โควิด-19 ทำพิษ ‘4 หุ้นสายการบิน’ สุขภาพการเงินเข้าระดับอันตราย !! แต่ไม่ถึงขั้นปิดกิจการ หลังวัคซีนกำลังเข้ามาเปลี่ยนทิศทางธุรกิจ หวังทั่วโลกจ่อเปิดน่านฟ้าอีกคราในครึ่งปีหลัง 2564 ด้าน BA คาดผลงานฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปีหน้า
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2563 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือหนึ่งในบรรดาผู้ที่บาดเจ็บหนักสุด โดยเฉพาะกลุ่ม ‘ธุรกิจสายการบิน’ ที่เจ็บบางตาย…! และบางส่วนก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ก็อาการสาหัส สะท้อนผ่านฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่ อีกทั้งมาตรการที่ภาคธุรกิจสายการบินต่างเฝ้ารอการเยียวยาจากภาครัฐ ว่า ความคืบหน้าการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)
สอดคล้อง ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับแนวทางการพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับกลุ่มธุรกิจสายการบิน จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบซอฟต์โลนที่ต้องปล่อยให้สายการบินนั้น จะต้องดูในรายละเอียดว่าจะทำให้เป็นนโยบายของรัฐตามที่ธุรกิจสายการบินเสนอได้อย่างไร เนื่องจากสายการบินเป็นธุรกิจ ซึ่งหากจะเข้าไปช่วยเหลือ ก็ต้องพิจารณาว่าสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ในเรื่องอะไรบ้าง แต่ยืนยันว่าจะทำให้เร็วที่สุด
หากย้อนไปในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น ‘จุดต่ำสุด’ ของสายการบินทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้ประกาศ ‘ปิดประเทศ’ (ล็อกดาวน์) ปิดน่านฟ้า และสายการบินสัญชาติไทยเกือบทุกรายประกาศหยุดบิน ก่อนจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ค่อยๆ คลี่คลาย สายการบินได้ต้อนรับผู้โดยสารในประเทศอีกครั้ง
ทว่า ในช่วงปลายปี 2563 การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ก็กลับมาซ้ำเติมธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินอีกครั้ง !! แม้จะไม่ถึงขั้นให้สายการบินหยุด แต่ก็มีมาตรการเข้มงวดในการระมัดระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19
สะท้อนผ่าน ตัวเลขผลประกอบการปี 2563 ของ ‘4 หุ้นสายการบิน’ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า มีผลการดำเนินงาน ‘ย่ำแย่’ ขาดทุนสุทธิทุกราย อย่าง บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA บมจ.การบินไทย หรือ THAI บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV
โดย ‘หุ้น THAI’ มีขาดทุนสุทธิ 141,170.74 ล้านบาท โดยมีรายได้ 48,636.86 ล้านบาท ‘หุ้น BA’ ขาดทุนสุทธิ 5,283.18 ล้านบาท โดยมีรายได้ 10,804.05 ล้านบาท ‘หุ้น AAV’ มีขาดทุนสุทธิ 4,764.09 ล้านบาท โดยมีรายได้ 16,260.96 ล้านบาท และ ‘หุ้น NOK’ รายงานตัวเลขล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2563 มีขาดทุนสุทธิ 3,935.96 ล้านบาท โดยมีรายได้ 4,827.74 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปี 2563 บริษัทขอเลื่อนส่งงบออกไปก่อน
จากผลประกอบการที่ย่ำแย่และสภาพอุตสาหกรรมการบินที่ถดถอยมาก่อนหน้านี้ ผนวกกับวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก จึงทำให้สายการบินสัญชาติไทยหลายแห่งมีผลประกอบการพลิกขาดทุนสุทธิ หรือแม้แต่ต้องเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการ และเลวร้ายสุดต้องหยุดกิจการไปเลย…
แต่ทว่าปี 2564 รัฐบาลเริ่มปลดล็อกให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดและเริ่มให้สายการบินต่างชาติเปลี่ยนเครื่องได้มากขึ้น แม้เป็นการให้บริการภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุขต่างๆ ของทั้งสายการบิน และท่าอากาศยาน ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าในปี 2564 ธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังเปิดไฟลท์บินต่างประเทศ และอาจจะกลับมาเป็นปกติได้ในช่วงปลายปี 2564
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) บอกว่า คาด ‘3 ปัจจัยบวก’ สำคัญสนับสนุนกลุ่มท่องเที่ยวและสายการบินฟื้นตัวคือ 1.วัคซีนโควิด-19 และการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่อง 2.การวัคซีนทั่วโลกรวดเร็วและกระจายตัวได้ดี และ3.จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเริ่มปรับตัวลดลงเหลือหลักแสนคนต่อวัน จากช่วงต้นปีที่ทำ ‘จุดสูงสุด’ ที่ 8.45 แสนคนต่อวัน
โดยจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวดีขึ้น โดยการท่องเที่ยวในประเทศจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการจากภาครัฐ และการเดินทางระหว่างประเทศมีโอกาสที่จะได้เห็นการเปิดน่านฟ้าได้ภายในปลายปีนี้ หรืออาจเร็วขึ้นกว่าเดิม หากหลายประเทศอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ดังนั้น คาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มสายการบิน จะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ในปี 2565 เป็นต้นไป
สอดคล้องกับ ‘อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา’ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปหลังปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวราว 2-3 ปี กว่าภาพรวมของผลการดำเนินงานจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจนมากขึ้น คนเริ่มมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 มากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวดี
ทั้งนี้ ผลงานในปีนี้ยังมี ‘แรงกดดัน’ มาจากผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ซึ่งกดดันทั้งภาพรวมของธุรกิจการบิน หลังจากยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาได้ และในช่วงต้นปียังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอก 2 ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวในประเทศชะลอตัวไปด้วย ทำให้การดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก
สำหรับแนวโน้มรายได้จากผู้โดยสารในปีนี้ของ BA คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 3.39 พันล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหายไปทั้งไตรมาสแรก และไม่มีรายได้จากลูกค้าต่างชาติเข้ามาเสริม อีกทั้งบริษัทได้ลดจำนวนเที่ยวบินในประเทศลงเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายบางส่วน ทำให้รายได้จากผู้โดยสารชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบิน (Load Factor) ในปีนี้ที่คาดว่าจะลดลงมาที่ 61% จากปีก่อน 63%
แม้ว่าในต่างประเทศในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าที่คนส่วนใหญ่ในโลกจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น อีกทั้งการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหรือไม่คงต้องรอให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ เพราะการที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อรายได้ของคน ทำให้การตัดสินใจกลับมาเดินทาท่องเที่ยวคงใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโซนยุโรปที่เป็นลูกค้าหลักของ BA ที่มีสัดส่วน 27% ได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่ลดลงไปมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผลงานของบริษัทด้วยเช่นกัน
ขณะที่บริษัทยังคงควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้บริษัทยังมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การลดจำนวนเที่ยวบินลง ซึ่งในปีนี้บริษัทวางแผนลดจำนวนที่บินลงเหลือ 23,228 เที่ยวบิน จากปีก่อนที่มีจำนวน 24,901 เที่ยวบิน และส่งมอบคืนเครื่องบินให้กับผู้ให้เช่าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทจะคืนเครื่องบินให้กับผู้ให้เช่า 1 ลำ ทำให้ฝูงบินลดลงเหลือ 36 ลำ และยังเดินหน้าขายเครื่องบิน ATR-2-500 ออกไปอีก 2 ลำ และในปี 65 จะยังมีการคืนเครื่องบินให้กับผู้ให้เช่าอีก 6 ลำ ทำให้ฝูงบินลดเหลือ 30 ลำ อีกทั้งยังคงมีการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆในการขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดค่าใช้จ่ายอื่นๆต่อเนื่อง
ส่วนแผนการลงทุนในปัจจุบันของบริษัทมีเพียงการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายใต้บริษัทร่วมทุน คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ร่วมกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC โดยความคืบหน้าในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ในขั้นสุดท้าย และในส่วนของการออกแบบนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายกับผู้ออกแบบโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องรูปแบบของโครงการดังกล่าวออกมาในช่วงปลายเดือนมี.ค.-ต้นเดือนเม.ย.นี้
‘ด้านการลงทุนอื่นๆนั้นบริษัทหยุดและชะลอแผนที่เคยพิจารณาไว้ออกไปก่อน และหันมามุ่งเน้นการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นหลักแทน’
กพท.ยันสายการบินไทยไม่อยู่ในฐานะปิดกิจการ
‘สุทธิพงษ์ คงพูล’ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปัจจุบันสายการบินในประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในฐานะต้องปิดกิจการ หลังมีกระแสว่า มี 8 สายการบินถูก กพท. จัดอยู่ในกลุ่มที่มีระดับสุขภาพทางการเงินระดับอันตราย ซึ่งเป็นการจัดระดับในภาวะที่ไม่เป็นปกติ
เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รายได้ทุกสายการบินทั่วโลกลดลง ดังนั้นเมื่อนำประเด็นรายได้มาแทนค่าในสูตรคำนวณการจัดอันดับสุขภาพทางการเงินจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มอันตราย แต่หากเป็นภาวะการบินปกติ ไม่มีโรคระบาด จะไม่อยู่ในกลุ่มอันตรายแต่อย่างใด
และจากการหารือร่วมกับสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยสมาชิก 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, แอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสไมล์, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ และเวียตเจ็ท มาหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาอุปสรรครวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการเสนอขอผ่อนผันและ ขอความช่วยเหลือหลายประเด็นเกี่ยวกับการทำการบินในช่วงโควิด-19 ระบาด
ประกอบด้วย 1.ขอให้ยกเลิกการจำกัดความจุที่นั่งบนรถบัสที่ใช้ในการรับส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน จากปัจจุบันถูกจำกัดไว้ที่ 70% เนื่องจากมีรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการ 2.ขอขยายระยะเวลามาตรการผ่อนผัน ให้สายการบินสามารถปรับปรุงห้องโดยสารเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าได้ ออกไปอีก 3 เดือน คือ เม.ย.-มิ.ย.64 จากเดิมที่มาตรการจะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค.64 เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารยังไม่กลับมาเป็นปกติ
3.ขอปรับลดระยะเวลาการแจ้งยกเลิกเที่ยวบินในประเทศล่วงหน้า จากเดิม ต้องแจ้งล่วงหน้า 4 สัปดาห์ เป็น 2 สัปดาห์ เนื่องจากปัจจุบันผู้โดยสารมีพฤติกรรมซื้อตั๋วโดยสารแบบกระชั้นชิด ทำให้สายการมีเวลาจำกัดในการบริหารเที่ยวบิน และ 4.ขอให้ผ่อนผันให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สามารถต่อเครื่องเที่ยวบินในประเทศไปยังต่างจังหวัดได้แบบไม่มีข้อจำกัด เนื่องจากปัจจุบัน กพท อนุญาตให้มีการต่อเครื่องไปยังต่างจังหวัดได้เฉพาะเที่ยวบินในประเทศที่เป็นเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำเท่านั้น
ทั้งนี้ กพท.ได้รับข้อเสนอทั้งหมด และจะเร่งดำเนินการตามข้อเสนอที่ 1-3 โดยเร็วเพื่อช่วยเหลือสายการบิน ส่วนข้อเสนอที่4 จะต้องนำหารือกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อีกครั้ง เนื่องจากเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19