สพป.แพร่ เขต 1 ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรายนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564นายอนุสรณ์ พรมรังกา ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่ สังกัด สพป.แพร่ เขต 1 กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า สพป.แพร่ เขต 1 โดยการนำของนายอภิรักษ์ อิ่มจิตอนุสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เชต 1 ได้มีนโยบายการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยและเร่งรัดการอ่านออกเขียนได้ ประจำปีงบประมาณ 2564 ขึ้น
โดยได้จัดทำแนวทางการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านและเขียนนักเรียน ให้โรงเรียนในสังกัดได้นำแนวทางไปขับเคลื่อนพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดในการจัดการเรียนการสอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ที่โรงเรียนต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากการเรียนในสถานการณ์ปกติและกระทรวงศึกษาธิการมีประกาศปรับลดเวลาเรียนลงด้วย
ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนได้มีการพัฒนาความสามารถในการอ่านและการเขียนให้ได้มาตรฐานตามหลักสูตรและช่วงวัย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ต่อไป โดย สพป.แพร่ เขค 1 ได้กำหนดขั้นตอนการการพัฒนาคุณภาพการอ่านการเขียนนักเรียนเป็น 7 ขั้นตอน คือ (1). สร้าง : สร้างความตระหนัก (2). สำรวจ : คัดกรองจัดกลุ่มเด็ก (3). สื่อ : ผลิตสื่อ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (4). สอน : ใช้วิธีสอนที่สอดคล้องกับศักยภาพความต้องการของนักเรียน (5). สอบ : ประเมินผลการอ่านการเขียนเด็ก (6). เสริม : นำผลประเมินมาส่งเสริมเด็กเก่ง แก้ปัญหาเด็กอ่อนโดยการสอนซ่อมเสริม และ (7). สนับสนุน : จัดกิจกรรมท้าพิสูจน์นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 อ่านออกเขียนได้ 100 %
โดยในวันนี้วันที่ 8 มีนาคม 2564 สพป.แพร่ เขต 1 ได้มอบหมายให้นางภนิดา ทองประไพ และนางสาวจิระฐา ศรีภานุมาต ศึกษานิเทศก์ประจำกลุ่มเครือข่ายการศึกษามิ่งเมือง ได้มานิเทศติดตามผลการดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยและเร่งรัดการอ่านออกเขียนได้ของโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงขั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปรากฏว่า โรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุงโดยครูประจำชั้นและครูผู้สอน ได้ดำเนินการพัฒนาด้านการอ่านการเขียนอย่างเป็นระบบและมีความเข้มข้นทุกชั้นเรียน มีการใช้วิธีการการเรียนการสอนที่หลากหลาย มีการใช้ใบงาน แบบฝึกและสื่อการเรียนเพื่อพัฒนาให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้และอ่านคล่องเขียนคล่อง มีการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่มีผลการอ่านและเขียนยังไม่น่าพึงพอใจ
ผอ.ร.รัฐราษฎร์บำรุง กล่าวกับผู้สื่อข่าวในตอนท้ายว่า ซึ่งจากผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านและเขียนของนักเรียนในครั้งที่ 2 ประจำภาคเรียนที่ 2 ด้วยข้อทดสอบกลาง ปรากฏว่านักเรียนโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุงทุกชั้นเรียนมีพัฒนาการและความก้าวหน้าความสามารถด้านการอ่านและเขียนดีขึ้นกว่าเดิมทุกชั้นเรียน โดยนักเรียนเกินกว่าร้อยละ 90 มีผลการอ่านและเขียนระดับดีและดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนร้อยละ 100มีสามารถอ่านและเขียนในระดับดีและดีมากทุกคน จึงขอชื่นชมผู้บริหารและคณะครูบุคลากรทุกท่านที่ได้มุ่งมั่นพัฒนาด้านการอ่านและเขียนของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง