ศบค.คลายล็อกโควิด ไม่เอื้อต่างชาติเข้าไทย
หมายเหตุ – นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุมผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และความเห็นภาคธุรกิจเอกชน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
โฆษก ศบค.
ในด้านมาตรการการกักตัว เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานว่า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้จำนวนมาก บางคนมีการเข้าออกประเทศถึง 7 ครั้งต่อปี ดังนั้นจะมีการปรับรูปแบบ โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาออกค่าใช้จ่าย โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป จะปรับสถานที่กักตัวให้เหลือเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ที่คาดว่าจะมีการกระจายวัคซีนแล้วจะปรับรูปแบบเป็นสถานที่คุมไว้สังเกต โดยผู้ที่จะเดินทางเข้ามา จากเดิมที่ต้องมีใบรับรองการบิน (FIT TO FLY) กับผลการตรวจโควิด-19 จะเหลือเพียงผลการตรวจโควิด-19 เพียงอย่างเดียว และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน จะให้ผู้ที่เข้าสถานที่กักตัวของรัฐสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ ใช้ห้องฟิตเนสได้ ออกกำลังกายกลางแจ้งได้ ใช้สระว่ายน้ำได้ ปั่นจักรยานในพื้นที่ปิดได้ และซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกได้
จากนั้นวันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน สามารถรับประทานอาหารในห้องอาหารของโรงแรมได้ รวมถึงใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพได้ และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จะกำหนดให้มีการกักตัวเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับลดระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ให้ลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน เว้นแต่กรณีผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดว่าต้องกักตัว 14 วัน
ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังได้เห็นชอบแนวทางการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ โดยกิจกรรมที่จัดได้ ได้แก่ สรงน้ำพระ กิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา การจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีนิยม หรือรูปแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด อนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดได้ทุกท้องที่
แต่งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ประกอบด้วย งดรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ งดการจัดคอนเสิร์ต งดการจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันใกล้ชิดคือ งดประแป้ง และงดการเล่นปาร์ตี้โฟม
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดังนั้น ภาพการสาดน้ำจะไม่เกิดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์นี้ แต่เป็นการย้อนกลับไปจัดงานแบบวิถีไทยดั้งเดิม ซึ่งไม่ได้มีการพูดเรื่องกฎหมาย หรือว่าจะไปบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ออกไป 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม
สำหรับมาตรการผ่อนคลายในพื้นที่สีส้มกับสีเหลืองมีความใกล้เคียงกัน โดยพื้นที่สีส้ม ร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้เปิดถึง 23.00 น.แต่พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ให้เปิดถึง 24.00 น. ส่วนกิจกรรมอื่นให้เปิดบริการตามปกติ
ในที่ประชุม นายกฯได้มีข้อห่วงใยโดยเน้นย้ำว่าในช่วงนี้ขอให้ผู้ที่ประกอบกิจการกิจกรรมทั้งหลาย ได้พิจารณาขอบเขตของอาณาบริเวณพื้นที่ ที่จะใช้จัดกิจกรรม กิจการให้ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงนี้ตลาดเป็นเรื่องที่น่ากังวล และให้ความห่วงใยมากคือช่องทางเข้าออกจะต้องมีการใช้เพียงช่องทางเดียว
โดยได้บอกไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อเน้นย้ำไปหลายครั้ง รวมไปถึงเรื่องความเหมาะสมขนาดของกิจการกิจกรรม สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ เว้นระยะห่าง มีจุดวัดอุณหภูมิ มีที่ให้บริการล้างมือ และใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ ไทยชนะ
และที่สำคัญที่สุดช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลในครั้งนี้คือการดื่ม การขาดสติจากการดื่มสุรานายกรัฐมนตรีก็บอกด้วยว่า ขอด้วยก็แล้วกันในครั้งนี้ถึงแม้จะผ่อนคลายขึ้นมามาก แต่สติที่เรายังดีอยู่จะช่วยให้ทำงานด้านนี้ได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องการเห็นภาพของผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เราจะต้องมารายงานกัน เมื่อปีก่อนได้ขอความร่วมมือทางจังหวัดในช่วงของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งผมได้มาแถลงว่าแต่ละจังหวัดจะงดการขายสุราขึ้นมาเอง ซึ่งจะทำให้ตัวเลขของการเสียชีวิตต่ำที่สุดในช่วงเวลาที่เราเคยมีมา
ดังนั้น เมื่อการงดดื่มหรืองดจำหน่ายสุรารวมกับตัวเลขจากโควิด-19 แล้ว ไม่ทำให้เกิดตัวเลขการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดว่าจะประกาศใช้อย่างไรประชาชนจะให้ความร่วมมือกันอย่างไร เพราะถ้าทุกคนร่วมมือกันเราก็จะปลอดโควิด-19 และการบาดเจ็บและการเสียชีวิต จากการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการดื่มสุราก็จะลดน้อยลงไปด้วย
วิชิต ประกอบโกศล
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)
จากมติของ ศบค.ที่ลดวันกักตัวเหลือ 10 วันจากเดิม 14 วันนั้น ประเมินว่ายังไม่ได้เป็นการผ่อนปรนที่ช่วยเอื้อให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยได้สะดวกมากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวไทย แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า อยากเข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่ต้องกักตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกี่วันก็ตาม เนื่องจากต่างชาติที่จะเข้ามานั้น เน้นเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ครบทั้ง 2 โดสแล้วเท่านั้น ทำให้ความปลอดภัยในการเข้ามามีสูงมาก
ซึ่งตราบใดยังมีข้อกำหนดให้ต่างชาติที่จะเข้ามาต้องกักตัวอยู่ แม้จะลดเหลือ 10 วัน แต่ก็ยังไม่ได้เป็นส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจและดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาได้ บวกกับขณะนี้หลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัวแล้ว โดยมีข้อกำหนดคือ ขอแค่ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 โดสก่อนเท่านั้น ทำให้ตอนนี้เมื่อมีตัวเลือกประเทศท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางไปได้ง่ายมากขึ้น ประเทศไทยก็อาจไม่ได้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการเดินทางมาแล้ว
ความจริงแล้วเอกชนเสนอให้รัฐบาลพิจารณา การเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่ต้องกักตัว เริ่มตั้งแต่กรกฎาคมหรือเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากหากรอจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตามที่รัฐบาลกำหนดการเปิดประเทศนั้น อาจล่าช้าเกินไป เพราะแม้จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทะลักเข้ามาจำนวนหลายล้านคนได้ตั้งแต่เปิดในเดือนแรกๆ ทำให้ต้องใช้เวลาในการสะสมนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย โดยการที่ภาคท่องเที่ยวเรียกร้องขอให้ต่างชาติเข้ามาในเดือนกรกฎาคมหรือมิถุนายนนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้เปิดครั้งเดียวทะลักเข้ามาทันที
แต่เป็นการทยอยนำต่างชาติเข้ามา เพื่อดึงบรรยากาศการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนก่อนถึงฤดูกาลในการท่องเที่ยวของต่างชาติจริง ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี (ตุลาคม-ธันวาคม) โดยอยากให้นำร่องเข้ามายังจังหวัดที่รองรับต่างชาติในสัดส่วนสูงๆ ก่อน อาทิ จังหวัดภูเก็ต สมุย กระบี่ พังงา เพราะพื้นที่มีความเป็นเกาะอยู่แล้ว ทำให้การเข้ามาสามารถควบคุมได้ง่ายกว่าการปล่อยให้เข้ามาในพื้นที่ปกติ
การที่ประเทศไทยมีคลัสเตอร์ใหม่ในการระบาดโควิด-19 และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมนั้น ยังไม่ได้มีความกังวลมากนัก เพราะต้นเหตุและพื้นที่ของการระบาดอยู่ในจังหวัดที่ไม่ได้รองรับต่างชาติ รวมถึงประเมินระยะเวลากว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม ที่อยากให้เปิดประเทศ ก็เหลือเวลาในการควบคุมการระบาดในประเทศอีกค่อนข้างนาน ซึ่งเชื่อว่าสาธารณสุขไทยน่าจะสามารถจัดการได้ จึงไม่ได้กังวลมากนัก
การขอให้รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในรูปแบบกำหนดเฉพาะพื้นที่ในการรองรับ สอดคล้องกับแนวคิดของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ในส่วนของ “แซนด์บ็อกซ์” ที่มองว่าหากสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ-กลางเข้ามาได้ก่อน และนำร่องในเมืองท่องเที่ยวอาทิ ภูเก็ต สมุย กระบี่ ได้ ก็จะเป็นตัวอย่างว่าแนวคิดดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากหรือน้อยเพียงใด โดยจากนี้จะมีการหารือร่วมกับรัฐบาลอีกครั้ง ในการเปิดรับต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว เน้นเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และต้องมาจากประเทศเสี่ยงต่ำ-กลางเท่านั้น รวมถึงเมื่อเข้ามาแล้วต้องได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งก่อน หลังจากนั้นจะจำกัดการเดินทางในแต่ละพื้นที่ที่กำหนดไว้ อาทิ ในภูเก็ต หรือตามเกาะต่างๆ เพื่อให้มีความปลอดภัย และนำรายได้เข้ามาหมุนเวียนเศรษฐกิจในช่วงภาวะวิกฤตก่อน
หากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอให้เปิดรับต่างชาติในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือมิถุนายนนี้นั้น ประเมินเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยหากเริ่มเปิดในช่วงดังกล่าวคาดว่าจะมีต่างชาติ เข้ามาอย่างน้อย 6-8 ล้านคน แต่หากเริ่มเข้ามาเดือนตุลาคม มองว่าอย่างไรก็ไม่ถึง 3 ล้านคนแน่นอน โดยเป้านักท่องเที่ยวขณะนี้มีความสำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญเท่ากับความเหนื่อยของผู้ประกอบการ ที่ตอนนี้เหนื่อยสุดสุดแล้ว เพราะเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายกันหมดแล้ว เพราะแต่ละคนมีความหวังว่ารัฐบาลจะเริ่มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาในเดือนกรกฎาคมหรือมิถุนายนนี้ได้ จึงมีแรงและพยายามสู้กันต่อ
แต่หากเปิดทีเดียวในเดือนตุลาคม หลายรายที่เห็นกันอยู่แล้วว่าคงสู้ต่อไม่ไหว ทำให้ต้องมีผู้ประกอบการที่ล้มหายตายจากลงไปอีกหลายราย
รวมถึงคนที่ตกงานแล้ว 1-2 ล้านคน ที่ถูกเลิกจ้างไปตั้งแต่การระบาดครั้งก่อน ก็อยากให้กลับเข้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพราะหากให้รอถึงเดือนตุลาคม เวลา 3 เดือนที่แตกต่างกัน
ถือว่าส่งผลต่อความเป็นอยู่ของแรงงาน และความเป็นความตายของผู้ประกอบการสูงมาก