ส.อ.ท. ชงเรื่องถึง “สุชาติ ชมกลิ่น” ขอขยายเวลาลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมถึง มิ.ย. 2564 ช่วยเหลือนายจ้างขาดสภาพคล่อง
วันที่ 5 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยการนำของ นายสุชาติ จันทรานาคราช ในฐานะรองประธาน ส.อ.ท. ได้ยื่นหนังสือเรื่อง มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า
ตามที่กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ในการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 เดือน คือระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 นั้น โดยกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบที่ร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนจ่ายสมทบที่ร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ ส.อ.ท.สนับสนุน เพราะสามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและผู้ประกันตน ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
โดย ส.อ.ท.ระบุว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้ประกันตนแล้วนั้น ภาครัฐก็ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ยังคงมีการกระจายตัวอยู่ อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ปรับเข้าสู่สภาวะปกติ จึงได้นำเสนอให้กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม “คงมาตรการ” ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้วยการเสนอให้ ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมทั้ง “ขยาย” ระยะเวลา (กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบฯ ฉบับที่ 2) ประกอบด้วย 1) ขยายเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2564 เนื่องจากการขาดสภาพคล่องของธุรกิจ
2) ขอเสนอให้มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ส่วนของนายจ้างจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
และ 3) เสนอให้มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของผู้ประกันตน มาตรา 33 โดยขอให้คงที่อัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ซึ่งคาดว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ รายงานเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม “21 มาตรการ” เช่น กระทรวงการคลัง ที่ได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาให้ประชาชนและกิจการขนาดเล็ก โครงการเราชนะ และโครงการคนละครึ่ง ด้านกรมสรรพากร มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ขยายเวลายื่นแบบภาษีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต มาตรการภาษีเพื่อสนันสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ และมาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
ด้านกรมสรรพสามิต มีมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงการบิน) ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกระทรวงแรงงาน มีโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาโดยภาครัฐและเอกชน (Co-payment) โครงการ “ม.33เรารักกัน”
การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา