- Line
นิพนธ์ บุญญามณีรมช.มหาดไทย จี้ จ.แพร่ ขจัดการภัยแล้งหมอกควันเข้มข้นและมอบโฉนดที่ดินที่ปรับปรุงเอกสารสิทธิ์ใหม่ชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และรับฟังบรรยายสรุปการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน ในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยมี นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวรายงานถึงสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดแพร่
สำหรับสถานการณ์น้ำ/แหล่งกักเก็บน้ำของจังหวัดแพร่ ข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 85.021 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64.20 ของความจุอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ ใช้การ 73.327 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก , อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก รวม 71 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 32.986 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62.52 ของความจุอ่างเก็บน้ำ , สถานการณ์น้ำท่า ระดับน้ำท่าในแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เรื่องของน้ำอุปโภค บริโภค จังหวัดแพร่ มีพื้นที่เสี่ยงภัย 8 อำเภอ พื้นที่เฝ้าระวัง 303 หมู่บ้าน เสี่ยงปานกลาง 73 หมู่บ้าน เสี่ยงมาก 9 หมู่บ้าน ด้านน้ำการเกษตร มีพื้นที่เสี่ยงภัย 8 อำเภอ พื้นที่เฝ้าระวัง 106 หมู่บ้าน เสี่ยงปานกลาง 109 หมู่บ้าน เสี่ยงมาก 48 หมู่บ้าน การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดแพร่ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด , ระดับอำเภอ และท้องถิ่น และจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้ง พร้อมจัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เตรียมเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 72 เครื่อง
ทั้งนี้ทางจังหวัดแพร่ได้จัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โครงการสร้างทำนบกระสอบทรายชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติ (กรณีภัยแล้ง) กั้นลำน้ำยม จำนวน 37 จุด กั้นลำน้ำสาขา จำนวน 91 จุด โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และโครงการสร้างท้านบกระสอบทรายชั่วคราว โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 140 จุด รวมทั้งสิ้น 268 จุด มีครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 69,626 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลประโยชน์ จ้านวน 302,728 คน
ในส่วนการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดแพร่ให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคม กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด ให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผา ภายใน 3 ปี , กำกับให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด , เตรียมความพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤติหมอกควัน , มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ใช้และเผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกิดไฟไหม้ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gisda) และข้อมูลคุณภาพอากาศ จากกรมควบคุมมลพิษ , ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้องให้กับประชาชน , ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐ อย่างต่อเนื่อง , เข้มงวดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เน้นดูแล 4 พื้นที่สำคัญไม่ให้เกิดการเผา ทั้งพื้นที่ ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์ , พื้นที่เกษตรกรรม , พื้นที่ชุมชน/เมือง และพื้นที่ริมทางโดยจังหวัดแพร่ได้ประกาศห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อให้จังหวัดแพร่ ฟ้าใส่ ไร้หมอกควัน
นอกจากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้มอบเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินที่ปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยด้วยระบบรังวัดที่ดินแบบ RTK GNSS NETWORK หรือ. ระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ เป็นการระบุ ตำแหน่งที่ดิน ที่ชัดเจนแม่นยำ ในระบบ ฐานข้อมูลใหม่ของกรมที่ดิน สามารถ ตรวจสอบค่าพิกัด ได้ด้วย Application Lands Maps ในสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จำนวน 82 แปลง 54 ราย รวม 60 ไร่ ให้กับเกษตรกร บ้านเวียงใต้ ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวางจังหวัดแพร่
นายนิพนธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ปัญหาภัยแล้ง ในปีนี้ พบว่า จังหวัดแพร่ มีการบริหารจัดการน้ำ ที่ดีโดยเฉพาะ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด มีการสำรองไว้อย่างเพียงพอ พร้อมทั้งเร่งสร้าง แหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้มากขึ้น ในทุกอำเภอ เก่งต้องเน้นย้ำ ในพื้นที่ เสี่ยง ภัยแล้ง ที่อาจขาดแคลน ระบบส่งน้ำ และน้ำต้นทุน ซึ่ง พื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ มักขาดแคลน จังหวัดจะต้องเร่ง พัฒนาอย่างเป็นรูปประธรรม อย่างน้อย ให้สามารถ มีแหล่งน้ำ ใช้ทางการเกษตรอุปโภคบริโภค ให้สมบูรณ์ในปี 2565
ส่วนเรื่องโฉนดที่ดิน ทางราชการ สามารถ ปรับปรุงระบบที่ทันสมัย และเร่งออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินในที่ดินถือครอง ของเอกชน มากกว่า 200,000แปลง ที่ต้องเร่งดำเนินการ ให้กับประชาชน ในส่วนของ ประชาชนที่ถือครองที่ดินของรัฐ นั้น ไม่สามารถออกโฉนดได้ แต่ได้สร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชนที่ถือครองที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของรัฐ ตามความรับผิดชอบของกระทรวงต่างๆ โดยใช้ โครงการที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแบบรวม กลุ่ม ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจ ให้ประชาชน ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกที่ดินของทางราชการ ซึ่งขณะนี้ ได้กำชับ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งดำเนินการให้กับประชาชน