22 มี.ค.64 – ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการรายงานการกระจายวัคซีนของซิโนแวค จำนวน 8 แสนโดสที่ได้รับมาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. โดยจะกระจายไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด 3 แสนโดส ปกป้องบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า 2 แสนโดส และใช้สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ท่องเที่ยว 3 แสนโดส ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 21 มี.ค. มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 73,517 คน และวันที่ 22 มี.ค.จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ จ.สมุทรสาครนั้น มีการฉีดไปแล้วเกิน 35,000 ราย และหลังจากนี้จะมีการฉีดให้กับผู้ขับรถขนส่งสินค้าที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดด้วย ขณะที่พื้นที่ กทม. ฉีดไปแล้ว 15,737 ราย นอกจากนี้ ทาง จ.สมุทรสาครได้รายงานว่า ตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ทางจังหวัดยังระดมค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และถ้าประชาชนให้ความร่วมมือดีก็มีแนวโน้มว่าวันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไปอาจจะมีการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมขึ้นได้
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุมยังได้มีการรายงานว่ากรณีพบคนงานติดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงานสุขุมวิท 117 ผู้ติดเชื้อคนแรกเดินทางไป จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เพื่อต่ออายุการทำงานในประเทศ ซึ่งต้องมีการตรวจคัดกรองโควิด-19 และผลออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 15 มี.ค. ทำให้มีการค้นหาเชิงรุกระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค.ที่แคมป์คนงานสุขุมวิท 117 จำนวน 625 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 16 ราย ในจำนวนนี้ 14 รายไม่มีอาการ ขณะที่วันที่ 19 มี.ค. ได้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่แคมป์คนงานสุขุมวิท 107 จำนวน 584 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อ และวันที่ 20-21 มี.ค. ได้มีการตรวจชุมชนรอบแคมป์คนงานสุขุมวิท 117 และตลาดใกล้เคียง จำนวน 400 ราย อยู่ระหว่างการรอผล อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบว่าแคมป์คนงานต่างๆ เป็นสถานที่แออัด มีการใช้สุขาและห้องพักร่วมกัน ในโรงงานมีการใช้ตู้น้ำดื่มร่วมกัน อีกทั้งยังมีคนงานบางคนฝ่าฝืนกฎบริษัทไปในพื้นที่เสี่ยง ทำให้บริษัทพิจารณาให้ออกจากงานแล้ว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการสอบสวนกรณีพบผู้ติดเชื้อในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบางเขนและสวนพลู กทม. โดยระหว่างวันที่ 11-20 มี.ค. ตรวจเชื้อไปแล้ว 1,888 ราย พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 98 ราย และผลการตรวจเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่งรายงานผลเข้ามา ยังพบเพิ่มอีก 297 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงบ่ายวันที่ 22 มี.ค.
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำแผนควบคุมโรคเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ดังกล่าวแล้ว จะมีการแยกผู้ต้องกักที่ติดเชื้อออกจากผู้สัมผัส งดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องกักระหว่างห้อง และงดรับผู้ต้องกักใหม่เข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้งยังประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ ขณะนี้เตรียมเตียงผู้ป่วยไว้ 120 เตียง และสามารถขยายเพิ่มได้ 250 เตียง นอกจากนี้ จะเร่งฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ต้องกัก ซึ่งขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีน 70 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน มีการรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม. ที่พื้นที่พระราม 2 บางขุนเทียน ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวไปตรวจเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเพื่อขอวีซ่า และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จึงทำการสอบสวนโรค มีสัมผัสเสี่ยงสูง 37 ราย สัมผัสเสี่ยงต่ำ 178 ราย โดยระหว่างวันที่ 19 – 21 มี.ค. ตรวจเชื้อไปแล้วทั้งสิ้น 71 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 30 ราย กลุ่มก้อนนี้ กทม.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กทม.รายงานภาพรวมว่า ขณะนี้ใน กทม.มีการตรวจเชิงรุกไปแล้วกว่า 83,000 ราย โดยเฉพาะ 6 เขตที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร ตรวจไปแล้ว 21,458 ราย หลักๆ แล้วเป็นโรงงาน 128 แห่ง สำหรับตลาดได้มีการค้นหาเชิงรุกหมดแล้ว ขณะนี้จะเน้นไปที่ชุมชนเป็นหลัก
เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการเดินทางแสดงความเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีกลุ่มก้อนการติดเชื้อ โควิด-19 จึงเกิดความกังวลว่าทาง ศบค.จะต้องมีการปรับมาตรการใดหรือไม่ และอยากทราบว่ามาตรการใดทำได้หรือทำไม่ได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขอย้ำว่า ศบค. มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าในเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้มีหลายฝ่ายเกิดความเป็นห่วงว่าจะเกิดความแพร่ระบาดมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร และมีประชาชนจำนวนมากที่มีอาการ แพนเดมิคฟาทีส คือ อาการเหนื่อยล้าจากการที่เราต้องอยู่กับโรคระบาดมานาน ถูกจำกัดต่างๆ จึงอยากจะออกไปผ่อนคลาย โดยเฉพาะการข้ามพื้นที่
“ทางศบค.ได้เน้นย้ำว่าสงกรานต์ไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ปลอดภัยอยู่ในมาตรการที่ทางพื้นที่ หรือจังหวัดดูแลได้ และที่สำคัญที่จะต้องเน้นย้ำคือ ในส่วนของสาธารณสุขนั้นยังสามารถที่จะมีระบบที่เพียงพอดูแลได้ เช่น ถ้ามีคนที่ป่วยเป็นกลุ่มก้อนเป็น 100 ราย สาธารณะสุขมีความสามารถในการดูแลได้จำกัดถือว่าลำบากเหมือนกัน”
ดังนั้น โดยรวม กิจกรรมทางศาสนาจัดได้แน่นอน พิธีกรรมไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานแห่ การละเล่นตามประเพณีพื้นบ้าน การแสดงออกทางวัฒนธรรม คือ เน้นให้ไปดูไปชมและให้มีความสุขได้ ขณะเดียวกัน ให้บริหารความเสี่ยงด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และพยายามทำให้สงกรานต์ปลอดภัย ภาคเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ทำให้เราบริหารความเสี่ยงและความสุขควบคู่กันไปได้