ยักษ์บรอดแบนด์เปิดศึกชิงลูกค้าเวิร์กฟรอมโฮม “เอไอเอสไฟเบอร์” ปล่อยแพ็กเกจราคาต่ำสุด 399 บาทลงตลาด เพิ่มดีกรีเจาะหัวเมืองต่างจังหวัด ฟาก “3BB” เปลี่ยนเกมดึง “คอนเทนต์-บริการเสริม” เพิ่มแม่เหล็กดึงลูกค้า “ทรูออนไลน์” ระดมคอนเทนต์ในเครือเสริมจุดขาย ขณะที่“เอ็นที” กดราคาสนองนโยบายรัฐลดภาระประชาชน
ชัดเจนว่าบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตได้รับอานิสงส์จากกระแสการเรียนและทำงานที่บ้านเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปเต็ม ๆ ทำให้ตลาดยังเป็นขาขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้การแข่งขันลดความร้อนแรงลงแม้แต่น้อย
AIS จัดแพ็กแก้กำลังซื้อแผ่ว
นายกิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มูลค่าตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในไทยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 15,500 ล้านบาท โตขึ้น 14.7% จากปีก่อน จากการแพร่ระบาดโควิด-19
ทำให้ผู้บริโภคปรับมาทำงานและเรียนที่บ้านส่งผลให้ครัวเรือนกว่า 53% จาก 21 ล้านครัวเรือนเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ และคาดว่าปีนี้ตลาดรวมจะยังเติบโต แต่ลดลงมาอยู่ที่ 9% เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และประเมินว่าไตรมาส 2 จะโตกว่าไตรมาส 1 เพียง 2%
“ผลจากโควิดทั้ง 3 ระลอก กระตุ้นให้ผู้ใช้บริการใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเฉลี่ยไตรมาสละ 3 แสนราย สูงกว่าในช่วงสถานการณ์ปกติที่ยอดผู้ใช้ใหม่จะเพิ่มขึ้นราว 2 แสนราย ขณะที่ปริมาณการใช้งานก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อคน โดยมีการใช้งานสูงขึ้นในทุกช่วงเวลา
จากเดิมที่จุดพีกจะอยู่ในช่วง 18.00-21.00 น.ของทุกวัน ทั้งจำนวนดีไวซ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของแต่ละบ้านทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต และอุปกรณ์ IOTs ยังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิมที่มี 6 เครื่องต่อบ้าน”
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคามากขึ้น เอไอเอสไฟเบอร์จึงออกแพ็กเกจที่มีราคาย่อมเยาให้สอดรับกับความต้องการ
และกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ราคาเริ่มต้น 399 บาทต่อเดือน เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการความเร็วไม่สูงมากอยู่ที่ 200 Mbps
“ปีนี้เราตั้งเป้าว่าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนราย โดยจะเร่งขยายฐานไปยังหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เพื่อเจาะตลาดผ่านอีโคซิสเต็มที่มีทั้งช่องทางการจำหน่ายมือถือทั่วประเทศ การขายตรงผ่านตัวแทนจำหน่าย และการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์”
นายกิตติกล่าวว่า เอไอเอสเป็นน้องใหม่ในธุรกิจบรอดแบนด์ แต่มีจุดแข็งที่เน็ตเวิร์กและบริการหลังการขาย ทำให้สามารถแข่งขันกับรุ่นพี่ในตลาดได้
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ถือว่าเติบโตได้ดี มีฐานผู้ใช้รวม 1.43 ล้านราย เพิ่มขึ้น 9.5 หมื่นราย หรือ 7% จากไตรมาส 4/2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,919 ล้านบาท
3BB พลิกเกมเลี่ยงศึกราคา
ด้านนายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า
ในปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 50.1 ล้านราย เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน 11.6 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 53% ของครัวเรือนทั่วประเทศ และคาดว่าปีนี้จะยังโตได้อีก 10% จากปีก่อน เพราะคนยังทำงานที่บ้าน
ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาและความเร็วอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
