คลัสเตอร์ใหม่! นร.-ผู้ปกครอง-คนขับรถตู้รับส่ง รร.อนุบาลอุตรดิตถ์แห่งที่ 1 ติดโควิด 19 ราย สสจ.อุตรดิตถ์ สั่งกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง 438 ราย พร้อมปิดเรียน 14 วัน
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ แห่งที่ 1 จ.อุตรดิตถ์ เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มณฑลทหารบก ที่ 35 จ.อุตรดิตถ์ พ.อ.สมัย ขำพันธ์ ผอ.โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก นำทีมแพทย์ พยาบาล ออกปฏิบัติการคัดกรองตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก ด้วยรถชีวนิรภัยกองทัพบก ให้กับคณะครู และนักเรียนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 447 ราย พร้อมคัดกรองสัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อขอความร่วมมือกักตัว หลังพบนักเรียนและผู้ปกครองของโรงเรียนดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนแล้ว จำนวน 19 คน แยกเป็นนักเรียน 15 ราย ผู้ปกครอง 4 ราย ซึ่งไม่รวมนักเรียนที่ติดเชื้อ 1 รายที่โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นคนละคสัสเตอร์กัน
นายมงคล รุณธาตุ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุตรดิตถ์ เขต 1 ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบ การดำเนินงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของโรงเรียนดังกล่าว โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สิงห์ทอง ผอ.โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ พร้อมคณะครู ให้ข้อมูลตั้งแต่การการผ่านเครื่องเทอโมสแกน มูลค่าราว 5 แสนบาทของนักเรียนทุกคนที่บริเวณประตูทางเข้า การตั้งจุดเจลแอลกอฮอล์ก่อนขึ้นอาคารเรียน และ ลักษณะของอาคารเรียนสองภาษา ซึ่งเป็นจุดพบนักเรียน ชั้น ป.2 ป.3 และ ป.5 ติดเชื้อจำนวน 15 รายติดเชื้อโควิด-19 โดยทางโรงเรียน ได้ประสานกองสาธารณสุขเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ เข้าฉัดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และระดมเจ้าหน้าที่ล้างทำความสะอาดทุกพื้นที่ของโรงเรียน ประกาศหยุดเรียนกรณีพิเศษ 3 วัน โดยจะเปิดในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้
นายศุภมิตร ปาณธูป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุตรดิตถ์ กล่าวว่า หลังพบเด็กนักเรียน ป.3 โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ แห่งที่ 1 ติดเชื้อโควิด-19 ทีมสอบสวนโรคจาก สสจ.อุตรดิตถ์และโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่ทันทีติดตามกลุ่มนักเรียนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในห้องเรียนเดียวกันพบติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย และ ชั้น ป.2 จำนวน 7 คน ,ชั้น ป.5 จำนวน 1 คน ผู้ปกครองรวมทั้งคนขับรถตู้รับ-ส่งนักเรียน อีก 4 ราย รวมติดเชื้อคลัสเตอร์โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์แห่งที่ 1 จำนวน 19 ราย มาจากหลายสาเหตุแต่จุดที่พบเชื้อ อยู่ในอาคารและสภาพแวดล้อมเดียวกัน คือเป็นอาคารเรียนสองภาษา
นายศุภมิตร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ยอมรับว่า อาคารเรียนของคลัสเตอร์นี้ ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นการนั่งเรียนใกล้ๆ กัน จากสภาพห้องเรียนระยะห่างของโต๊ะและเก้าอี้ แต่ละคนไม่ถึง 1 เมตร ถือว่าคับแคบ และไม่ได้แบ่งชั้นเรียน หรือ สลับมาเรียน แต่เป็นการมาเรียนเต็มรูปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ จุดที่เป็นข้อสังเกตอีกอย่างคือ อาคารเรียนจุดพบผู้ติดเชื้อ มีจุดที่สัมผัสร่วมของนักเรียน คือ ราวบันได ด้วยบันได้มีความชัน ดังนั้นเด็กๆขึ้น-ลง ต้องเกาะราวทุกคน ประตูห้องเรียนเป็นแบบกระจกบานเลื่อน เข้า-ออกห้องเรียนเด็กๆ ต้องจับที่จับประตูเพื่อเปิด-ปิด ตู้ทำน้ำเย็น ดังนั้นต้องมีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง และต้องให้เด็กล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ การแปรงฟันหลังอาหาร ควรจัดเว้นระยะห่างหรือแบ่งกลุ่ม ลดจำนวนนักเรียน หรือแบ่งช่วงระยะเวลาเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นจนเกินไป
“เมื่อเปิดเรียน แต่ละโรงเรียนต้องปฏิบัติตามการประเมิน 44 ข้อ กรมอนามัยอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ทำแค่ผ่านประเมินเพื่อได้เปิดเรียนเท่านั้น เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกันนี้ยังต้องประเมิน TST ประจำตามแผนเผชิญเหตุ เช่นต้องประเมินอาการเสี่ยง เช่น อาการไข้ เจ็บคอ ลิ้นไม่รส ท้องเสีย ผื่นขึ้น ประเมินสถานที่เสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงเป็นประจำ รวมถึงเมื่อพบเด็กที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการไข้หวัดต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวังติดตามควบคุมโรคได้ทันทวงที ที่สำคัญคือ ผู้ปกครองควรตระหนัก อย่าเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ให้ลูกหลาน จากคลัสเตอร์โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ แห่งที่ 1 พบกลุ่มเสี่ยงสูงต้องกักตัว 14 วันมากถึง 438 ราย ขณะเดียวกันโรงเรียนได้ประกาศหยุดเรียนกรณีพิเศษ 3 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด กำลังพิจารณาอาจขอขยายเป็น 14 วัน เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนและกลุ่มเสี่ยงสูงมีจำนวนมาก ประกอบกับเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนรวมบุคลากรมากกว่า 2,700 คน” รอง สสจ.อุตรดิตถ์ กล่าว
นายศุภมิตร กล่าวอีกว่า ภาพโดยรวมตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา พบนักเรียนนักศึกษาติดเชื้อแล้ว 45 ราย กระจาย 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ลับแล อ.น้ำปาด อ.ท่าปลา และ อ.บ้านโคก โดย 27 รายติดเชื้อแล้วมาเรียนในโรงเรียน เป็นคลัสเตอร์โรงเรียนแล้ว 2 แห่ง คือ โรงเรียนชุมชนไผ่ล้อมวิทยา อ.ลับแล และ โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ แห่งที่ 1 ทั้งนี้การคัดกรองด้วยเครื่องเทอโมสแกน ที่ใช้ตามจุดเข้าออกสถานที่ต่างๆ นั้น ใช้เพื่อสแกนอุณหภูมิร่างกายเป็นการคัดกรองได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าเด็กไม่มีไข้ ก็ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า เป็นป่วย ซึ่งการติดเชื้อในระยะหลังผู้ติดเชื้อมักไม่มีไข้ แต่การคัดกรองที่สำคัญคือ การประเมินอาการเสี่ยงของนักเรียนทุกวันโดยการซักถามก่อนเข้าห้องเรียนหรือโรงเรียน และติดตามเมื่อนักเรียนหยุดเรียน เน้นมาตรการป้องกัน 44 ข้ออย่างสม่ำเสมอ
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่