วันอังคาร ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
รัฐบาลปลื้มเปิดประเทศ7วัน
แห่เข้าไทย2.2หมื่น
นักท่องเที่ยวติดเชื้อแค่20คน
ยอดฉีดวัคซีนทะลุ80ล.โดส
อยู่ในอันดับ18จากทั่วทั้งโลก
ภาพรวมโควิดระบาดลดลง
ป่วยรายวัน7,592-ตาย39ศพ
ยอดติดเชื้อโควิดไทยรายวันลดต่ำกว่า 8 พันเหลือ 7,592 ดับ 39 ศพ อยู่ในจ.ยะลามากสุด 5 ศพ ศบค.ชี้ภาพรวมลดลงทั้งประเทศ ฟุ้งทิศทางดีขึ้นแม้เปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการ ฉีดวัคซีนทะลุ 80 ล้านโดสห่วงคลัสเตอร์ใหม่ยังอื้อ ทั้งงานกฐิน 7 จว.-งานศพ –ก่อสร้าง – ตลาด เผย 7 วันนักท่องเที่ยวแห่เข้าไทยแล้ว 2.2 หมื่นคน เจอป่วยแค่ 20 ราย คิดเป็น 0.09% แนะโรงเรียนตรวจ ATK เฉพาะกลุ่มเสี่ยง นายกฯพอใจไทยฉีดวัคซีนแล้ว 80 ล้านโดส ติดอันดับ 18 จาก 184 ปท.ทั่วโลก สั่งสธ. เร่งเจรจาสั่งซื้อยารักษาโควิด ‘แพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์’ ปลื้มคุมระบาดได้สัญญาณดี
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า ทิศทางการพบเชื้อและการเสียชีวิตลดลง ทั้งที่มีมาตรการผ่อนคลาย
ไทยติดเชื้อใหม่7,592หายป่วย7.4พันคน
โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่ 7,592 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,871 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,743 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 128 ราย มาจากเรือนจำ 711 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,975,591 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,495 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,857,463 ราย อยู่ระหว่างรักษา 98,425 ราย อาการหนัก 1,997 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 441 ราย
ตายเพิ่ม39ยะลามากที่สุด5คน
ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 15 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 28 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.ยะลา 5 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,703 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 278,059 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 80,499,612 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 250,610,260 ราย เสียชีวิตสะสม 5,064,584 ราย
6จว.ใต้ยังติด10อันดับติดเชื้อสูงสุด
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 8 พฤศจิกายน ได้แก่ กทม. 865 ราย สงขลา 462 ราย เชียงใหม่ 429 ราย ปัตตานี 406 ราย นครศรีธรรมราช 372 ราย นราธิวาส 295 ราย ยะลา 266 ราย สมุทรปราการ 219 ราย ชลบุรี 179 ราย สุราษฎร์ธานี 179 ราย
คลัสเตอร์กฐิน-งานศพ-ก่อสร้างโผล่อื้อ
อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ที่ต้องระวัง คือ คลัสเตอร์ทอดกฐินที่พบในหลายจังหวัด ประกอบด้วย ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สิงห์บุรี กาญจนบุรี คลัสเตอร์งานศพพบที่กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี พัทลุง สงขลา คลัสเตอร์แคมป์คนก่อสร้างพบที่ กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น นครนายก จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา คลัสเตอร์สถานประกอบการ พบที่ขอนแก่น สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พัทลุง คลัสเตอร์ตลาดพบที่เชียงใหม่ สุรินทร์ อุดรธานี พิษณุโลก จันทบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สงขลา แม้ช่วงนี้จะมีมาตรการผ่อนคลายแต่ขอให้ประชาชนระวังตัวตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากดูคาดการณ์ติดเชื้อหลังประเทศในฉากทัศน์สีเขียวกรณีประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี พบว่าปัจจุบันตัวเลขต่ำกว่าฉากทัศน์ดังกล่าว แต่ยังขอให้ประชาชนเข้มงวดมาตรการเช่นเดิม เพราะหากปล่อยปละละเลยจะทำให้ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นไปเป็นจำนวนหลายหมื่นเหมือนก่อนหน้านี้ได้
7วันเข้าปท.2.2หมื่นเยอรมนีอันดับ1
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับมาตรการเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-7 พฤศจิกายน มีผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งสิ้น 22,832 ราย พบผู้ติดเชื้อ 20 ราย คิดเป็น 0.09% ประเทศที่เข้ามามากสุดผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่ เยอรมนี 2,666 ราย รองลงมาสหรัฐอเมริกา 2,665 ราย สหราชอาณาจักร 14,75 ญี่ปุ่น 1,449 ราย เกาหลีใต้ 987 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามตัวเลขดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมขอเน้นย้ำกับประชาชนว่าผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัว ได้รับอนุญาตเข้ามาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงทางสาธารณสุข เป็นการเปิดประเทศในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ แต่ขอให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการ เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
ย้ำรร.ยึดมาตรการ6-6-7/สมอลบับเบิ้ล
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพบผลตรวจ ATKเป็นผลบวกลวง ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร ศบค.มีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การเปิดเรียนเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองเป็นห่วงกังวล บางรายยังไม่มั่นใจที่จะให้บุตรหลานไปโรงเรียนเพื่อเรียนออนไซต์ ประกาศของศบค.ระบุว่าการจะเปิด เปิดแค่ไหน เปิดอย่างไร ต้องตรวจ ATK ตรวจบ่อยแค่ไหนวิธีใด ขอให้เป็นไปตามความเห็นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งลงรายละเอียดได้ แตกต่างกันแต่ละอำเภอแต่ละพื้นที่ ความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเฝ้าระวังความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เน้นให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียนประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการรอง และ 7 มาตรการเข้ม และสิ่งที่ย้ำเสมอคือ ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องฉีดวัคซีนครอบคลุม และที่สำคัญในด้านการจัดการสถานที่ โรงเรียนต้องประเมินความพร้อมของตนเอง ของสถานศึกษาด้วยคำถาม TSC และการจัดการเรียนการสอนย้ำให้เป็นรูปแบบ สมอลบับเบิ้ล หมายความว่าไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมรวมกลุ่ม ที่อาจมีนักเรียนหลายชั้นมารวมกันในห้องประชุมใหญ่ ขอให้งดไปก่อน
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สมอลบับเบิ้ล หมายถึงการจำกัดให้นักเรียน หรือครู หรือบุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องเข้ามาดูแลนักเรียนแยกกลุ่มได้ เช่น ครูอาจสอนบางชั้นบางปี ไม่ใช่ครูคนหนึ่งสอนทุกชั้นทุกปี และยังมีรายละเอียดเรื่องจัดระบบให้บริการอาหาร เพราะในชีวิตวิถีใหม่เราต้องแยกให้เป็นลักษณะที่ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ลดติดเชื้อ ลดรวมกลุ่ม รวมถึงอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องจัดการน้ำ ขยะ การระบายอากาศ ทำความสะอาด แต่ละโรงเรียนให้ทบทวนแผนเผชิญเหตุ กรณีมีรายงานนักเรียนติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องปิดทันที กรณีทำมาตรการสมอลบับเบิ้ลแล้ว อาจสอบสวนไทม์ไลน์ได้ว่านักเรียนคนดังกล่าวสัมผัสใครบ้าง และสืบค้นตรวจโรคไปได้ว่า ใครเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ
ค่าชุดตรวจATKใช้หักภาษีได้1.5เท่า
