เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
นราธิวาส – เลขาธิการ ศอ.บต.ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เกาะติดสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา โดยห่วงในเกษตรกรผู้ปลูกยางในพื้นที่ หลังจากได้รับผลกระทบกับโรคใบร่วงในยางพารา
วันนี้ (5 ม.ค.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราบ้านป่าไผ่ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อประชุมทำความเข้าใจกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราในพื้นที่ ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปสำรวจแปลงเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่กำลังเกิดโรคระบาดชุมชน
จากนั้นเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมคณะลงพื้นที่ไปยังหมู่ 8 บ้านโคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อสำรวจแปลงเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของพี่น้องประชาชน โดยไปสำรวจต้นยางพารา รวมถึงกระบวนการทำงานของเครื่องวัดความชื้นในดิน และอุณหภูมิในอากาศ ที่เกษตรกรได้มาติดตั้งเพื่อทำการหาความสมดุลที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ยแก่ต้นยาง ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะแก่การช่วยบำรุงต้นยางให้เหมาะสม และสามารถรู้ถึงวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของต้นยางพาราได้อีกด้วย
ต่อมา เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมคณะเดินทางไปยังการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมประชุมหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่ ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งการหารือมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางกรอบแนวทาง และแผนงาน/โครงการในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ด้านมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด การฟื้นฟูต้นยางพารา รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงปัญหาของโรคเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี
ในการนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า สำหรับช่วงที่ผ่านมา ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพารา ทั้งนี้ ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยยาง เพื่อศึกษาวิจัยหาเชื้อสาเหตุ รวมถึงวิธีการป้องกันในอนาคต ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดใบร่วงยางพารา จังหวัดนราธิวาส ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการวิจัยหาเชื้อสาเหตุ และการป้องกันกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทำให้เกษตรกรเจอปัญหา คือ การกรีดยางแล้วน้ำยางไม่ค่อยออก ถ้ากรีดยางถี่ๆ ยางจะยืนต้นตายในที่สุด
ดังนั้น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทุกส่วนราชการมีความกังวลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ร่วมบูรณาการเร่งให้เกิดรูปธรรมให้มากที่สุด นอกจากนี้ จะต้องเร่งสร้างความแรงให้ต้นยางพารา เพื่อให้ลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการแพร่กระจายของโรค โดยการฉีด Trichoderma ในใบที่หล่นใต้โคนต้นยาง พร้อมทั้งปรับสภาพพื้นที่ให้มีแสงแดดส่องได้ทั่วถึง ตลอดจนใช้เชื้อจุลินทรีย์ หรือชีวภัณฑ์ฉีดให้ครบทุกๆ 3 เดือน พร้อมปรับลดความชื้นในดิน
ด้านนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา ที่พบการระบาดใน 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่มีพื้นที่การระบาดมากที่สุด 4 อันดับแรก เป็นเขตภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นราธิวาส ยะลา สงขลา และปัตตานี ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดนราธิวาส ณ 4 มกราคม 2565) พบการระบาด และสร้างความเสียหายมากที่สุดใน จ.นราธิวาส เนื้อที่เสียหายรวม 753,698.20 ไร่ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดำเนินการแก้ไข พร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางอย่างเร่งด่วน