สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สร้างความมั่นใจ รพ.สนาม ดูแลรักษาผู้ต้องกักติดเชื้อโควิด-19 เชื้อไม่แพร่ออก พร้อมเผย 14 มาตรการแก้ไขและควบคุม
วันที่ 23 มี.ค. 2564 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดประชุมวางแผนรับมือกับสถานการณ์ผู้ต้องกักติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และผู้เกี่ยวข้อง, นายแพทย์เกียรติภูมิ วงค์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค, พ.ต.อ.เอกลักษณ์ ดีรุ่งโรจน์ นายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.), สำนักงานอนามัยกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตหลักสี่
ทั้งนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลสนามชั่วคราว ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการดำเนินการตามมาตรฐานการควบคุมโรค ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคออกไปด้านนอกพื้นที่โรงพยาบาลสนามชั่วคราว
สำหรับมาตรการแก้ไขและควบคุมการแพร่ของโควิด-19 ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้แก่
1.ให้ กก.3 บก.สส.สตม. งดรับผู้ต้องกักจนกว่าจะสามารถแก้ไขปัญหา และกำหนดมาตรการป้องกันได้ (มีหนังสือให้แต่ละ บก. บริหารการกักตัวผู้ต้องกัก/ตม.จังหวัด ฝาก สภ.ควบคุมผู้ต้องกัก, ในส่วน กทม. กก.3 บก.สส.สตม. รับตัวแล้วให้ ตม.จว.นนทบุรี ควบคุมแทน)
2. ลดจำนวนผู้ต้องกักในความดูแลของ กก.3 บก.สส.สตม. (สำหรับผู้ปลอดเชื้อ ผลักดัน/ส่งกลับ, ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารับไปดูแล)
3. จัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว สตม. ขอสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.ตร. จัดสถานที่ อุปกรณ์ โดยประสานกับกรมควบคุมโรค
4. ให้ ตม.จว. และหัวหน้าด่านคัดแยกผู้ต้องกักกลุ่มเสี่ยงแยกออกจากรายอื่นๆ
5. ให้ ตม.จว. ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ในการจัดแผนรองรับ
6. ขอสนับสนุนชุดผู้ป่วยจาก รพ.ตร. จำนวน 400 ชุด และยา
7. ให้ บก.อก.สตม.สนับสนุนยาสำหรับฉีดพ่น
8. ให้แต่ละ ตม.จว.จัดหาพื้นที่สำหรับ รพ.สนาม หากเกิดกรณีผู้ต้องกักติดเชื้อ
9. การรับตัวผู้ต้องกัก ให้แยกผู้ต้องกักโดยมีห้องแรกรับ 3-5 วัน รอดูอาการก่อนส่งตัวเข้ารวมในห้องกัก
10. กำชับผู้บังคับบัญชาให้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่าให้มีการติดเชื้อเพิ่ม
11. หัวหน้าหน่วย สำรวจอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้บกพร่อง
12. การรับอุปกรณ์มาเพิ่มใหม่ให้จัดทำเป็นงวดๆ โดยให้ใช้ในส่วนที่รับมาก่อนเป็นอันดับแรก
13. ศูนย์ฝึกอบรมตรวจคนเข้าเมือง (ศฝร.ตม.) ให้จัดที่พักสำหรับแพทย์และพยาบาลที่จะไปดูแลผู้ป่วย รวมถึงจัดห้องพักให้กับเจ้าหน้าที่กองกำกับการปฏิบัติการอาชญากรรมพิเศษที่ไปเข้าเวรในหลายๆ ผลัดเนื่องจากเป็นผู้เสียสละ
14. ให้กองบังคับการอำนวยการ สตม. จัดทำตารางประชุมหัวหน้าหน่วย หรือผู้แทน ในเวลา 10.00 น.ของทุกวัน
ส่วนผู้ต้องกักที่อยู่ในความดูแลปัจจุบัน มีจำนวน 1,615 คน โดยถูกกักที่บางเขน จำนวน 490 คน ที่สวนพลู 1,125 คน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในความดูแล มีทั้งสิ้น 393 คน (ชาย 370 คน, หญิง 23 คน) ถูกแยกกักตัว ณ รพ.สนามชั่วคราวในห้องกัก (บางเขน) โดย สตม. จัดตั้ง รพ.สนามชั่วคราว ณ อาคารโรงยิมกองสวัสดิการ ในสโมสรตำรวจ
ทางด้าน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม.ในฐานะโฆษก สตม. และ พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รอง ผบก.ตม.1 ในฐานะรองโฆษก สตม. ร่วมกันเปิดเผยว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th