อย่างไรก็ตาม บางโรงเรียนที่กำหนดให้ตรวจ ATK ขณะนี้กรมควบคุมโรคเน้นว่า ขอให้ตรวจในกลุ่มเสี่ยงสูง หากนักเรียนมีคนในครอบครัวติดเชื้อ เป็นผู้สัมผัสเสียงสูงขอให้ตรวจ ATK โรงเรียนอาจประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองกักตัวนักเรียนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีไข้หรือมีระบบทางเดินหายใจผิดปกติ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ ดังนั้น การที่โรงเรียนขอให้ตรวจ ATK 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทั้งนักเรียนหรือผู้ปกครอง ถือได้ว่าทำมากกว่ามาตรฐานที่กำหนด เป็นสิ่งที่ดี แต่ขอให้แต่ละโรงเรียนพิจารณาความพร้อมผู้ปกครองด้วย และในส่วนค่าใช้จ่ายการตรวจ ATK นั้น ภาครัฐสามารถให้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้ 1.5 เท่า สิ่งสำคัญคือ การเปิดเรียน เช่นกันกับการเปิดประเทศ หรือการผ่อนคลายกิจการกิจกรรม เราจำเป็นต้องทำในสถานการณ์ระบาดที่ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ตัวเลขจะลดลง แต่ความเสี่ยงยังมีอยู่ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกคนยังคงมาตรการ DMHTT เข้มงวด
ลั่นฉีดวัคซีนครบร้อยล้านโดสพย.นี้
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.)ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชติดตามสถานการณ์ระบาดโควิด -19 รวมถึงติดตามการฉีดวัคซีนที่โรงละคร อบจ.นครศรีธรรมราย (สนามหน้าเมือง) เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ประชาชน เดินทางไปรพ.สนาม และศูนย์พักคอย หอประชุมเมือง ทุ่งท่าลาด ติดตามการรักษาผู้ป่วยโควิด พร้อมเผยว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ติดตามเสมอคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ วางเป้าว่าต้องได้รับ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ และสธ.คิดว่าจะบรรลุเป้าในเดือนพฤศจิกายนนี้ เร็วกว่ากำหนดเดิม 30 วัน ขณะที่เรื่องยารักษาโรค มั่นใจประสิทธิภาพของยาที่มีอยู่ในสต็อก อาทิ ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ปัจจุบันผลิตได้เองแล้ว ส่วนในอนาคตพร้อมนำเข้ายาทีดี มีคุณภาพ ไว้เป็นทางเลือกเพื่อรักษาชีวิตประชาชน
เร่งดำเนินการให้คนไทยได้ฉลองปีใหม่
นายอนุทินยังกล่าวต่อว่า ได้รณรงค์ให้คนเข้ามารับบริการวัคซีน และกำชับฝ่ายบริหารเร่งฉีดเข็มที่ 3 กับประชาชนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ขณะที่แรงงานต่างด้าวก็ต้องฉีดให้ด้วยเช่นกัน ส่วนการรักษาพยาบาล ยังต้องให้ความสำคัญกับ มาตรการโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) กับ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลไว้ใช้รักษาผู้ป่วยอาการปานกลาง ลดความสูญเสีย เป็นมาตรการร่วมกับการฉีดวัคซีนที่ใช้ได้ผล ปัจจุบัน อัตราการสูญเสียของไทยต่ำลงเรื่อยๆ หวังว่าปีใหม่นี้ คนไทยจะได้ฉลองปีใหม่ บนพื้นฐานของความปลอดภัย เรากำลังดำเนินการเพื่อให้คนไทยได้กลับมาทำมาหากิน ให้ใกล้เคียงกับยุคก่อนมีโควิด-19
นายกฯปลื้มคุมระบาดโควิดสัญญาณดี
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจการควบคุมการระบาดในไทย ซึ่งมีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอยู่ในหลักพัน และยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่าร้อยติดต่อกันหลายสัปดาห์ และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จำนวนผู้รักษาหายป่วยกลับบ้านมากกว่ายอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน แสดงถึงศักยภาพของสาธารณสุขและบุคลากรแพทย์ รวมถึงการปรับมาตรการควบคุมโรคที่ได้ผลและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในปฏิบัติตามมาตรการ
ไทยฉีดวัคซีนมากอันดับ18โลก
