ศบค.พบผู้ติดเชื้อใหม่ 79 ราย “สมุทรสาคร-ปทุมธานี-ตาก” ยังต้องระวังเข้มงวด แจง 2 นางงามมิสแกรนด์ไม่แพร่โควิด สธ.เผยฉีดวัคซีน 17,697 คน ไร้คนแพ้รุนแรง พบหมอราชบุรีเป็นลม 1 ราย ชี้คนท้อง-ผู้ป่วยควรเลื่อนฉีด แนะหลังได้รับวัคซีนงดดื่มสุรา 3 วัน กักตัว 40 ตำรวจใกล้ชิด ด.ต.คุมม็อบป่วยโควิด
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม เวลา 11.30 น. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 79 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22 ราย แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 6 ราย, ชลบุรี 1 ราย, ปทุมธานี 3 ราย และสมุทรสาคร 12 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 43 ราย แบ่งเป็น จ.ปทุมธานี 5 ราย และสมุทรสาคร 38 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 12 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศผ่านเส้นทางธรรมชาติชายแดนเมียนมา 2 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 26,241 ราย มีผู้ป่วยหายเพิ่มขึ้นถึง 79 ราย รวมหายป่วยสะสมทั้งหมด 25,641 ราย อยู่ระหว่างรักษา 515 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดเสียชีวิตสะสม 85 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 116,209,059 ราย เสียชีวิตสะสม 2,580,827 ราย
พญ.พรรณประภากล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ถึงวันที่ 5 มี.ค. มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 11 จังหวัด ทั้งนี้ จากกรณีที่มีการผ่อนคลายให้มีการจัดประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2020 (Miss Grand International 2020) ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ที่ห้างสรรพสินค้าโชว์ดีซี ถนนพระราม 9 โดยมีผู้เข้าประกวดจาก 60 ชาติ เดินทางเข้ามา และต้องมีการกักตัว 14 วัน โดยตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 2 ราย เมื่อวันที่ 3-4 มี.ค. ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าเรามีระบบคัดกรองตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล
ขณะนี้จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่เป็นกลุ่มก้อนคือ จ.สมุทรสาคร ปทุมธานี และตาก ตามแนวชายแดน จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ป้องกันและเฝ้าระวังตัวเองอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันตนเองและครอบครัว และไม่แพร่กระจายเชื้อไปยังชุมชนและพื้นที่รอบข้าง
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม 28 ก.พ.- 4 มี.ค.64 มีจำนวน 17,697 คน แบ่งเป็นบุคลาการทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 15,981 คน, เจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสโรค 1,603 คน, ผู้มีโรคประจำตัว 22 คน, ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 คน โดยพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน 270 คน เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด 24%, คลื่นไส้ 15%, เวียนศีรษะ 13% และปวดกล้ามเนื้อ 8% โดยยังไม่พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหลังได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ สธ.ยังมีข้อแนะนำในการเตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีน โดยกลุ่มที่ต้องเลื่อนนัดฉีดวัคซีนออกไปก่อน เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่กำลังรักษาอาการป่วยรุนแรง ให้เลื่อนไปจนกว่าจะหายดี รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วยก่อนฉีดวัคซีน เช่น ไข้สูง หรือท้องเสียรุนแรง ส่วนผู้ที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีนหรือแพ้ยา ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีด ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับวัคซีนควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหารก่อนการฉีดวัคซีน ระหว่างพักสังเกตอาการ 30 นาทีแรก หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม ต้องรีบแจ้งพยาบาลทันที หลังกลับถึงบ้านต้องตรวจเช็กตัวเองตลอดเวลา หากมีไข้สูง ปวดเนื้อตัว ปากเบี้ยว ชักเกร็ง ต้องเข้ารับการรักษาและแจ้งอาการว่าเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19
