สัมภาษณ์พิเศษ
หลังจากประเทศไทยเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ จากตลาดกลางค้ากุ้ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 มาจนปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรวจเชิงรุกของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสถานประกอบการที่ต้องการตรวจสอบ และจัดโซนสีแต่ละพื้นที่ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว
การแพร่ระบาดรอบนี้ส่งผลให้คู่ค้าหรือผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเหตุนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชน จึงได้รุกจัดทำมาตรฐานสินค้า ด้วยการออกเครื่องหมายรับรอง “IPHA” (Industrial and Production Hygiene Administration) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายสุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ที่มาที่ไปการออก IPHA
การเกิดมาตรฐาน IPHA นี่ไม่ใช่แค่เพื่อสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร แต่ช่วงที่เกิดโควิด ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อสินค้า ผู้ค้า ผู้ซื้อ มีความกังวลต่อสินค้าอย่างพวกอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่สีแดงซึ่งมีการติดโควิด-19 จำนวนมาก เราพยายามแก้เพนพอยต์เรื่องโควิด โดยเฉพาะ ช่วยสมาชิกจากปัญหานี้
ดังนั้น ส.อ.ท.จึงตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีรองประธาน ส.อ.ท. มี คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล มาเป็นประธานดูแลเรื่องนี้พิจารณาว่าควรออกมาตรฐานอะไรมา เพื่อให้เกิดการรับรองตัวเองแบบถูกต้อง โดยมีเป้าหมายให้โรงงานรับรองตนเอง หรือที่เรียกว่า self-declaration ระดับการสร้างมาตรฐานสุขอนามัย
ซึ่งทางคณะได้หารือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ จัดทำมาตรฐาน IPHA ขึ้นมา เพิ่งเสร็จเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
เกณฑ์การคัดเลือก
เราจะไม่มีการตั้งเป้าคนที่จะเข้ามาร่วมขอ IPHA เพราะมาตรฐานนี้ไม่เหมือนอุตสาหกรรมสีเขียว เรื่องเกณฑ์การคัดเลือกเราต้องมาดูแยกประเภทอย่างเช่น บางโรงงานเขายังไม่มี GMP เพราะเขาไม่ได้ส่งออก แต่เขาได้มาตรฐานตรงนี้ ทางเราจะมีเช็กลิสต์เพื่อให้โรงงานสำรวจตัวเอง ซึ่งจะได้มาตรฐานเดียวกับ GMP เพียงแต่โรงงานจะไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายให้ GMP ด้วย ลูกค้าไม่ได้ต้องการขนาดนั้น เช็กลิสต์นี้จะเป็นกรอบการรับรองตัวเองให้เขาเท่านั้น
โดยหลังจากการกรอกข้อมูลในเช็กลิสต์แล้วจะแชร์ข้อมูลนี้ในฐานข้อมูลของ ส.อ.ท. สถาบันอาหารกรมควบคุมโรค สถาบัน ISO ซึ่งทั้ง 3 ภาคีนี้จะเห็นเช็กลิสต์ของโรงงานแต่ละโรงงานทั้งหมด
ไม่เพิ่ม “ต้นทุนค่าใช้จ่าย”
สำหรับสมาชิก ส.อ.ท. นี่เป็นบริการสำหรับโรงงานแรกจะได้รับบริการฟรี ส่วนโรงงานอื่นจะเสียค่าบริการเพียง 1,000 บาท/โรงงานเท่านั้น ซึ่งเทียบกับที่ได้คือสร้างความเชื่อมั่นมันคุ้ม
62 โรงงานยื่นขอ IPHA
ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นสมัครเข้ามา 62 โรงงาน ผ่านการอนุมัติแล้ว 17 โรงงาน ซึ่งในส่วนนี้เป็นโรงงานใน จ.สมุทรสาคร 12 โรงงาน รอคิวรับการอบรมอีก 15 โรงงาน ซึ่งโรงงานที่เข้ามาขอ IPHA นี้มีทั้งในพื้นที่สีแดงและจังหวัดอื่น ๆ ด้วย และไม่ได้มีแค่อุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการขยายให้อุตสาหกรรมอื่นได้มาตรฐาน IPHAเช่นกัน ก็เปิดกว้างทั้งหมดให้เขาสามารถรับรองตนเองได้เลย
ซึ่งการเช็กลิสต์ให้จะใช้มาตรฐานเดียวกับ GMP มันขึ้นอยู่กับสุขลักษณะ ขณะนี้ทยอยมาสมัคร เชื่อว่าคงจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 โรงงาน ยกตัวอย่างเช่น รายใหญ่ที่ได้ตรวจสอบผู้ติดเชื้อเชิงรุก เช่น CPF, PFP, IMG, โกลบอลมารีน โฟรเซ่น เป็นต้น
ระยะเวลารับรอง ทุก 6 เดือน
ในกรณีที่ได้ IPHA แล้ว เช็กลิสต์แล้วเกิดข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่ทำเช็กลิสต์ไว้แม้ว่าทาง ส.อ.ท.จะไม่สามารถไปลงโทษได้ แต่จะสามารถรีวิวมาตรฐานนี้ทุก 6 เดือน
“ไม่ใช่ว่ารับรองตัวเองแล้วทำไม่ได้ จะไม่มีความผิด แต่เขาจะเสียเอง ถ้าไม่ทำตามที่รับรองตัวเองไว้จะทำให้ขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจ ยิ่งถ้าสั่งสมการดำเนินงานมานานยิ่งกระทบมาก แต่หากทำตามขั้นตอนเช็กลิสต์ทั้งหมดทำจริงโอกาสพลาดจะไม่มี เครดิตที่บริษัททำมาตลอดจะไม่คุ้ม จากนั้น 6 เดือนเราจะสามารถรีวิวได้เรื่อย ๆ”
เพิ่งโปรโมตตลาดส่งออก
หลังจากมีหลายกลุ่มที่ได้มาตรฐานไปแล้ว ทาง ส.อ.ท.จะเร่งโปรโมตสร้างการรับรู้มาตรฐานนี้ในระดับสากล โดย ส.อ.ท.ได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ในแต่ละประเทศช่วยในการสื่อสารประชาสัมพันธ์สนับสนุนลูกค้าผู้นำเข้าได้รับรู้และให้เกิดความมั่นใจในมาตรฐานนี้ต่อไป