ล่าสุด ข้อมูลจากเว็บไซต์บลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนระบุความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิดใน 184 ประเทศทั่วโลกว่า ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 7,200 ล้านโดส ไทยจัดอยู่อันดับที่ 18 ของโลก และอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน โดยประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากที่สุดได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนสะสมของไทยกว่า 80 ล้านโดสแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564) แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 43,978,814 โดส เข็มที่ 2 สะสม 33,950,925 โดส เข็มที่ 3 สะสม 2,551,969 โดส และเข็มที่ 4 สะสม 2,719 โดส รวม 80,484,427 โดส คิดเป็น 65.44% ของประชากรไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ ด้วยอัตราการฉีดต่อวันประมาณ 6-8 แสนโดสต่อวัน ทำให้บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าหากไทยฉีดด้วยความเร็วระดับนี้ต่อไปจะฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสให้ครอบคลุมประชากร 75% ได้ภายใน 1 เดือน สอดคล้องนโยบายเปิดประเทศแบบปลอดภัย (Smart Entry)
สั่งสธ.ซื้อยารักษาโควิด2ตัว
นายธนกรกล่าวต่อว่า นอกจากรัฐบาลจะจัดหาและกระจายวัคซีนให้คนทุกกลุ่มในไทย เป็นไปตามแผนจัดหาวัคซีนของสธ. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดติดเชื้อรุนแรงและป่วยหนักและลดอัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้สธ.เร่งรัดติดตามเจรจา เพื่อสั่งซื้อยารักษาโควิด-19 ทั้ง “แพกซ์โลวิด (Paxlovid)” ของบริษัทไฟเซอร์ และ “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์ค ที่ช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยเสี่ยงสูงให้เร็วที่สุด เพื่อให้ไทยได้รับยารักษาโควิด-19 ที่พัฒนาเป็นคิวแรกๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตทำมาหากินได้อย่างปกติสุขโดยเร็วแบบ New Normal และร่วมเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจต่อไป
เปิดปท.7วันรบ.พอใจปชช.เชื่อมั่น
นายธนกรยังเปิดเผยสถานการณ์หลังเปิดประเทศแล้ว 7 วัน รัฐบาลประเมินว่าสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้ตรวจพบเชื้อโควิดเพียง 15 คน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ นอกจากนี้ ประชาชนและนักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อการเปิดประเทศและแนวทางอื่นของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ ที่มีเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)คาดว่าช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 300,000 คน ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศและกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีมากขึ้นและราคาสินค้าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างเหมาะสม
งานวิจัยพบหมา-แมวติดเชื้อจากเจ้าของได้
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการติดเชื้อโควิด-19 ของสุนัขและแมวในไทยว่า ล่าสุดมีงานวิจัยจากทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รายงานในวารสารวิชาการ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตรวจพบสุนัข 3 ตัวจากการตรวจ 35 ตัว และแมว 1 ตัวจากการตรวจ 9 ตัว ติดเชื้อโควิด โดยทั้งหมดที่ตรวจนั้น เป็นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนที่มีเจ้าของติดเชื้อโควิด สุนัข 1 ตัวมีอาการเล็กน้อย ส่วนตัวอื่นๆ ที่ติดเชื้อนั้นไม่มีอาการ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้เราตระหนักว่า คนติดเชื้อสามารถถ่ายทอดไปยังสัตว์เลี้ยงได้ ถ้าไม่สบายควรแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงไปคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงในบ้าน การไม่ไปคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเวลาเราไม่สบาย นอกจากจะช่วยป้องกันสัตว์ไม่ให้ติดเชื้อ และไม่เป็นตัวนำพาเชื้อโรคไปยังคนอื่นในบ้านที่จะเข้ามาสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงได้ด้วย