ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน บางพื้นที่ปัญหาภัยแล้งเริ่มมาเยือน รวมทั้งปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา และการเพาะปลูกพืช ดังนั้นทีมข่าว “1/4 Special Report” จึงต้องคุยกับ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของชลประทาน
น้ำใกล้เคียงปี 63-นาปรังรอบ 2 เสี่ยง!
นายประพิศ กล่าวว่า ถ้าดูน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศภาพรวมถือว่าใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากข้อมูลวันที่ 16 ก.พ. 64 มีปริมาตรน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ 39,418 ล้าน ลบ.ม. (56%) เป็นน้ำที่ใช้การได้ 15,875 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมีน้ำอยู่ 40,460 ล้านลบ.ม.
ยกเว้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งปีนี้มีน้ำมาก เนื่องจาก 4 เขื่อน คือ เขื่อนลำแซะ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนลำตะคอง ยังมีน้ำมาก ในปริมาณกว่า 70-90% ของความจุเขื่อน ขณะที่ภาคตะวันตก คือ จ.กาญจนบุรี 2 เขื่อนใหญ่ ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว
จากข้อมูลน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ จึงยืนยันว่ามีน้ำบริโภคอุปโภคเพียงพออย่างแน่นอน รองลงไปคือน้ำสำหรับไม้ยืนต้นคงไม่มีปัญหา น้ำสำหรับ การผลักดันน้ำเค็ม และน้ำอีก ส่วนหนึ่งต้องเก็บไว้รักษาระบบนิเวศ นี่คือแผนบริหารจัดการน้ำตามปกติของกรมชลประทาน ซึ่งเราต้องมองไปถึงช่วงต้นฤดูฝน ต้องมีน้ำกิน น้ำใช้ไปถึงเดือนมิ.ย.
ส่วนเรื่องการทำนาปรังรอบที่ 2 รวมทั้งการปลูกพืช และการปศุสัตว์ที่ใช้น้ำมาก คงห้ามแบบจริง ๆ จัง ๆ ไม่ได้ แต่ขอให้ดูน้ำใน 4 เขื่อน ที่มีผลกับพื้นที่เพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันทั้ง 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี มีน้ำอยู่ไม่ถึงครึ่งอ่าง ดังนั้นการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก หรือการทำนาปรังรอบที่ 2 จึงอยู่ในขั้นเสี่ยง! ที่จะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ จนเกิดความเสียหายได้ ถ้าไม่มีฝนตกลงมา
โอกาสสร้างเขื่อนใหญ่เป็นไปได้ยาก
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อไปว่าประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาปีละ 200,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เราสามารถกักเก็บไว้ได้ประมาณ 70,926 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ส่วนที่เหลือไหลลงทะเลไปหมด โดยเฉพาะภาคใต้มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่น มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาวะน้ำท่วมเร็วมาก แต่แห้งเร็ว เพราะพื้นที่อยู่ติดทะเล แล้วสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้แค่ 15% เท่านั้น ส่วนที่เหลือไหลลงทะเลไปหมด นี่คือปัญหาของบ้านเรา
“จากนี้ไปการสร้างเขื่อนใหญ่ ๆ ขนาดความจุ 100 ล้านลบ.ม.ขึ้นไป มีโอกาสเป็นไปได้ยากมาก ยกเว้นอ่างเก็บน้ำขนาดความจุต่ำกว่า 100 ล้านลบ.ม. ยังพอมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะขนาด 30-50 ล้านลบ.ม. กำลังศึกษาที่จะทำโครงการอยู่หลายพื้นที่ ทั้งในภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ซึ่งภาพรวมของภาคตะวันออกมีปัญหาขาดแคลนน้ำที่ชลบุรี ส่วนระยองไม่ขาดแคลนเนื่องจากมีอ่างเก็บน้ำเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องสร้างอ่างเก็บน้ำที่จันทบุรี 2-3 อ่าง เพื่อผันน้ำมาช่วยชลบุรี”
สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้ลักษณะเดียวกัน คือให้ชลประทานในพื้นที่ไปสำรวจและศึกษาความเหมาะสม ตรงไหนเหมาะสมสร้างอ่าง ก็ต้องสร้าง อย่างกรณีภาคเหนือที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ตั้งแต่ จ.แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เนื่องจากบริเวณต้นน้ำยมไม่มีเขื่อน
“แก่งเสือเต้น” เก็บไว้เป็นตำนาน!
ส่วนกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ต้องเก็บไว้เป็นตำนานไปเลย ดังนั้นเมื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้ ทางชลประทานจึงเร่งสำรวจดูความเหมาะสมของลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ในเขต จ.แพร่ และพะเยา ตรงไหนมีความเหมาะสมสร้างอ่าง และชาวบ้านไม่คัดค้าน เราจะสร้างทันที เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในตัวเมืองสุโขทัย และปัญหาภัยแล้งยาวนานของพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยเฉพาะในเขต จ.พิจิตร เจอภัยแล้งหนักทุกปี
ทางด้านเขื่อนภูมิพล กรมชลประทานมีโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ไปใส่ลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ผ่านทางอุโมงค์คอนกรีตขนาดกว้าง 8-10 เมตร ระยะทางประมาณ 60 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 70,000 ล้านบาท จากปกติที่น้ำในแม่น้ำยวมจะไหลลงไปที่แม่น้ำสาละวิน โดยเปล่าประโยชน์ทุกปี กรมชลประทานจึงมีแผนทำโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพล ประมาณปีละ 1,800 ล้านลบ.ม. ถ้าได้น้ำอีก 1,800 ล้านลบ.ม. มาลงเขื่อนภูมิพล จะช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มากกว่า 1 ล้านไร่ รวมทั้งช่วยเรื่องของการผลิตประปา–ไฟฟ้า และการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งโครงการ ดังกล่าวมีการหารือกันในสภา ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว และเปิดรับฟังความเห็นจากหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ปัญหาแม่น้ำโขง ที่ปริมาณน้ำลดลงต่ำนั้น ตรงนี้อยู่นอกเหนือการบริหารจัดการของกรมชลประทาน เพราะเป็นเรื่องของการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในต่างประเทศ แต่สิ่งที่กรมฯ สามารถทำได้คือการปิดกั้นลำน้ำ 34 แห่งในบ้านเราที่ไหลไปลงแม่น้ำโขง ตั้งแต่เชียงราย-อุบลราชธานี เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งทยอยปิดไปเกือบหมดแล้ว ยังเหลืออีกไม่กี่แห่ง
ขณะเดียวกันถ้าตรงไหนมีความเหมาะสม จะพัฒนาให้เหมือนกับโครงการต้นแบบ “ห้วยหลวง” จ.หนองคาย ที่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขง เข้าลำห้วยหลวงมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หลายอำเภอของหนองคาย และอุดรธานี
“ใสน้อยใสใหญ่” มีโอกาส–สั่งกำจัดผักตบชวา
เมื่อถามว่าโอกาสสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอนาคตไม่น่าจะมีแล้ว? อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่าเขื่อนขนาดความจุ 100 ล้านลบ.ม.ขึ้นไป คงเป็นไปได้ยาก แต่โดยส่วนตัวคิดว่ามีเพียงแห่งเดียวที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด คือ เขื่อนใสน้อยใสใหญ่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ขนาดความจุประมาณ 334 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีการศึกษาความเหมาะสมมาหลายปีแล้ว สำรวจและศึกษามาพร้อม ๆ กับเขื่อนนฤบดินทรจินดา (ห้วยโสมง) อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี แต่เขื่อนห้วยโสมง สร้างเสร็จและกักเก็บน้ำมาแล้ว 2-3 ปี
ปัจจุบันในชั้นวุฒิสมาชิก (ส.ว.) มีการประชุมหารือเรื่องการสร้างเขื่อนใสน้อยใสใหญ่ เพราะต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมกันอย่างรอบคอบจากหลายฝ่าย เนื่องจากตัวเขื่อนตั้งอยู่ในพื้นที่มรดกโลก (อุทยานฯ เขาใหญ่) แต่ถ้าสร้างได้จะเป็นประโยชน์มากกับพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง เพราะเขื่อนห้วยโสมงมีความจุ 295 ล้าน ลบ.ม. ถ้าได้เขื่อนใสน้อยใสใหญ่เข้ามาอีก 334 ล้าน ลบ.ม. จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นไว้ช่วยเหลือทางการเกษตร และผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงที่รุกล้ำเข้ามาถึงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ทุกปี
“ยืนยันว่าปีนี้มีน้ำกิน น้ำใช้เพียงพออย่างแน่นอนทุกพื้นที่ ส่วนเรื่องน้ำประปาบางพื้นที่มีรสกร่อย เพราะน้ำเค็มหนุนสูงนั้น กรมฯ ได้ประสานงานกับการประปาตลอดเวลา เพื่อผันน้ำลงมาช่วยผลักดันน้ำเค็มในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำมาถึงประตูน้ำสำแล จ.ปทุมธานี สำหรับการทำนาปรังรอบที่ 2 อยู่ในขั้นเสี่ยง เนื่องจากน้ำในเขื่อนหลัก ๆ เหลือน้อย นอกจากเรื่องน้ำกินน้ำใช้แล้ว ผมได้แจ้งไปยังสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ว่าอย่าให้มีเรื่องร้องเรียนปัญหาผักตบชวากีดขวางแม่น้ำลำคลองมาที่กรมฯ โดยเด็ดขาด ตรงไหนมีปัญหาให้รีบดำเนินการ ถ้าลงมือทำจริง ๆ แค่ 2-3 วันก็เสร็จ เพราะมีคนและเครื่องจักรพร้อม ดังนั้นต้องไม่มีปัญหาผักตบชวาร้องเรียนมาที่กรมฯ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว.