ผลสำรวจ 109 บริษัท กว่า 50,000 ชีวิต สมาชิกของ ส.อ.ท. วอนรัฐอนุญาตให้เอกชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ “ซิโนแวค” ให้แรงงานเอง ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ยอมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองโดสละ 1,000 บาท และยังลดข้อกังขาภาษีคนไทยช่วยคนต่างชาติ
วันที่ 18 มีนาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ส.อ.ท. สอบถามความต้องการเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ออกไปเพียง 1 สัปดาห์ พบว่ามีสมาชิกแสดงความจำนงขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 51,000 ราย จาก 109 บริษัท ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าโรงงานต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความพร้อมในการจัดซื้อวัคซีน โดสละกว่า 1,000 บาท (ต้องฉีดคนละ 2 โดส)
เพื่อดูแลแรงงานและสถานประกอบการของตนให้รอดพ้นจากความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยพบว่าผู้ประกอบการกว่า 60% ที่แสดงความต้องการฉีดวัคซีนนั้น อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพและสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก
นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ส.อ.ท. จะเป็นผู้แทนภาคอุตสาหกรรมไทยสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้
โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งวัคซีนที่จะฉีดตอนนี้คือวัคซีนจาก “ซิโนแวค” ถือเป็น 1 ใน 2 ของวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว โดยผู้ที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้วจะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) และสามารถตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนย้อนหลังได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ส.อ.ท. จะเดินหน้าหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขจังหวัด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเข้าไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนมาก เพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากที่จะไปรอรับการฉีดวัคซีน
สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนไม่มาก ให้ไปรับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ โดยอาจมีการปรับโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ยังคงเดินหน้าเปิดรับความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เฟส 2 ต่อไป โดยจะปิดรับในวันที่ 31 มีนาคม 2564 นี้
“กลุ่มอาหาร การแพทย์เป็นกลุ่มที่ต้องการฉีดมากที่สุด และคาดจะมีจำนวนบริษัทเพิ่มมาอีก เป็นกลุ่มยานยนต์ โรงกลั่น เหล็ก เพราะพวกนี้เครื่องจักรหยุดไม่ได้ ดังนั้นคนของเขาจึงต้องปลอดภัยที่สุด
บางบริษัทเขายอมควักเงินจ่ายให้กับพนักงานที่ไม่ใช่คนไทย เพราะเขาต้องพึ่งพาคนเหล่านี้ในการทำงาน ซึ่งมันจะลดข้อกังขาที่ว่าเอาภาษีคนไทยไปช่วยคนต่างชาติด้วย เพราะเอกชนจะแบกรับภาระนี้เอง” นายปณิธาน กล่าว
-
ภาคธุรกิจ ห่วงแพร่ระบาดโควิดครั้งใหม่ ฉุดความเชื่อมั่นต่ำสุดระดับ 29.6
- รัฐเปิดช่องกระจาย “วัคซีน” ต้อนโรงพยาบาลซื้อองค์การเภสัชโดสละ 1,000 บาท