อย่างไรก็ตาม หลังฉีดวัคซีนโควิดแล้ว สามารถฉีดยาและวัคซีนอื่นๆ ได้ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยให้เว้นระยะ 2-4 สัปดาห์ ส่วนยาอื่นๆ ฉีดได้โดยให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ที่ดื่มสุรา หลังฉีดวัคซีนขอให้งดดื่มสุรา เพื่อให้เห็นอาการไม่พึงประสงค์อย่างชัดเจน ว่าอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เกิดจากวัคซีนหรือไม่ นอกจากนี้ การดื่มสุรายังอาจมีผลกดการสร้างภูมิคุ้มกัน หลังได้รับวัคซีนควรงดดื่มสุราอย่างน้อย 3 วัน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ได้รับรายงานพบแพทย์ที่รับวัคซีนโควิด-19 ใน จ.ราชบุรี เกิดอาการเป็นลมหน้ามืด และเมื่อรักษาอาการก็ดีขึ้น เบื้องต้นไม่พบประวัติการแพ้ยามาก่อน จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ คณะอนุกรรรมอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า จากการพิจารณาของที่ประชุมคณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ในแพทย์หญิงวัย 28 ปี รพ.สมุทรสาคร ที่มีอาการท้องเสีย 4 ครั้ง พบไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน น่าจะเกิดจากการติดเชื้ออย่างอื่น เพราะก่อนหน้านี้บริโภคอาหารทะเล อาจทำให้เกิดอาการได้ ส่วนในแพทย์รายที่ 2 จ.ราชบุรี ที่รับวัคซีน แล้วเกิดอาการเป็นลมหน้ามืดนั้น ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานเช่นกัน แต่คาดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนติดไวรัสโควิด-19 ว่าได้รับรายงานจากสำนักงานแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ได้นำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจมากักตัวเพื่อดูอาการที่ รพ.จำนวน 24 คน ให้กักตัวสังเกตอาการที่บ้าน 16 คน และผู้ป่วย 1 คน รวมเป็น 41 คน
“เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดเชื้อปฏิบัติหน้าที่วันที่ 28 ก.พ.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้า แต่มีหน้าที่คุมรถผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจในหมวดของเขาที่รับผิดชอบทางแพทย์ได้เข้าไปพูดคุยซักถามคัดแยก สรุปได้ว่านำตัวมาดูอาการที่ รพ.ตำรวจ 24 คน รวมคนป่วย 25 คน เราฟังตามคำแนะนำของหมอเป็นหลัก” ผบ.ตร. ระบุ
โดยในวันดังกล่าวรถควบคุมผู้ต้องหาไม่ได้ใช้ ส่วนที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเข้าพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องระวัง ในเรื่องของสอบสวนโรคต่อยังไม่จบแค่นี้ แต่ในชั้นต้นเป็นอย่างนี้ และได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาไปซักถามติดตามผลไป เพราะอะไร สมควรไปหรือไม่ มีความผิดอะไรหรือไม่ ค่อยว่ากันตรงนั้น คืบหน้าอย่างไร จะให้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงให้ทราบต่อไป
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกทีมเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้หารือมาตรการดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งรวมถึงแนวทางต่างๆ ประกอบกับการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาโดยเร็วที่สุด มาตรการส่งเสริมและจูงใจการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ และการส่งออกสินค้า นอกจากนี้ยังได้มีการติดตามมาตรการดูแลประชาชนระดับฐานราก และมาตรการเยียวยาฟื้นฟูต่างๆ ด้วย
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นำโดย ผศ.ดร.จิดาภา ถิรศิริกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้น ม.ปลาย อายุต่ำกว่า 18 ปี ในเขต กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง จำนวน 1,328 หน่วยตัวอย่าง เรื่องสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 2 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.5 มีความสุขต่อการศึกษาในรูปแบบออนไลน์อยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 47.3 มีความพึงพอใจในการจัดการและมาตรการต่างๆ ของรัฐอยู่ในระดับปานกลาง รวมทั้งหากรัฐบาลมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากรัฐบาลในระดับปานกลาง.