เมืองพัทยา ชะลอซื้อวัคซีน COVID-19 ตามคำสั่งของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งระบุว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในระยะแรกเอง โดยวัคซีนไซโนแวคที่กำลังมาเข้ามา จะกระจายไปใน จ.สมุทรสาคร กรุงเทพและปริมณฑล และ จ.ตาก ก่อน
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2564 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยา ต้องปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ระบุว่าวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในล็อตแรก รัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ยังคงเตรียมงบประมาณ และความพร้อมเอาไว้ในการดำเนินการในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน COVID-19
หนังสือฉบับนี้ ระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนมีปริมาณจำกัด และเพื่อความปลอดภัย ระยะแรกกำหนดให้ภาครัฐเท่านั้นที่จะซื้อและกระจายวัคซีน
สธ.กระจายวัคซีนให้พื้นที่ควบคุมสูงสุด
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยแผนกระจายวัคซีนออกมาแล้ว โดยประเมินจากข้อมูลการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ วัคซีน COVID-19 ของบริษัทไซโนแวคจากประเทศจีน จะถูกกระจายไปยังพื้นที่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพฯ 6 เขตฝั่งตะวันตก และ จ.ตาก โดยทุกกลุ่มมีสิทธิ์ได้รับวัคซีน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และจะฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลก่อนเท่านั้น
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอย่าง จ.สมุทรสาคร จะได้รับการจัดสรรควัคซีน 820,000 โดส ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 150,000 คน และประชาชนทั่วไปรวมแรงงาน 210,000 คน
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 800,000 โดส สมุทรปราการ 28,000 โดส นนทบุรี และปทุมธานี จังหวัดละ 26,000 โดส และสำรองไว้สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาด 66,000 โดส ถ้านับเฉพาะการระบาดรอบใหม่ จ.สมุทรสาคร มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุด กว่า 15,000 คน รองลงมาคือ กรุงเทพฯ เกือบ 900 คน
ศบค.รายงานเมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) พบผู้ติดเชื้อใหม่ 201 คน ที่น่าในใจคือ กทม.พบผู้ติดเชื้อใหม่ 16 คน อายุต่ำที่สุด คือพบเป็นทารก 7 เดือน