1 ปีที่ประเทศไทยอยู่กับไวรัสโควิด-19 กระทั่งปลายปี 2563 เกิดการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วประเทศ ขณะที่ ประเด็นที่ทุกฝ่ายกำลังจับตาก็คือ แผนการจัดหาวัคซีน
ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์
โรคระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ทำให้โลกรู้จักไวรัสโควิด-19 สองสายพันธุ์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากจีน คือ สายพันธุ์เอส S (Serine) และ สายพันธุ์ L (Leucine)
ไวรัสไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่วิวัฒนาการตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อขยายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด ในช่วงแรก สายพันธุ์ L แพร่ระบาดได้ดีกว่าสายพันธุ์ S โดยเฉพาะในยุโรป จากนั้น สายพันธุ์ L จึงแตกออกเป็นสายพันธุ์ G และ V
ต่อมาพบว่า สายพันธุ์ G พัฒนาตัวเองให้แพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้มันระบาดไปทั่วโลก เกิดเป็นสายพันธุ์ลูกอย่าง GR (Arginine) และ GH (Histidine)
นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา จากไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ GH ที่พบในไทย ทำให้ไวรัสแพร่กระจายง่ายขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าโควิด-19 สายพันธุ์ GH ที่กำลังแพร่ระบาดในไทยขณะนี้มีที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน
สายพันธุ์ที่เข้ามาในประเทศไทยล่าสุดคาดว่ามาทางประเทศอินเดีย ผ่านบังกลาเทศ และเข้ามาไทยผ่านประเทศเมียนมา
ลักลอบเข้าเมือง ต้นตอนำเข้าโควิด-19
หลังจากพบว่าจังหวัดสมุทรสาครคือศูนย์กลางการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติที่มาจากประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 130,000 คน เสียชีวิตมากกว่า 2,900 คน ทำให้เกิดคำถามต่อสถานการณ์แนวชายแดนด้านตะวันตกของไทยว่า ทำไมผู้ลักลอบเข้าเมืองจึงกลายเป็นต้นตอการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยได้
การรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกในจังหวัดสมุทรสาครเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 หลังจากจังหวัดนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมานานกว่า 250 วัน จากการสอบสวนและควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. เป็นต้นมา ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 13 คน มีทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติที่ทำงานในตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร
เมื่อตรวจคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างชาติจำนวน 1,192 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 คน คิดเป็นร้อยละ 43 ของผู้ที่ได้รับการตรวจทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้งไปรักษาตัวโรงพยาบาลในหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 548 คน
เวลา 21.00 น. ของวันที่ 19 ธ.ค. 2563 อธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดแถลงข่าวด่วนถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ พร้อมกับสั่งล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร เป็นเวลา 14 วัน จนถึงวันที่ 3 ม.ค. 2564
นี่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้การเฉลิมฉลองปีใหม่ในประเทศไทยต้องหยุดชะงักลง
บ่อนภาคตะวันออก คลัสเตอร์ใหญ่รองจากสมุทรสาคร
กิจกรรมเฉลิมฉลองส่งท้ายปีใหม่บนถนนวอล์คกิ้งสตรีทพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด19 ท่ามกลางห้างร้านที่ปิดเงียบ
สถานที่ท่องเที่ยวของภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากบ่อนการพนันแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง คำยืนยันนี้มาจากการแถลงข่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2563
สถิติการดำเนินคดีการพนัน ปี 2559-2562 รวบรวมจากระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เฉพาะในพื้นที่จ.ระยอง ไม่พบการแจ้งคดีและการจับกุมคดีการพนันตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
จากการตรวจสอบสถานที่คาดว่าเป็นบ่อนการพนันซึ่งอยู่ติดกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร (บขส.) เก่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พ.ต.อ.พรัชต์ศรุต วัชรธนโยธิน ผกก.สภ.เมืองระยอง ระบุว่า เป็นโกดังสินค้า ไม่ได้เป็นบ่อนพนัน แต่จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบต่อไป เพื่อไม่ให้มีการเล่นพนันในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
ขณะที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีเตือนผู้ที่เข้าไปในบ่อนหลัง บขส.เก่า อ.เมือง จ.ระยอง และ บ่อนหลังร้านนำชัย พัทยาเหนือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 เป็นต้นมา ให้สังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการที่บ่งบอกว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกกักตัว และติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
ทางด้านนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ประกาศเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2564 ขอความร่วมมือไปยังนักพนันที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งคาดว่ามีจำนวนกว่า 500 คน ให้กักตัวเอง และแจ้งเจ้าหน้าที่คัดกรอง
ในวันเดียวกัน นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด แถลงข่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อมาจากบ่อนการพนันที่ ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง รวมถึงมีกลุ่มเสี่ยงสูง สัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่ไปบ่อนการพนันใน อ.เมืองตราด อ.เขาสมิง อ.แหลมงอบ และ อ.บ่อไร่ จำนวนกว่า 200 คน ที่เจ้าหน้าที่ยังต้องติดตามมาเข้าระบบคัดกรอง
แม้พบผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับบ่อนการพนันในภาคตะวันออกเป็นจำนวนมาก แต่สถิติการดำเนินคดีการพนันที่รวบรวมจากระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่พบการแจ้งคดีและการจับกุมคดีการพนันตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาทั้งใน จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ขณะที่ จ.ชลบุรีพบการดำเนินคดีเฉลี่ยปีละ 2 คดีเท่านั้น
วัคซีนโควิด-19 ในไทย ความหวังที่เต็มไปด้วยคำถาม
จากแผนการจัดหาวัคซีนของไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปลายเดือน ก.พ.2564 ประเทศไทยจะได้วัคซีนล็อตแรกจาก Sinovac จำนวน 2 แสนโดส แบ่งเป็น 2 หมื่นโดสแรก ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ เจ้าหน้าที่ภาคสนามที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด
ส่วนอีกจำนวน 180,000 โดส ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ
เดือน มี.ค. 2564 ไทยได้วัคซีนจาก SINOVAC 8 แสนโดส เพื่อใช้เป็นวัคซีนเข็มสองให้กับผู้ที่รับวัคซีนไปแล้วก่อนหน้านี้ 200,000 โดส ส่วนอีก 6 แสนโดส จะฉีดเป็นวัคซีนเข็มแรกให้กับพื้นที่ควบคุมสูงสุด ชายแดนใต้และตะวันตก โดยเน้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ
เดือนเมษายน 2564 วัคซีน SINOVAC 1 ล้านโดส ที่ได้รับในเดือน เม.ย. จะเป็นวัคซีนเข็มสองให้กับผู้รับวัคซีนไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 6 แสนโดส และเตรียมไว้ฉีดในกรณีเกิดการระบาดอีก 4 แสนโดส
ระหว่างเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2564 ไทยจะได้วัคซีนของ AstraZeneka ล็อตแรกจำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ
กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าภายในปี 2564 จะมีประชากรจำนวนกว่า 33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ได้รับวัคซีน
การจัดหาวัคซีนของ AstraZeneca
วันที่ 12 ต.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเผยแพร่ภาพข่าวการลงนามระหว่าง กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ – สวีเดน พร้อมทั้ง สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัทในพระปรมาภิไธย และ บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) ในหนังสือแสดงเจตจำนงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ ม.ออกซ์ฟอร์ดกำลังวิจัยอยู่ โดยตั้งเป้าพร้อมใช้ในประเทศไทยกลางปี 2564 หากการวิจัยสำเร็จ
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 อนุมัติเงิน 600 ล้านบาท ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector โดยใช้เทคโนโลยีของแอสตร้าเซนเนก้า เงินจำนวนนี้ แบ่งออกเป็น
– ค่าจ้างที่ปรึกษาและเดินทางต่างประเทศ 12 ล้านบาท
– ค่าวัสดุ เช่น ซื้อสารเคมี สารชีวเคมี ตัวทำละลาย อาหารเลี้ยงเซลล์ ฯลฯ จำนวน 430 ล้านบาท
