บล.เอเชีย พลัส ชี้ SET Index ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ฟันด์โฟลว์ไหลออกตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 คาดจีดีพีไทยปีนี้ส่อติดลบ ประเมินโควิดเดลต้าทุบกำไรบจ.ทั้งปีสูญ 6-7 หมื่นล้านบาท ฉุดดัชนีเป้าหมายมีโอกาศลดลงถึง 140 จุด แนะกระชับพอร์ต ถือเงินสดราว 20-30%
วันที่ 3 สิงหาคม 2564 บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยบทวิเคราะห์การลงทุนประจำเดือนสิงหาคมนี้ เริ่มต้นที่หุ้นไทยกับความกังวลจากการแพร่ระบาด COVID-19 ที่เร่งตัวขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดผลลบ (Downside) ทั้งประมาณการ GDP Growth และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ แนะนำลดน้ำหนักหุ้นไทยลง 5% เหลือ 25% (Underweight) ขณะที่กลยุทธ์เน้นหุ้นงบไตรมาส 2/64 เติบโตดี พร้อมกับมีปันผลสูง หรือได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ค่อนข้างจำกัด
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยเอเซียพลัส คาดว่าในระยะถัดไป เดือน ส.ค. – ก.ย. ภาครัฐน่าจะพิจารณามาตรการกระตุ้นชุดใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นพยุงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้น
ในด้านการลงทุนต่างประเทศ แม้สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกกลับมาสร้างความกังวลหลังสายพันธ์ Delta ระบาดในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ประเทศพัฒนาแล้วมีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรที่สูง จึงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรต่ำกว่า ฝ่ายวิจัยฯ คงน้ำหนักหุ้นต่างประเทศไว้ที่ 35% ของพอร์ตการลงทุน (Overweight) กลยุทธ์เน้นหุ้นพื้นฐานดีในแถบประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง Facebook Inc (FB US) และ United Health (UNH US)
สำหรับตราสารหนี้ นักลงทุนยังอยู่ในช่วงถือเพื่อรอดูการมุมมองการปรับ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จึงแนะนำยังคงน้ำหนักตราสารหนี้ไว้ 15% ของพอร์ตรวม (Underweight) เน้นตราสารหนี้ที่ มี Rating ระดับ Investment Grade ขึ้นไป Top picks คือ WHAUP267A
โดยกลยุทธ์การลงทุนในเดือน ส.ค. น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างเกิดขึ้น ให้นักลงทุนต้องคอยระวังอยู่เสมอ เริ่มจาก 1) อาจเห็นการส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ Fed จากการประชุมช่วงกลางเดือน หรือการประชุมแจ็คสันโฮล (Jackson Hole) ช่วงปลายเดือนกดดันให้นักลงทุนน่าจะอยู่ในสภาวะ Wait and See เพื่อรอการส่งสัญญาณของ Fed ที่ชัดเจนขึ้น
2) บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นฝั่งเอเซียยังผันผวนจากความไม่แน่นอน ถ้าทางการจีนยังเพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลธุรกิจ
3) โควิดสายพันธเดลต้าแพร่ระบาดหนักในไทย โดยช่วงปลายเดือน ก.ค. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 1.7 หมื่นราย/วัน และถ้าเทียบต่อสัดส่วนประชากร ยังสูงสุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้าง Downside ทางเศรษฐกิจทั้งในมุมมองสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจในไทยที่เคยคาดว่า GDP ไทยปี 2564 จะขยายตัวเฉลี่ยราว 2% เริ่มทยอยปรับลดประมาณการลงมาเหลือเฉลี่ยราว 1% (ฝ่ายวิจัยประเมิน GDP ปี 64 มีโอกาสติดลบ)
รวมถึงมุมมองต่างชาติอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ก็ปรับลด GDP ปี 64 ของไทยลงเช่นกัน ล่าสุดเหลือ 2.1% โดยทั้ง 3 ปัจจัยที่มากระจุกตัวรวมกันในเดือนส.ค. ล้วนกดดันการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ยังมีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หรือขายสุทธิทุกเดือนในปีนี้
ทั้งนี้ในเดือน ส.ค. ยังเป็นฤดูกาลรายงานงบไตรมาส 2/64 เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินจากข้อมูลการทำประมาณการกำไร 48 บริษัท พบว่า กำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้นถึง 67% เทียบไตรมาสเดียวปีก่อน (yoy) แต่ลดลง -5% เทียบไตรมาสก่อนหน้า (qoq) แสดงว่า มีโอกาสที่ผลประกอบการยังดี แต่น่าจะผ่านจุดสูงสุดในงวดไตรมาส 1/64 ไปแล้ว
แม้ส่วนใหญ่บริษัททำผลประกอบการงวดไตรมาส 2/64 ดีเเละเติบโต เทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน (yoy) แต่นักลงทุนจะต้องระวังกับดักงบไตรมาส 2/64 เนื่องจากช่วงเดือน ส.ค. น่าจะมีการทยอยปรับลดประมาณการลงหลายบริษัท จากความเสี่ยง Covid-19 กลับมาระบาดแรงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ กลุ่มท่องเที่ยว, ขนส่ง, รับเหมาฯ, บันเทิง และศูนย์การค้า
ที่สำคัญคือ มุมมองของ Bloomberg Consensus ยังแทบไม่มีการใส่ผลกระทบ Covid-19 ระลอกใหม่เข้าไปเลย ล่าสุดมี EPS ปี 64 ทรงตัวอยู่ระดับสูง 83.5 บาท/หุ้น (สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 71.2 บาท/หุ้น มาก)
โดยเบื้องต้นฝ่ายวิจัยลองประเมินผลกระทบ Covid-19 ระลอกใหม่ว่าสร้าง Downside ต่อดัชนีราวกี่จุด โดยการกำหนดให้กำไรช่วงครึ่งปีหลัง 64 เท่ากับกำไรงวดไตรมาส 2/63 + 3/63 พบว่า ประมาณการกำไรทั้งปีมี Downside ราว 6-7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น EPS ปี 64 ลดลงราว 6 บาท/หุ้น หรือส่งผลให้ดัชนีเป้าหมายมีโอกาสลดลงได้ถึง 140 จุด
ภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ ในเดือน ส.ค. จะกดดันให้การลงทุนจำเป็นต้องกระชับพอร์ต แนะนำถือเงินสดราว 20-30% ส่วนกลยุทธ์การลงทุนแนะนำเลือกหุ้นงบไตรมาส 2/64 เติบโตดี พร้อมกับมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลสูง (MCS, TVO, SAPPE, SAT) หรือได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ค่อนข้างจำกัด (GPSC, JMART, DOHOME)