ท่ามกลางปัญหาด้านปากท้องที่รัฐผุดโครงการต่างๆ เยียวยาผู้รับได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่หลงลืมไม่ได้ นั่นคือการที่รัฐบาลเตรียมประกาศโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่แบบใหม่ออกมาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตกำลังเร่งดำเนินการ
บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย ตลอดจนร้านค้าและตัวแทนจำหน่าย ต่างร่วมลุ้นกันว่ารายได้จากการประกอบอาชีพจะพอเลี้ยงปากท้องได้หรือไม่ โดยเมื่อย้อนอดีตไปตั้งแต่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนกันยายน 2560 จนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยาสูบจนต้องหยิบยกมาพิจารณาอย่างจริงจัง
3 ปีป่วนถ้วนหน้า ไร่ อุตสาหกรรม ร้านค้า ยอดขายลด กำไรร่อยหรอ
นับแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเปลี่ยนมาเก็บภาษีในอัตรา 2 ขั้นคือ อัตราตามมูลค่า 20% หากราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาท และอัตราตามมูลค่า 40% หากราคาขายปลีกเกิน 60 บาท นอกจากนี้ยังมีอัตราตามปริมาณอีกมวนละ 1.2 บาท สำหรับบุหรี่ทุกราคา ทำให้บุหรี่ยี่ห้อขายดีของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ต้องขึ้นราคาตามภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นสูงมากเป็นประวัติการณ์ และต้องเจอกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากบุหรี่นำเข้าบางยี่ห้อที่หนีตายลดราคาลงมาอยู่ที่ราคา 60 บาท เพื่อไม่ต้องโดนภาษีขั้นสูง การแข่งขันจึงมะรุมมะตุ้มกันอยู่ที่ราคาบุหรี่ไม่เกินซองละ 60 บาทกันเกือบทั้งตลาด
จากการแข่งขันราคาในตลาดบุหรี่ระดับล่างอย่างดุเดือด ทำให้การยาสูบฯเองมียอดขายบุหรี่ในประเทศลดลงอย่างน่าใจหาย จากที่เคยขายได้เกือบ 29,000 ล้านมวนเมื่อปี 2560 ก่อนปรับภาษี เหลือเพียง 18,000 ล้านมวนเศษๆ ในปี 2562 กำไรสุทธิก็ร่อยหรอจากปี 2560 เคยได้ถึง 9,343 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 513 ล้านบาทในปี 2562 โครงสร้างองค์กรยังมีความเป็นรัฐวิสาหกิจ การบริหารจัดการไม่มีคล่องตัวเหมือนบริษัทเอกชน ทำให้การปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในยุคใหม่ทำได้ลำบาก แม้ว่าจะแปลงสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วตั้งแต่ปี 2561 ก็ตาม
ผลจากการใช้โครงสร้างภาษีดังกล่าวก่อให้เกิดความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยาสูบและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวไร่ยาสูบ ตลอดจนร้านค้าที่จำหน่ายยาสูบ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมาตลอด นับแต่เริ่มประกาศใช้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้วที่เกษตรชาวไร่ยาสูบซึ่งเป็นลูกไร่ของ ยสท.ก็พลอยเดือดร้อนหนักต้องถูกตัดโควต้าไปเกือบ 50% ตั้งแต่ปี 2561, 2562 และ 2563 ติดต่อกัน โดยได้รับเงินชดเชยรายได้จากรัฐบาลในปีแรกเพียงปีเดียว
หันสูบยาเส้น บุหรี่เถื่อน บุหรี่นอกชิงส่วนแบ่งการตลาด
ประเด็นนี้ถือว่าได้รับความสนใจจากบรรดา ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ ส.ส.ที่มาจากจังหวัดพื้นที่ปลูกยาสูบ โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้หารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาใบยาสูบตกต่ำ โดยมี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และมี ส.ส.จากจังหวัดที่ปลูกยาสูบหลายคนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน, ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.จังหวัดแพร่ และ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
ในการประชุมดังกล่าว บรรดา ส.ส.รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นตรงกันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบนั้นสาเหตุมาจากระบบภาษีสรรพสามิตบุหรี่ โดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้กล่าวในที่ประชุมว่า
“ทำไมรัฐจึงไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือทำให้ ยสท.แข่งขันได้ตามปกติ จะใช้อัตราไหน 20% 30% หรือ 40% ก็ให้เท่ากัน ถ้าใช้อัตราภาษีเดียวกันเชื่อว่าตลาดยาสูบจะกลับมาสู่ชาวไร่อีกครั้งหนึ่ง”
ย้อนไปก่อนหน้านั้น ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 เคยมีการอภิปราย 4 ญัตติที่เสนอในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาจากโครงสร้างภาษียาสูบโดยมิได้นัดหมาย
ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีทำให้บุหรี่แพงขึ้นอย่างก้าวกระโดด กดดันให้ผู้บริโภคหันไปหาสินค้าทดแทนที่มีราคาต่ำกว่า เช่น ยาเส้น หรือบุหรี่เถื่อน และเงื่อนไขที่ทำให้บุหรี่ระดับล่างมีภาระภาษีที่น้อยกว่า ประกอบกับความไม่รัดกุมของข้อกฎหมายจึงทำให้บุหรี่ต่างชาติใช้วิธีการลดราคาเพื่อแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของบุหรี่ตลาดล่างซึ่งเดิมเคยเป็นของ ยสท.
“ปัญหาอยู่ที่การเก็บภาษีตามมูลค่า เพราะรัฐเก็บเป็น 2 อัตรา แทนที่จะเก็บภาษีอัตราเดียวตามหลักสากลตั้งแต่แรก” ณธีภัสร์ระบุ
ขณะที่ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ก็มีความเห็นตรงกันว่าโครงสร้างภาษีแบบ 2 อัตราเป็นตัวปัญหา จึงเสนอว่า “ควรปรับเป็นอัตราเดียวกันหมด เพื่อที่คนจะได้ไม่ไปเลือกลดราคามาแข่งกันในราคา 60 บาท”
‘ภาษีอัตราเดียว’คือทางออก สอดคล้องหลักสากล
สำหรับมุมมองของฝั่งเกษตรกรตัวจริง กิตติทัศน์ ผาทอง ผู้ประสานงานภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า อยากให้รัฐแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
“รู้สึกดีใจที่รัฐมนตรีและ ส.ส.หลายๆ ท่านต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งใหม่นี้ไม่ควรจะสร้างความผิดพลาดเหมือนครั้งก่อน ที่อยู่ดีๆ ก็เริ่มใช้อัตราภาษีแบบ 2 ขั้น ทั้งที่เมื่อก่อนก็ใช้อัตราเดียวมาตลอด ไม่เคยมีปัญหา พวกเราไม่เคยเดือดร้อน” กิตติทัศน์กล่าว
โครงสร้างภาษีในปัจจุบันยังสร้างผลลัพธ์ที่สวนทางกับวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีบุหรี่ โดยนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย เคยตั้งข้อสงสัยว่าระบบภาษีบุหรี่ปัจจุบันนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ทำให้รัฐได้รับภาษีน้อยลง ขณะที่คนไทยจะสูบบุหรี่มากขึ้น และได้เสนอให้ขึ้นภาษีบุหรี่ที่ราคาขายต่ำกว่า 60 บาท ให้สูงกว่าอัตรา 20% ในปัจจุบัน หรือไม่ก็ยกเลิกเส้นตัดแบ่งอัตราภาษีที่ราคา 60 บาท ให้เหลือเป็นภาษีอัตราเดียวกันทุกยี่ห้อทุกราคา
ในขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเมืองอย่าง ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษียาสูบและได้รับทุนวิจัยเกี่ยวกับนโยบายภาษียาเส้นจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เห็นด้วยว่า การใช้ภาษีอัตราเดียวเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดและเป็นไปตามหลักสากล โดยควรให้ภาษีตามปริมาณมีสัดส่วนมากกว่าภาษีตามมูลค่า เนื่องจากง่ายต่อการจัดเก็บภาษีและมีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคมากกว่าภาษีตามมูลค่า และอัตราภาษีควรให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคตามสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้รัฐกำหนดแผนการขึ้นภาษียาเส้นควบคู่ไปกับการขึ้นภาษีบุหรี่ด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้มีประสิทธิภาพ ลดพฤติกรรมการบริโภคสินค้าทดแทนบุหรี่ และเพิ่มรายได้รัฐตามมาด้วย
จากข้อมูลและความเห็นข้างต้น สะท้อนว่ามุมมองจากฟากการเมือง ภาคประชาชน และภาควิชาการ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อยู่ที่ว่าผู้ที่รับผิดชอบการปรับโครงสร้างภาษีในกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังว่าจะรับฟังหรือไม่