คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 4/2564 ตามที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 เสนอ ดังนี้
สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ
1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ ดังนี้
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 19 มีนาคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 122,338,800 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 115 จาก 217 ประเทศทั่วโลก
2) สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 19 มีนาคม 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 23,357 ราย หายป่วยแล้ว 22,273 ราย (คิดเป็นร้อยละ 95.36) กำลังรักษาตัว 1,054 ราย (อยู่ในโรงพยาบาล 846 ราย และโรงพยาบาลสนาม 208 ราย) ทั้งนี้ ณ วันที่ 19 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 100 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 55 ราย การคัดกรองเชิงรุก 41 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด 4 ราย
3) การควบคุมการระบาดของโรคโควิด – 19 เชื่อมโยงตลาดย่านบางแค กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 – 18 มีนาคม 2564 ดำเนินการตรวจ จำนวน 12,649 ราย พบผู้ติดเชื้อ 372 ราย และพบเชื้อในน้ำเสียจากตลาดจำนวน 4 แห่ง จาก 7 แห่ง โดยได้มีการเร่งเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ปรับปรุงสุขาภิบาลตลาด รวมทั้งสุ่มตรวจตลาด จำนวน 440 แห่ง และ 280 ชุมชน ในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนได้ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ให้กับผู้ค้ากลุ่มเสี่ยงในตลาดย่านบางแค จำนวน 961 ราย และออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิด ก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด
4) สรุปสถานการณ์โรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ของประเทศไทยในภาพรวม พบว่ามีการระบาดของโรคโควิด – 19 ในกรุงเทพมหานคร และมีกระจายไปอีก 10 จังหวัด ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยได้ดำเนินการให้ทุกจังหวัดตรวจคัดกรองตลาดที่มีความเสี่ยงและชุมชนโดยรอบ รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่ชายแดนยังพบชาวต่างชาติลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับการระบาดในห้องกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบางเขนและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ตลอดจนสถานการณ์ทั่วโลกยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซีย จึงต้องคงระดับการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในพื้นที่ชายแดนของประเทศ รวมทั้งการพบเชื้อโควิด – 19 สายพันธุ์แอฟริกันกลายพันธุ์ในหลายประเทศ 2. ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 11 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 3. ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่
ทั่วราชอาณาจักร โดยปรับระดับเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร จากพื้นที่ควบคุมสูงสุด เป็นพื้นที่ควบคุม
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ให้คงเดิม โดยสรุปการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรสำหรับการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรม ดังนี้
1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 0 จังหวัด (จากเดิม 1 จังหวัด เป็น 0 จังหวัด โดยจังหวัดสมุทรสาคร ปรับระดับจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นพื้นที่ควบคุม)
2) พื้นที่ควบคุม จำนวน 9 จังหวัด (จากเดิม 8 จังหวัด เป็น 9 จังหวัด/พื้นที่) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี โดยสรุปแนวทางปฏิบัติให้เปิดสถานที่ โดยเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ ดังนี้
(1) ร้านอาหาร ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น. (รับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้)
(2) สถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น. (ดื่มสุราและแสดงดนตรีสด ในร้านได้ แต่งดเต้นรำ) ยกเว้น จังหวัดสมุทรสาคร งดเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ
(3) ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดบริการตามปกติ (จำกัดจำนวนคน งดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย)
(4) สถานศึกษาทุกระดับ/สถาบันกวดวิชา ให้เรียนแบบปกติหรือแบบผสมผสาน
(5) สถานที่ออกกำลังกาย กลางแจ้ง ยิม ฟิตเนส ให้เปิดบริการปกติ (แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม)