– ค่านำเข้าและส่งออกเพื่อสอบเทียบและประเมินคุณภาพโดย Third Party จำนวน 78 ล้านบาท
– งบลงทุน ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง เช่น ชุดตรวจการปนเปื้อนในขวดแก้ว และชุดเครื่องบรรจุกล่องพร้อมระบบ จำนวน 80 ล้านบาท
ปัจจุบัน พบว่า ไทยจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับ AstraZeneka วัคซีนเทคโนโลยีแบบ Viral Vector จำนวน 61 ล้านโดส โดยมี บจ.สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตวัคซีนเพียงบริษัทเดียวในไทย
ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 17 พ.ย. 2563 อนุมัติงบกลางวงเงินกว่า 2,379 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment หรือ AMC) กับ บจ. AstraZeneca Thailand และบจ. AstraZeneca UK ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติเงินจัดซื้อวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้าในวงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท และให้กรมควบคุมโรคบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้าในวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาทด้วยเช่นกัน รวมเป็นงบประมาณทั้งหมดกว่า 6,049 ล้านบาท สำหรับการซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดสแรก
ในวันที่ 21 ม.ค. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลกับแอสตร้าเซนเนก้า และ บจ.สยามไบโอไซเอนซ์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเอกสารสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด เพื่อให้หลายฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ
ประชาชนไม่ควรจะตรวจสอบหรือครับ ว่าดีลที่เกิดขึ้นมีความผิดปกติไหม หรือเหมาะสมมากที่สุดไหม ดีลแรกระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์ ดีลที่สองคือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับรัฐบาลไทย และสามคือดีลระหว่างรัฐบาลไทยที่ให้เงินสนับสนุนกับสยามไบโอไซเอนซ์ สามดีลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระต่อกัน แต่มันคือดีลเดียวกันที่มีการพูดคุยเจรจาร่วมกัน
ก่อนหน้านี้ นายธนาธรได้ออกมาพูดถึงการจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ของประธานคณะก้าวหน้าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ว่าประเด็นนายธนาธรตั้งข้อสังเกตนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง พร้อมกับเตือนสื่อมวลชนให้ระมัดระวังการเสนอข่าวเพราะเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายหากมีการเผยแพร่สิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
การจัดหาวัคซีนของ SINOVAC
วัคซีน CoronaVac คือวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่ไทยจัดหามาใช้ในประเทศ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายผลิตโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ซึ่งเรียกกันว่า Sinovac
เดือน ธ.ค. 2563 ผู้ผลิตวัคซีนรายนี้เปิดระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนเป็น 2 เท่า และปรากฎว่ามี บริษัท ไซโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล ซึ่งมี ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป บริษัทในเครือซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมลงทุนกว่า 515 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท
ค่าประสิทธิภาพของ Sinovac เป็นที่ถกเถียงกันว่า น่าเชื่อถือหรือไม่ และ ทำไมไทยไม่เลือกวัคซีนยี่ห้ออื่นในตลาดที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ หลังจากพบว่าวัคซีนจาก Pfizer and BioNtec รวมถึง Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนแบบ mRNA เหมือนกัน ให้ค่าประสิทธิภาพมากถึง 95% ส่วน AstraZeneka มีค่าประสิทธิภาพมากกว่า70%
ขณะที่ค่าประสิทธิภาพของ Sinovac อยู่ที่ 50.38% ถึง 91.25% ขึ้นอยู่กับการทดลองทางคลินิกในแต่ละประเทศ โดยพบว่าผลทดสอบในตุรกีได้ที่ 91.3% อินโดนีเซีย 65.3% ขณะที่บราซิลได้ผล 50.4%
สาเหตุที่ทำให้หลายประเทศเกิดความกังวล เป็นเพราะผลการทดสอบวัคซีน Sinovac ในบราซิลคาบเส้นเกณฑ์มาตรฐานขอองค์การอนามัยโลก ที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพของวัคซีนไว้อย่างน้อย 50% ขึ้นไป
ไทยพีบีเอสสอบถามข้อมูลเรื่องนี้ไปยังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแต่ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