรวจออกพรุ่งนี้ ไทม์ไลน์มีอาชีพค้าขาย ร่วมกิจกรรมชุมชน
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง และพญ.ทิพย์ลดา บุญชัย รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง ร่วมแถลงข่าวว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1 ราย เท่ากับเมื่อวาน รวมมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมในการระบาดรอบเดือน เม.ย. 2564 จำนวน 278 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายที่ 278 เป็นผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 53 ปี ภูมิลำเนา ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง อาชีพเกษตรกรและเสริมสวย มีประวัติสัมผัสกับหลายบุคคล จนทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เร่งค้นหาเชิงรุก (Active case finding) เพื่อนำกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากโพรงจมูกและคอ (SWAB) ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวมาพบแพทย์ที่ รพ.วังวิเศษ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 ด้วยอาการไข้และถ่ายเหลว ทำการเอ็กซเรย์ปอดครั้งแรกเป็นปกติ แต่ 4 วันต่อมาอาหารไข้ไม่ลดลง จึงต้องทำการเอ็กซเรย์ปอดซ้ำ พบปอดเป็นฝ้า เมื่อทำการตรวจและพบเชื้อ
ดังนั้น จึงมีบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลวังวิเศษ และเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสเสี่ยงสูงในหอผู้ป่วย จำนวน 29 ราย ญาติผู้ป่วย 2 ราย เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉิน 12 ราย ซึ่งผลการตรวจในบุคลากรทางการแพทย์ผลเป็นลบ แต่เนื่องจากมีกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นจำนวนมาก ทำให้ รพ.วังวิเศษ ต้องปิดให้บริการผู้ป่วยในเป็นการชั่วคราว ส่วนผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ส่งต่อไปยัง รพ.สิเกา
นอกจากนั้น ผู้ป่วยรายนี้ยังประกอบอาชีพค้าขายและได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชนกับประชาชนในพื้นที่อีกหลายราย ทำให้ไม่สามารถหาต้นตอของโรคได้ จึงต้องเร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชน โดยมีประชาชนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 180 ราย ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะทราบผลตรวจในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค. 2564)
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจังหวัดตรังได้เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุก เพื่อนำกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาทำการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 8,048 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 2564) มีอัตราการตรวจเชื้อพบผลบวกลดลงเหลือร้อยละ 3.45 ซึ่งตามหลักการระบาดวิทยา หากอัตราการตรวจพบเชื้อมีผลบวกต่ำกว่า 5 % แสดงให้เห็นว่าจังหวัดตรังได้ทำการตรวจพบเชื้อมากเพียงพอแล้ว และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกกรณีเกิดการระบาดต่อเนื่อง เพื่อทำการควบคุมโรค
นอกจากนี้ จังหวัดตรังยังมีกลุ่มเป้าหมายอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง รวมทั้งสิ้น 198,000 ราย ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนจองวัคซีน จำนวน 80,624 รายแล้ว สูงเป็นอันดับ 4 ของภาคใต้ รองลงมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ อำเภอที่มีผู้ลงทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อำเภอเมืองตรัง ร้อยละ 66 ของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ รองลงมา คืออำเภอกันตัง ร้อยละ 55.36 อำเภอหาดสำราญ ร้อยละ 49.32 อำเภอหาดสำราญ ร้อยละ 42.61 และอำเภอรัษฎา ร้อยละ 34.05 ซึ่งมีโควตาการฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย. 2564 กว่า 40,000 โด๊ส เดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 28,000 โด๊ส และเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 6,800 โด๊ส