สธ. เผยพบผู้ช่วยแพทย์ ติดโควิด-19 เร่งสอบหาที่มา กำชับมาตรการสวมหน้ากากอนามัย
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยว่า สัปดาห์นี้มีผู้ติดเชื้อใน 19 จังหวัด รวม 918 ราย และอีก 58 จังหวัดไม่มีรายงานติดเชื้อเพิ่ม สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) วันนี้พบ 1 ราย เป็นผู้ช่วยพยาบาล อย่างไรก็ตาม ต้องสอบสวนต่อว่ามีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาล (รพ.) มากน้อยอย่างไร
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับกรณีตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานี ยังพบผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวัง โดยปทุมธานีพบ 2 ราย อ่างทอง และสมุทรปราการ จังหวัดละ 1 ราย สำหรับการค้นหาเชิงรุกชุมชนโดยรอบตลาดพรพัฒน์ และพื้นที่เสี่ยงและตลาด 7 พื้นที่ พบป่วยติดเชื้อรวมกัน 415 ราย มีกระจายหลายจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดที่กระจายไปจะมีการรายงานพรุ่งนี้เพิ่มเติมทั้งจังหวัดใกล้เคียงและจังหวัดที่ห่างออกไป
“ภาพรวมสมุทรสาครเริ่มลดลง ติดเชื้อแต่ละวันไม่เกิน 100 ราย ถือว่าควบคุมโรคได้พอสมควร กทม.สัปดาห์นี้ติดเชื้อวันละไม่เกิน 10 ราย ส่วนปทุมธานียังมีรายงานต่อเนื่อง สัปดาห์นี้รายงานเข้ามาค่อนข้างมาก จากการระบาดของตลาดพรพัฒน์ ตลาดสุชาติ และชุมชนรอบข้างด้วย ดังนั้น ผู้ที่เคยไปซื้อของตลาดพรพัฒน์ เพื่อไปขายต่อหรือกลับบ้าน ช่วยดูแลตัวเองด้วยการสวมหน้ากากตลอดเวลา ช่วงนี้กักตัวที่บ้าน 14 วัน อย่าเพิ่งออกมาพบปะคนจำนวนมาก เพื่อลดเสี่ยงแพร่โรคคนอื่นต่อ” นพ.จักรรัฐกล่าว
ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สรุปสถานการณ์ยังพบผู้ติดเชื้อหลักๆ ใน กทม. ปริมณฑล สมุทรสาคร และอ่างทอง ส่วนหลายจังหวัดสถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น กำลังปรับมาตรการผ่อนคลายทั้งร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ หรือร้านค้าต่างๆ ให้ใช้บริการมากขึ้น มีกิจกรรมได้มากขึ้น จำนวนคนมากขึ้น ส่วนจังหวัดที่เสี่ยงต้องป้องกันตนเอง ลดเสี่ยงด้วยการสวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกบ้านหรือใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งตอนนี้กังวลเพราะมีแนวโน้มคนสวมหน้ากากน้อยลง สวมผิดวิธี สวมไว้ใต้จมูกใต้คาง เป็นสาเหตุที่ทำให้แพร่เชื้อติดเชื้อเพื่มเติมได้
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 จำนวน 200,000 โดสแรก จากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน จะฉีดกลุ่มเสี่ยง 100,000 คนก่อน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ประเด็นสำคัญคือ ฉีดแล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้ป่วย หรือป่วยรุนแรง ลดเสี่ยงเสียชีวิต แต่ยังมีข้อมูลไม่มากพอว่าป้องกันการแพร่เชื้อได้ ดังนั้น แม้ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อต่อได้ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เพราะหากติดเชื้อและแพร่ต่อไปสู่คนมีโรคประจำตัวกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อาจป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้