3) พื้นที่เฝ้าระวังสูง จำนวน 14 จังหวัด (คงเดิม) ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี ระนอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส โดยสรุปแนวทางปฏิบัติให้เปิดสถานที่ โดยเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ ดังนี้
(1) ร้านอาหาร เปิดบริการได้ไม่เกิน 24.00 น. (รับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้)
(2) สถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 24.00 น. (ดื่มสุราและแสดงดนตรีสดใน ร้านได้ แต่งดเต้นรำ)
(3) ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติ (จำกัดจำนวนคน งดจัดกิจกรรมส่งเสริม การขาย)
(4) สถานศึกษาทุกระดับ/สถาบันกวดวิชา ให้เรียนแบบปกติหรือแบบผสมผสาน
(5) สถานที่ออกกำลังกาย กลางแจ้ง ยิม ฟิตเนส ให้เปิดบริการปกติ (แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม)
4) พื้นที่เฝ้าระวัง จำนวน 54 จังหวัด (คงเดิม) ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี อ่างทอง สระแก้ว จันทบุรี สิงห์บุรี ตราด ปราจีนบุรี และลพบุรี โดยสรุปแนวทางปฏิบัติให้เปิดสถานที่ โดยเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ ดังนี้
(1) ร้านอาหาร เปิดบริการได้ตามปกติ
(2) สถานบันเทิง ผับ บาร์ เปิดบริการได้ตามปกติ
(3) ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติ (จำกัดจำนวนคน งดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย)
(4) สถานศึกษาทุกระดับ/สถาบันกวดวิชา ให้เรียนแบบปกติหรือแบบผสมผสาน
(5) สถานที่ออกกำลังกาย กลางแจ้ง ยิม ฟิตเนส ให้เปิดบริการปกติ (แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม)
ทั้งนี้ จังหวัดสามารถกำหนดพื้นที่ย่อยให้เข้มกว่าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กำหนด
ได้ตามสถานการณ์ของจังหวัด โดยเริ่มปรับระดับสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป 4. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด – 19 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนการกระจายวัคซีนฯ ดังนี้
1) แผนการจัดหาวัคซีนโควิด – 19 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564
วัคซีน / จำนวน
Sinovac Biotech2,000,000 โดส
AstraZeneca26,000,000 โดส
AstraZeneca35,000,000 โดส
วัคซีน / ระยะเวลา
Sinovac Biotechกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564
AstraZenecaมิถุนายน – สิงหาคม 2564
AstraZenecaกันยายน – ธันวาคม 2564
2) การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ให้แก่กลุ่มเป้าหมายใน 13 พื้นที่ ได้แก่ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ตาก นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต
สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร มีจำนวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 62,941 ราย โดยแบ่งเป็น (1) บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 31,066 ราย (2) เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,147 ราย (3) บุคคลที่มีโรคประจำตัว 4,182 ราย (4) ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 35 ราย และ (5) ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 20,511 ราย
3) แผนการกระจายวัคซีนโควิด ? 19
(1) ควรพิจารณาแนวทางการให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด – 19 โดยผ่านหน่วยงานกลาง เช่น องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น โดยมีมาตรการการฉีดวัคซีน การควบคุม การกำกับดูแล และการรับผิดชอบหลังฉีดวัคซีน
(2) ในระยะที่วัคซีนโควิด – 19 ในประเทศมีเพียงพอแล้ว ควรพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือวัคซีนโควิด – 19 แก่ประเทศเพื่อนบ้านหรือการเข้าร่วมโครงการ COVAX ในฐานะผู้ผลิตวัคซีน
5) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้
(1) เห็นชอบแผนการกระจายวัคซีนโควิด – 19
(2) ให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาในการดำเนินงานตามแผนการให้บริการวัคซีน
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมาย 5. ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดประเภทและระยะเวลากักกันตัวในสถานกักกันตัว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้
1) การปรับมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมในสถานที่กักกัน 8 กิจกรรม 3 ระยะ ตามรายไตรมาส
2) การลดระยะเวลาในการกักตัวจาก 14 วัน เป็น 10 วัน
การปรับมาตรการ
1. มาตรการผ่อนคลาย
ระยะที่ 1
1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2564
1. การทำกิจกรรมในสถานที่กักกันตัว
- รูปแบบ ASQ และ ALQ ผ่อนคลาย 6 กิจกรรม ได้แก่ ฟิตเนส การออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ
ขี่จักรยาน การซื้อสินค้าจากภายนอก และการประชุม
- รูปแบบ SQ LQ และ OQ (ประเภท ก) ผ่อนคลาย 2 กิจกรรม ได้แก่
การออกกำลังกายกลางแจ้ง และการซื้อสินค้าจากภายนอก
2. มีมาตรการควบคุมกำกับ
ระยะที่ 2
1 ก.ค. – 30 ก.ย. 2564
1. การผ่อนคลายกิจกรรมในสถานที่กักกันตัว เพิ่มเติมจากระยะที่ 1 อีกจำนวน
2 กิจกรรม ได้แก่
การรับประทานอาหารในห้องอาหาร และการนวด
2. นำร่องการจัดกิจกรรมนอกสถานที่กักกันตัว รูปแบบ OQ (ประเภท ข) โดยมีมาตรการควบคุมกำกับ
ระยะที่ 3
ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564
กรณียกเลิกการกักตัว
ให้สถานประกอบการบริหารจัดการแบบ New Normal สำหรับการป้องกันควบคุมโรค โดยเน้นย้ำ
D-M-H-T-T และ Bubble and Sealed
2. ระยะเวลากักตัว
ระยะที่ 1
1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2564
ระยะที่ 2
1 ก.ค. – 30 ก.ย. 2564
ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยตรวจ 2 ครั้ง (วันที่ 3 ? 5 และ วันที่ 9 ? 10 ของการกักตัว)
ยกเว้นประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ ตามประกาศกรมควบคุมโรค ให้กักตัว 14 วัน และตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง (วันที่ 0 ? 1 วันที่ 6 ? 7 และวันที่ 12 ? 13 ของการกักตัว)
ระยะที่ 3
ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564
1. ไม่มีการกักตัวตามเงื่อนไขการได้รับวัคซีน
2. กรณีกลุ่มที่ต้องกักตัว กำหนดระยะเวลาตามประเภทผู้เข้ากักตัว 6. ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 ในภาพรวม
ในปี 2564 ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ? 19 เสนอ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามรายไตรมาส คือ ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ? 30 มิถุนายน 2564 ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ? 30 กันยายน 2564 และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนี้
1) แผนการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19
(1) การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ของจังหวัดต่าง ๆ
- ระยะที่ 1 การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร
พื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี
พื้นที่เฝ้าระวังสูง 14 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส
พื้นที่เฝ้าระวัง 54 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดที่เหลือ
- ระยะที่ 2 ทุกจังหวัดของประเทศไทยอยู่ในระดับสถานการณ์ปกติแบบ New Normal
- ระยะที่ 3 ทุกจังหวัดของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับสถานการณ์ปกติแบบ New Normal ในระดับที่ผ่อนคลายมากขึ้น
(2) แผนการรับวัคซีน
- ระยะที่ 1 รับวัคซีน Sinovac จำนวน 2,000,000 โดส
- ระยะที่ 2 รับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 26,000,000 โดส (จำนวนสะสมผู้รับ
การฉีดวัคซีนประมาณร้อยละ 20)
- ระยะที่ 3 รับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 35,000,000 โดส (จำนวนสะสมผู้รับ
การฉีดวัคซีนประมาณร้อยละ 45)
(3) ขั้นตอนการออกแบบและจัดทำหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างประเทศ (International Vaccine Certificate)
- ระยะที่ 1 ในระยะเริ่มต้นที่องค์กรอนามัยโลกยังไม่มีการกำหนดรูปแบบ International Vaccine Certificate ที่เป็นสากล จึงเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาใช้หนังสือรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) โดยระบุในหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: CoE) ไปก่อน
- ระยะต่อไป ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 เริ่มใช้ International Vaccine Certificate
เมื่อมีความพร้อมตามที่องค์กรอนามัยโลกกำหนด หากในกรณีที่ยังไม่มีความพร้อม ให้ยังคงใช้ Vaccine Certificate ไปก่อน
(4) การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของคนต่างชาติ
- ระยะที่ 1 ให้ยึดถือแนวปฏิบัติที่ใช้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีการเพิ่มการกรอกข้อมูล
การฉีดวัคซีน และการติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus ตั้งแต่ต้นทาง
- ระยะต่อไป ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 ให้พิจารณากลุ่มประเทศที่ผู้เดินทางจากประเทศนั้น ๆ อยู่ในมาตรการกักกันแบบผ่อนคลาย หรือปรับรูปแบบเป็นการคุมไว้สังเกต (Close Observation) และพัฒนารูปแบบไปสู่การคุมไว้สังเกต หรือการยกเว้นการกักกันสำหรับผู้เดินทางจากบางประเทศ หรือผู้ที่ฉีดวัคซีนครบตามกำหนดของแต่ละชนิดแล้ว