ขณะที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายแข่งกันนำเสนอราคาและความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ต่ำลง ทำให้รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อผู้ใช้บริการ (Average Revenue Per User : ARPU) ลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการว่าจะเพิ่มรายได้จากการให้บริการอย่างไร
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับโพซิชันนิ่งจาก Telecom Provider เป็น Telecom & Media ภายใต้แนวคิด “3BB is your digital companion” หรือการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีที่สุด
และให้บริการคอนเทนต์ระดับพรีเมี่ยม พร้อมกับเปิดตัวกล่องอินเทอร์เน็ตทีวี “3BB GIGATV” เมื่อเดือน พ.ย. เพื่อให้ลูกค้ารับชมคอนเทนต์ทั้งกีฬา ซีรีส์เอเชีย ภาพยนตร์รวมถึง 80 ช่อง
และปีนี้จะเร่งกระตุ้นให้ลูกค้าที่ใช้แพ็กเกจ 700 บาทขึ้นไปต่อเดือน เปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจ “3BB GIGATV” ให้ได้ราว 800,000-1 ล้านราย จากฐานลูกค้ารวม ณ ไตรมาส 1/2564 ที่ 3.49 ล้านรายและเริ่มมีรายได้จากบริการเสริมต่าง ๆ โดยตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้ได้ 10% ภายในสิ้นปีนี้
ทรูงัดสารพัดกลยุทธ์เพิ่มฐาน
นายธนภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ ทรูออนไลน์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปี 2564 ยังคงมีการแข่งขันอย่างต่อเนื่องใน 2 ปัจจัยหลัก คือ ความเร็วอินเทอร์เน็ต และราคา
ซึ่งเป็นผลดีกับผู้บริโภค แต่ในมุมของผู้ให้บริการต้องรับภาระด้านต้นทุนจากการแข่งขัน เพราะปัจจุบันความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยแซงหน้าสิงคโปร์ไปแล้ว แต่อัตราค่าบริการต่ำสุดเริ่มต้นที่ 599 บาทต่อเดือน สูงกว่าสิงคโปร์ที่ราคาเริ่มต้นที่ 640-700 บาท
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของทรูปีนี้ยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นำอินเทอร์เน็ตบ้าน ภายใต้แนวคิด “Innovation & Fulfill Lifestyle” ด้วยแพ็กเกจ True Gigatex Smart สปีดอินเทอร์เน็ต 1 Gbps/200 Mbps ในราคาโปรโมชั่น 499 บาท
จากปกติ 699 บาทต่อเดือน พร้อมกล่องทรูไอดีรับชมพรีเมี่ยมคอนเทนต์ได้ ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ใช้จำนวนมาก ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2564 ทรูออนไลน์มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 4.3 ล้านราย
นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนหลายร้อยล้านบาทซื้อคอนเทนต์ต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเพื่อยกระดับประสบการณ์ใหม่ให้ฐานลูกค้าเดิมและดึงดูดลูกค้าใหม่ รวมถึงนำเสนออุปกรณ์ IOT และนวัตกรรมใหม่ ๆ และร่วมกับ Google นำลำโพงอัจฉริยะ Google Nest Mini เวอร์ชั่นภาษาไทยมาให้บริการด้วย
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตบ้านเพิ่มขึ้นโดยปีที่ผ่านมาทรูออนไลน์มียอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นกว่า 10% แต่การระบาดระลอก 3 ไม่ได้ทำให้จำนวนการติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะผู้ใช้ติดตั้งไปแล้วตั้งแต่การระบาดรอบแรก แต่ยอดการใช้งานยังสูงขึ้น”
ด้านผู้เล่นหลักในตลาดอีกรายคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ “เอ็นที” หากพิจารณาจากฐานลูกค้าโดยรวมที่มีอยู่ร่วม 2 ล้านราย หลังการควบรวมทีโอทีและแคทเข้าด้วยกัน
โดยล่าสุดเพิ่งมีโปรโมชั่นใหม่“Work & Learn @Home” ที่ให้ความเร็วอินเทอร์เน็ต 150 Mbps/150 Mbps ค่าบริการเพียง 300 บาทต่อเดือน พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพื่อลดภาระผู้ใช้บริการตอบรับมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมของภาครัฐ