สธ. เผยคลัสเตอร์ รปภ.จุฬานิวาสน์ พบผู้ติดเชื้อ 22 คนส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ไม่มีอาการ ติดเชื้อจากกินอาหารร่วมกัน พบจุดสัมผัสเสี่ยงที่เครื่องสแกนนิ้ว แนะล้างมือบ่อยๆ งดพูดคุยระหว่างกินอาหาร ส่วนกทม.เร่งค้นหาเชิงรุกในตลาดสถานประกอบการ
วันนี้ (16 ก.พ.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรค COVID-19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 72 รายมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 21 คน ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 48 คน และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 คน รักษาหายเพิ่มขึ้น 680 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 -16 ก.พ.นี้ มีจำนวน 20,549 ราย หายป่วยสะสม 19,386 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 1,141 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ภาพรวมการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานที่เสี่ยงการติดเชื้อจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาด ตรวจตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2563 จำนวน 466 ตลาด ตรวจให้กับพ่อค้า แม่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดกว่า 40,000 คน พบติดเชื้อ 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.03 เป็นการติดเชื้อแบบประปรายไม่เป็นกลุ่มก้อน
ในสถานประกอบการดำเนินการตรวจ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2563 จำนวน 128 แห่ง ในกลุ่มแรงงานจำนวน 16,177 คน พบติดเชื้อ 65 รายคิดเป็นร้อยละ 0.40 โดยติดเป็นกลุ่มก้อน 5 โรงงาน และ ในชุมชนเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2563 จำนวน 4,654 คน พบติดเชื้อ 35 รายคิดเป็นร้อยละ 0.75 ซึ่งทุกแห่งสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
วัยทำงาน-ติดจากการกินอาหารร่วมกัน
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยยืนยันที่เชื่อมโยงกับ รปภ. จุฬานิวาสน์ พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวน 22 คนน
ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน และไม่มีอาการ ทีมสอบสวนโรคจึงได้การดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกที่ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาฯจำนวน 862 คน พบผู้ติดเชื้อ 22 ราย และรอผล 165 คน และในตลาดรอบจุฬาฯจำนวน 434 คน ผลไม่พบเชื้อ 334 คน และอยู่ระหว่างรอผล 100 คน ขณะนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม จากการสอบสวนทำให้เห็นถึงการเชื่อมโยง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการติดเชื้อ ไม่ใช่จาก 1 คนไปสู่ 1 คน แต่เป็นการแพร่ไปในครอบครัว กลุ่มที่พักอาศัยชั้นเดียวกัน
กลุ่มที่ทำงานที่มีความใกล้ชิด สนิทสนม รับประทานอาหารร่วมกัน และยังมีการตรวจพบเจอเชื้อที่เครื่องสแกนนิ้ว ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง
แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุย หัวเราะ ใกล้ชิดกัน ก็ไม่ควรประมาท ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการล้างมือสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยหยุดการระบาดเชื้อ COVID-19 ได้อีกทางหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยพบป่วยใหม่ 72 คน – จ่อเปลี่ยนสีพื้นที่ผ่อนคลาย COVID-19
วันแรก กทม.ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ เป็น “ศูนย์”