“พลังงานความร้อนใต้พิภพ” เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้า ได้จากพลังงานความร้อนตามธรรมชาติที่อยู่ใต้ผิวโลก ถือเป็นพลังงานที่มีข้อจำกัด หากจะมีการนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก
ความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแสวงหาพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้แทนแหล่งพลังงานดั้งเดิม คือ น้ำมัน และถ่านหิน แต่แหล่งพลังงานในประเทศ บางประเภทยังมีข้อจำกัด ทั้งด้านภูมิศาสตร์ และเชิงเศรษฐกิจ
“พลังงานความร้อนใต้พิภพ” เป็นแหล่งพลังงานที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้า แต่ถือเป็นพลังงานที่มีข้อจำกัด หากจะมีการนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก
พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นแหล่งพลังงานอีกประเภทที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ โดยได้จากพลังงานความร้อนตามธรรมชาติที่อยู่ใต้ผิวโลก มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ไม่หมด และเป็นแหล่งพลังงานที่ต้นทุนต่ำ อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานความร้อนที่อยู่ใต้ผิวโลก ที่มีการกักเก็บในรูปของน้ำร้อน หรือ ไอน้ำร้อน ซึ่งเกิดจากน้ำไหลซึมเข้าไปในบริเวณรอยแตกชั้นหินใต้ผิวโลก และได้รับความร้อนจากชั้นหินที่มีความร้อน จนเกิดน้ำร้อนและไอน้ำ
น้ำร้อนและไอน้ำที่เกิดขึ้น จะพยายามแทรกตัวมาตามรอยแตกของชั้นหิน ขึ้นมาบนผิวดิน ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งบ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ไอน้ำร้อน บ่อโคลนเดือด และแก๊ส
เทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ใช้หลักการเบื้องต้น โดยการนำน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ ขึ้นมา แยกสิ่งเจือปนออก แล้วทำให้ความดัน และอุณหภูมิลดลง ซึ่งจะได้ไอน้ำ จากนั้นเอาแรงอัดของไอน้ำที่ได้ไปหมุนกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า
ไอน้ำที่ไหลออกจากกังหันจะถูกทำให้เย็นลง แล้วนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือปล่อยกลับลงไปใต้ดินใหม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางเทคนิคของแต่ละโรงไฟฟ้าที่อาจมีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น
การผลิตกระแสไฟฟ้าจาก พลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศไทย
การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันศึกษาโดยเน้นพื้นที่ภาคเหนือ 2 แหล่ง คือ ที่อำเภอสันกำแพง และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ในปี 2532 กฟผ. ได้เลือกอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ แห่งแรกของไทย มีขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เนื่องจากพบว่า น้ำร้อนจากหลุมเจาะระดับตื้นของแหล่งอำเภอฝาง มีอัตราการไหลอย่างต่อเนื่อง และมีอุณหภูมิสูง ระหว่าง 118-130 องศาเซลเซียส อัตราการไหลรวมกันได้ประมาณ 30 ลิตรต่อวินาที มีความเหมาะสมต่อการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้
ตั้งแต่ปี 2532-2562 สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 44.26 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งเดียวในประเทศไทย โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ จะถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 8 เท่า รวมถึงค่าบำรุงรักษาและดูแลระบบยังถูกกว่าหลายเท่า รวมไปถึงอายุการใช้งานยาวนานกว่า
อีกทั้งผลพลอยได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ น้ำร้อนที่ผ่านระบบการผลิตไฟฟ้า จะมีอุณหภูมิต่ำลงเหลือประมาณ 80 องศาเซลเซียส สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอบแห้งพืชผลทางการเกษตร ในฤดูกาลที่พืชผลล้นตลาด เช่น หัวหอม กระเทียม ลำไย พริกแห้ง และยังสามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมงาน ด้านท่องเที่ยวของวนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงได้อีก เช่น ในกิจกรรมกายภาพบำบัด
ท้ายที่สุดคือน้ำทั้งหมดซึ่งยังมีสภาพเป็นน้ำอุ่นอยู่เล็กน้อย จะถูกปล่อยลงไปผสมกับน้ำตามธรรมชาติในลำน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้กำหนดเป้าหมายให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ขนาด 1 เมกะวัตต์ โดยจากผลการศึกษาของ ในปี 2549 พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพแหล่งน้ำพุร้อนประมาณ 112 แหล่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีอุณหภูมิน้ำร้อนที่ผิวดินอยู่ในช่วง 40-100 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะพบแหล่งน้ำพุร้อนที่มีต้นกำเนิดจากหินแกรนิต โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแนวรอยเลื่อน ส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคเหนือ เช่น แหล่งน้ำพุร้อนแม่จัน จังหวัดเชียงราย และ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
สถานภาพการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศไทย โดยภาพรวมแล้วยังถือว่าค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ และภาครัฐยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนใต้พิภพเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสำรวจศักยภาพของแหล่งพลังงานเหล่านี้ที่มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถใช้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ในปัจจุบันนี้มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศไทยแม้จะมีอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง มีอยู่ 5 แห่ง คือ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
จากข้อจำกัดของแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพมีค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าภาคเอกชนของไทย ออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพแหล่งความร้อนใต้พิภพและรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ ให้การสนับสนุน เพราะจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
กล่าวโดยสรุป “พลังงานความร้อนใต้พิภพ” เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ที่สามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า การมีแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานหลากหลาย ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ แม้แต่ละประเภทจะยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- พลังงานน้ำ สร้างเสถียรภาพค่าไฟ
- ขยะจากชุมชน กับการเสริมความมั่นคงของไฟฟ้าในประเทศ
- พลังงานลม (Wind Energy) หนุนความมั่นคงไฟฟ้าไทย