เพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมทดสอบตลาด โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พร้อมด้วยนายธีระชัย ลิขิตสมบูรณ์ รองประธานบริหารศูนย์การค้า เจเจ มอลล์ โดยมี นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนายการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายนพรัตน์ ธำรงทรัพย์ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ นายสมชาย หริกุลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร นายพัลลภ ตันจนิยภรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์รักษาการราชการแทนผู้อำนวยการ เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมทดสอบตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ จากหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 29 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 87 ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งเดินชมบูธผลิตภัณฑ์ ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเจเจมอลล์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 17 – 21 มีนาคม 2564
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการขับเคลื่อน ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นปีที่ 3 โดยโครงการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ได้มีการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพและมีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม มีโบราณสถาน ศิลปะวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ OTOP ที่หลากหลาย พัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และน่าสนใจ เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ถึงแม้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมการพัฒนาชุมชนก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน ด้วยการท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยใช้เทคโนโลยีปลุกกระแสท่องเที่ยวชุมชน Tour From Home ผ่านระบบ GIS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยว พัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ รวมถึงสร้างการรับรู้ ส่งเสริมการตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในรูปแบบ New Normal เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถให้นักท่องเที่ยว สามารถสืบค้นข้อมูลก่อนเดินทาง พร้อมเพิ่มบริการชุมชนที่สนใจ ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว ยังเป็นช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ผลิต หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้มีรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ แก่สมาชิกกลุ่ม ผ่านกิจกรรมทดสอบตลาด โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง พัฒนาหมู่บ้านให้ได้ใช้ศักยภาพของตนและเตรียมความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่อง ทักษะการบริหารจัดการของหมู่บ้าน กิจกรรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยว โปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ เพื่อสร้างมูลค่าและความคุ้มค่าผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว สามารถลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองตามแนวทาง D-HOPE (Decentralized Hand – On Program Exhibition)
นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนายการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าววัตถุประสงค์ กิจกรรมทดสอบตลาด โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ผ่านวิถีชีวิต เช่น การบริโภค อาหาร ภาษา ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีอยู่ในชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการพัฒนาและรูปแบบที่ทันสมัย รวมถึงยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นผลิตภัณฑ์ Premium สำหรับจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ จะมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ Premium จำนวน 3 คลัสเตอร์ คือ 1) ผู้ผลิตผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 87 ผลิตภัณฑ์ 2) กิจกรรมพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ ดำเนินการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 87 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นผลิตภัณฑ์ Premium 3) ดำเนินการจัดกิจกรรมทดสอบตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์
โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รวมทั้งสิ้น 87 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานจาก 29 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ตามแหล่งท่องเที่ยวเชิงอารยธรรมซึ่งได้รับการแปลงโฉมเติมไอเดีย กลายเป็นสินค้าสุดสร้างสรรค์ ทั้งของกินเมนูเด็ดน่าลิ้มลอง ของใช้ไอเดียดีๆ และของฝากที่มีดีไซน์ อาทิ ซั่วไก่บ้าน จ.กาฬสินธุ์ น้ำพริกปลาช่อนหลาม จ.นครพนม ปลาส้ม ซอสหม่าล่า จ.ลพบุรี ไตปลาฟู จ.นครศรีธรรมราช รถช้อปเปอร์จากไม้สัก จ.แพร่ อัญมณีเสริมโชคลาภ จ.จันทบุรี กระเป๋าผ้าปกาเกอะญอ จ.ตาก รวมถึงการแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรม และการแจกของที่ระลึกจากสินค้า OTOP เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นผลิตภัณฑ์ Premium การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม และการส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับสินค้า OTOP ของไทยให้มาตรฐานและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติม การจัดงานในครั้งนี้ คาดว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาท ซึ่งเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการจากชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้มีโอกาสที่จะขยายกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และได้นำประสบการณ์ครั้งนี้ไปในพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนการตลาด ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายผ่านการใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าและยกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในเขตเมือง นำมาจัดแสดงและจำหน่าย ในพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างโอกาส จัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้า เพื่อเพิ่มช่องการกระจายสินค้า ให้ผู้ประกอบการ OTOP สร้างอาชีพเชื่อมโยงเครือข่ายและต่อยอดการค้า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชน รวมถึงสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่าย ภายในประเทศ และสร้างรายได้ให้ประชาชน
จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน ร่วมงาน ร่วมอุดหนุน เลือกซื้อ สินค้าของคนไทย จากชุมชนแหล่งท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มีความหลากหลาย และมีความน่าสนใจ รวมถึงยังมีการจับรางวัลชิงโชคแก่ผู้เข้าร่วมงาน ในกิจกรรมทดสอบตลาด โครงการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารพื้นถิ่นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ระหว่างวันที่ 17 – 21 มีนาคม 2564 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้า เจเจ มอลล์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 19.00 น. เพื่อให้ทุกท่านเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสินค้าชุมชนและช่วยเหลือให้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป