ผู้ชุมนุมจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “รีเด็ม” (REDEM) ชุมนุมหน้าศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก มีการจัดกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนห้ามรุกล้ำเข้าไปในเขตศาลไม่ใช่นั้นจะดำเนินการตามความจำเป็น
แม้ว่าตำรวจจะประกาศขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมในเวลา 18.00 น. แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีการปะทะกัน จนยุติในเวลา 21.00 น.
มวลชนได้เริ่มเคลื่อนขบวนจากห้าแยกลาดพร้าวมาตามถนนพหลโยธินเมื่อเวลา 17.45 น. จนกระทั่งมาถึงบริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกในเวลาประมาณ 18.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างการชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกนด่าทอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับร้องตะโกนคำว่า ปล่อยเพื่อนเรา, ยกเลิก 112, ศาลต้องรับใช้ประชาชน พร้อมระบุว่า “เรามาอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง เพราะเราคือราษฎร”
นอกจากนี้ยังพบว่าการเผาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
เจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งแผงเหล็ก รั้วลวดหนามหีบเพลง ตาข่ายพลาสติก คุ้มกันบริเวณศาลอาญา และมีตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนหนึ่งประจำการอยู่ภายในเขตศาลอาญา
ทันทีที่ผู้ชุมนุมไปถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศผ่านรถเครื่องขยายเสียงแจ้งว่าการจัดกิจกรรมนี้ เป็นการกระทำผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เจ้าหน้าที่จึงขอความร่วมมือให้ทำตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป
นอกจากนี้ตำรวจยังยืนยันว่า พื้นที่หน้าศาลอาญาซึ่งมีข้อกำหนดของศาลระบุเงื่อนไขการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ไว้ ห้ามไม่ให้ผู้ใดประพฤติตนไม่เรียบร้อยรอบศาลอาญา ปีนรั้ว เข้ามาในศาล ใช้คำพูดในทางก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ใช้เครื่องขยายเสียง ถ่ายทอดผ่านโซเชียลฯ เจ้าหน้าที่ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และยืนยันว่าจะควบคุมสถานการณ์เท่านั้น และจะปฏิบัติตามกฎหมายและความจำเป็น ขออย่าปืน หรือกระทำการใดๆ อย่าล่วงล้ำเข้ามาในเขตศาลอาญาโดยเด็ดขาด
จับตัว “โตโต้”
ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาที่ศาลอาญา ได้เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับกุมตัวนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำกลุ่มวีโว่ที่เมเจอร์รัชโยธิน ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมในวันนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อเวลา 19.03 น. ทีมการ์ดที่ถูกจับหลายสิบคน ถูกแยกขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง 3 คัน ส่วนโตโต้ ถูกเจ้าหน้าที่แยกคุมตัวไปคนเดียวและไปถึง บก.ตชด.ภาค 1 แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชุมนุมวันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีกลุ่มคนใส่เสื้อกั๊กสีส้มสะท้อนแสง ที่เรียกตัวเองว่า “ทีมสันติวิธี” เข้ามาควบคุมดูแลพื้นที่ชุมนุม โดยทางกลุ่มระบุว่า มีสมาชิกราว 50 คน และไม่ได้สังกัดกลุ่ม “รีเด็ม” แต่มาในนาม “มวลชน”
กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 32 กองร้อย เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยตามการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ พร้อมเตือนหากบุกเข้าศาล จะถูกจับกุมทันที
ความเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. แสดงความเป็นห่วงมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลของผู้ชุมนุมระบุว่าไม่มีแกนนำ และที่ผ่านมาในการชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) เมื่อ 28 ก.พ. มีการใช้ความรุนแรง และปะทะกับเจ้าหน้า จึงต้องจับตาดูสถานการณ์เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท. ภัคพงศ์กล่าวว่า ได้กำชับทุกหน่วยงานที่ต้องลงพื้นที่ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการควบคุมดูแลการชุมนุม และไม่ให้ คฝ. ปฏิบัติเกินกว่ากฎหมายและหน้าที่
2 ชม. ก่อนแนวร่วมรีเด็มจะเดินทางไปถึงศาล รอง ผบช.น. 2 คนคือ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย และ พล.ต.ต. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ได้เดินทางไปตรวจสอบความเรียบร้อยของกำลังตำรวจ คฝ. พร้อมระบุกับสื่อมวลชนว่าหากผู้ชุมนุมเข้ามาทำลายทรัพย์สิน หรือบุกฝ่าเข้าไปในศาล ก็ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งตำรวจสามารถควบคุมตัวหรือจับกุมตัวได้ตามกฎหมายทันที
วันเดียว มีนัดหมายชุมนุม 4 จุดหลัก
วันนี้ (6 มี.ค.) มีประชาชนอย่างน้อย 6 กลุ่มนัดจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยที่ 4 กลุ่มเป็นแนวร่วมของผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เดิม ขณะที่ประชาชนอีก 2 กลุ่มเป็นเครือข่ายภาคีปกป้องสถาบันฯ
กลุ่ม “ราษฎร” เครือข่ายภาคประชาชน People Go Network และกลุ่ม “Unme of Anarchy” จัดกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจให้ประชาชน” ต่อเนื่องเป็นวันที่ 16 โดยเริ่มเดินเท้าจากตลาดนัดเซียร์ รังสิต เวลา 09.00 น. ปลายทางแยก ม.เกษตร บางเขน มาถึงปลายทางแยก ม.เกษตร บางเขน เวลา 16.55 น. ซึ่งทันทีที่ไปถึง มวลชนได้พร้อมใจกันส่งเสียงตะโกน “ยกเลิกรัฐธรรมนูญ” และ “ประยุทธ์ออกไป” ทั้งนี้ ม.เกษตรศาสตร์ อยู่ฝั่งตรงข้ามของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งแกนนำราษฎร 4 คนถูกจองจำอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องดั้งเดิมตั้งแต่ปี 2563 คือ 1 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก ต้องลาออกจากรัฐบาล 2. ให้มีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญและแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอจากประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังเพิ่ม 2 ข้อเรียกร้องใหม่คือ ให้รัฐบาลปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แนวร่วม “แดงก้าวหน้า 63” และภาคี “แดงใหม่ 4 ภาค” นัดรวมพลที่ห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต เวลา 13.00 น. ก่อน “เดินขบวนแรลลี่ขับไล่เผด็จการ” ไปยังกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร. 11 ทม.รอ.) บางเขน แต่ในระหว่างทางนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท แกนนำคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่ร่วมกิจกรรมด้วย ได้แจ้งเปลี่ยนสถานปลายทางเป็นศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งมีบ้านทรงไทยของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ตั้งอยู่ด้วย
นายสิระออกปากเตือนผู้ชุมนุมผ่านสื่อว่า “อย่าล้ำเส้น” หากใครรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ส่วนบุคคลด้วยเจตนาปองร้ายต่อตัวเขาหรือทรัพย์สิน ก็สามารถใช้อาวุธป้องกันความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้ตามกฎหมาย
กลุ่ม “อาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” นัดชุมนุมที่ ร. 11 ทม.รอ. เวลา 15.00 น. ชู 2 ข้อเรียกร้องคือ ให้รัฐบาลและองคาพยพต้องลาออก และแก้รัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้ประชาชน โดยตัดข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ออกไป ทั้งนี้เดิมกลุ่มอาชีวะไล่เผด็จการได้นัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ก่อนแจ้งเปลี่ยนสถานที่เพื่อไปสมทบกับคนเสื้อแดง แต่แล้วพวกเขาก็ต้องเปลี่ยนสถานที่รวมพลอีกครั้งเมื่อคนเสื้อแดงเปลี่ยนพิกัดปลายทาง
กลุ่ม “รีเด็ม” (REDEM – Restart Democracy) ซึ่งนิยามตัวเองว่า “ไม่มีแกนนำ” มีแต่แกนนัดหมายชุมนุมเป็นครั้งที่ 2 ให้รวมตัวที่ห้าแยกลาดพร้าว เวลา 17.00 น. ก่อนเดินเท้าไปศาลอาญา ถ.รัชดา ภายใต้คำขวัญ “ขนขยะมาทิ้งหน้าศาล” โดยประกาศ 3 ข้อเรียกร้องคือ 1. จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ 2. ขับไล่ทหารออกจากการเมือง 3. ลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) นัดรวมพลที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เวลา 12.00 น. ก่อนเดินทางไปสมทบกับคนเสื้อเหลืองที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์
กลุ่ม “อาชีวะปกป้องสถาบัน” นัดหมายชุมนุมแสดงพลังปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ เวลา 13.00 น. โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วม 8 องค์กร ซึ่งแกนนำจัดกิจกรรมระบุว่าเหตุที่ทำให้พวกเขาออกมาชุมนุมเพราะ “รับไม่ได้” กับกรณีนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ แนวร่วมกลุ่ม “ราษฎร” ก่อเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร. 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม เมื่อ 28 ก.พ. และเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศก็รู้สึกไม่ต่างกัน
ตร. เตือนร่วมชุมนุมผิด กม. 4 ฉบับ
นึ่งวันก่อนถึงนัดหมายนัดกิจกรรมการเมืองของประชาชนหลายกลุ่ม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 5) โดยห้ามจัดชุมนุมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, นนทบุรี, นครปฐม และปทุมธานี หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตำรวจดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมไปแล้ว 22 ราย และคดีอื่น ๆ รวม 158 คดี ส่งสำนวนพนักงานอัยการแล้ว 116 คดี อยู่ระหว่างสืบสวน 42 คดี
นอกจากนี้โฆษก บช.น. ยังแจ้งเตือนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมว่าอาจมีความผิดตามกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ และได้รับโทษ 7 ข้อหา ดังนี้
- พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ฐานร่วมกันชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด >> จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34(6), 51 ฐานกระทำใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ที่เป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคแพร่ระบาดออกไป, ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ >> ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต >> ปรับไม่เกิน 200 บาท
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง >> จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ฐานเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไป แล้วผู้ใดไม่เลิก >> จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์สินให้เกิดความเสียหาย >> จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ฐานทำให้ทรัพย์สินสาธารณะประโยชน์เสียหาย >> จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