(5) การปรับรูปแบบของสถานที่กักกัน (Quarantine) สำหรับบุคคลผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- ระยะที่ 1 ยังคง 7 รูปแบบของสถานที่กักกันเช่นเดิม ได้แก่ (1) SQ (State Quarantine) (2) ASQ (Alternative State Quarantine) (3) LQ (Local Quarantine (4) ALQ (Alternative Quarantine) (5) HQ (Hospital Quarantine (6) AHQ (Alternative Hospital Quarantine) และ (7) OQ (Organization Quarantine)
- ระยะที่ 2 ปรับรูปแบบของสถานที่กักกันเหลือเฉพาะรูปแบบที่จำเป็นและเหมาะสม
5 ประเภท ได้แก่ (1) SQ (2) AQ (Alternative Quarantine) (3) HQ (4) AHQ และ (5) OQ
- ระยะที่ 3 ปรับรูปแบบเป็นสถานที่คุมไว้สังเกต (Close Observation) เน้นมาตรการ
D-M-H-T-T และใช้มาตรการ Bubble and Seal ในขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ Bubble ในพื้นที่สนามบิน Sealed Route ตามเส้นทางการเคลื่อนย้าย และ Bubble ตามสถานที่ท่องเที่ยวและชุมชนรอบสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 บุคคลต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เดิมต้องแสดงเอกสารทั้ง Fit to Fly และ Covid Free ให้เปลี่ยนแปลงเป็นเอกสาร Covid Free เพียงอย่างเดียว
(6) มาตรการผ่อนคลายสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและเข้ารับการกักกัน
- ระยะที่ 1 ผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยสามารถออกนอกห้องพักได้ตามเวลาและเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ได้แก่ การใช้ห้องฟิตเนส การออกกำลังกายกลางแจ้ง การใช้สระว่ายน้ำ การปั่นจักรยานในพื้นที่ปิดและมีการควบคุม และการซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก
- ระยะที่ 2 ผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมเพิ่มเติมจากระยะที่ 1 ได้แก่ การรับประทานอาหารในห้องอาหารของโรงแรม และการใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพได้ ทั้งนี้ ในระยะที่ 1 และ 2 มีมาตรการผ่อนคลายสำหรับนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาระยะสั้นให้สามารถใช้ห้องประชุมได้ตามเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
- ระยะที่ 3 กำหนดให้มีการกักกันเฉพาะผู้บุคคลผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด และมีการปรับกิจกรรมในรูปแบบการกักกัน (Quarantine) เป็นรูปแบบ (Close Observation) โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ
(7) การลดระยะเวลากักกันตัวบุคคลผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (ลดระยะเวลากักกันผู้เดินทางโดยทั่วไปจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน)
- ระยะที่ 1 – 2 คนไทยและคนต่างชาติ ที่ไม่มี Vaccine Certificate (VC) และ Covid ? 19 Free Certificate (CFC) ต้องรับการกักกัน 10 วัน และตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ทั้งนี้ เมื่อมีความพร้อม คนไทยและคนต่างชาติที่มี VC ที่ฉีดครบถ้วนมากกว่า 14 วัน ก่อนเดินทาง กรณีมี CFC ลดวันกักกันตัวเหลือ 7 วัน และตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง และกรณีไม่มี CFC ลดวันกักกันตัวเหลือ 7 วัน แต่ต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี กรณีผู้เดินทางจากประเทศที่มีเชื้อโควิด ? 19 กลายพันธุ์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ยังคงต้องรับการกักกัน 14 วัน
- ระยะที่ 3 ไม่ต้องกักกันตัวในบางพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขพื้นที่/การดำเนินการ ดังนี้
(1) บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่าร้อยละ 70 (2) ประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสกับบุคคลเสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายที่กำหนด และ (3) สามารถเปิดรับบุคคลที่เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้ในระยะเริ่มต้น 7. ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ? 19 เสนอ โดยกำหนดกิจกรรมที่สามารถจัดได้ ดังนี้
1) การจัดพิธีสรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ทางศาสนา
2) การจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ตามประเพณีนิยมหรือรูปแบบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด
3) การเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด สามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ให้ยึดถือมาตรการ D-M-H-T-T จัดกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถระบายอากาศได้ดี
โดยหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบหรือห้องปรับอากาศ และงดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ได้แก่ งดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มสาดน้ำ งดการจัดคอนเสิร์ต และงดการจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันใกล้ชิด เช่น งดประแป้ง งดการเล่นปาร์ตี้โฟม 8. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงาน ดังนี้
1) การสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงสิ่งเสพติด การสืบสวนสอบสวนและขยายผลการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาเสพติด จำนวน 6 รายการ ดังนี้ (1) ยาบ้า จำนวน 14,773,674 เม็ด (2) กัญชา
อัดแท่ง 500.17 กิโลกรัม (3) ใบพืชกระท่อม 139 กิโลกรัม (4) เฮโรอีน 60,800 กรัม (5) ฝิ่นดิบ 448,075 กรัม และ (6) ยาไอซ์ 152,296.48 กรัม
2) การสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดนและการเตรียมการรองรับสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อย ทำให้สถานการณ์ได้ขยายตัวและยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดระดับความรุนแรงลง ในส่วนของสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนไม่มีความรุนแรง แต่หลังจากกลุ่มชาติพันธุ์มีมติต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา จึงมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะส่งกำลังทหารเข้าปราบปราม อาจส่งผลให้ชาวเมียนมาอพยพข้ามแดนเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ? 19
3) การดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กองทัพบก ได้ดำเนินการจัดกำลัง
5 กองร้อย ในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตก ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 จัดกำลังเพิ่มเติม จำนวน 1 กองร้อย ให้กับกองกำลังนเรศวร ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2564 และจัดเตรียมกำลัง จำนวน 3 กองร้อย เพิ่มเติมในพื้นที่กองกำลังสุรสีห์ กองกำลังนเรศวร และกองกำลังเทพสตรี ให้พร้อมปฏิบัติภายใน 24 ชั่วโมง
4) การดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กองทัพเรือ ได้จัดเรือตรวจการณ์ 2 ลำ และชุดปฏิบัติการพิเศษ 1 ชุด ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 จังหวัดระนอง ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564
5) การเตรียมการรองรับกรณีที่อาจมีผู้อพยพหลบหนีจากสถานการณ์ในเมียนมาข้ามแดน
มายังประเทศไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กองทัพบก ได้จัดเตรียมแผนการปฏิบัติโดยดำเนินการภายใต้หลักมนุษยธรรม การรักษาผลประโยชน์ของชาติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย โดยได้ดำเนินการปฏิบัติเป็น 2 ขั้น คือ (1) ขั้นเตรียมการ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าตรวจและป้องกันการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (อำเภอ/กอ.รมน.จว.) และส่วนราชการในพื้นที่ในการเตรียมพื้นที่แรกรับ พื้นที่พักรอ และสถานที่กักกันโรค และ (2) ขั้นปฏิบัติการ แบ่งผู้อพยพเป็น 5 กลุ่ม 1) ประชาชนคนไทย 2) ประชาชนเมียนมา 3) กองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มติดอาวุธ 4) กลุ่มการเมือง และ 5) ชาวต่างชาติ
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กระทรวงมหาดไทย (ศปก.มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านและเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบเข้าเมือง การเตรียมความพร้อมพื้นที่รองรับในกรณีที่อาจมีผู้อพยพข้ามแดนมายังประเทศไทย สถานที่กักกันโรค และโรงพยาบาลสนามให้มีความพร้อม รวมทั้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีการตรวจผ่านแดนเข้มงวดขึ้น
2. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 (ศปก.สธ.) เร่งดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 10 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
3. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 (ศปก.สธ.) เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนและจัดทำข้อมูลกลุ่มเป้าหมายการให้บริการวัคซีนโควิด ? 19 จำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มสุขภาพ ได้แก่ เจ้าหน้าที่และข้าราชการทุกระดับ (2) กลุ่มเศรษฐกิจ
(3) กลุ่มประชาชนทั่วไป โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (4) กลุ่มแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว
(5) กลุ่มนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจต่างประเทศ (6) กลุ่มนักการทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ (7) กลุ่มผู้นำศาสนาและนักเรียน รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนการบริหารและกระจายวัคซีนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ตลอดจนให้มีการตอบประเด็นปัญหาและข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนด้วย
4. ให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลผู้จัดกิจกรรมหรือประกอบกิจการให้กำหนดขอบเขตอาณาบริเวณของพื้นที่จัดกิจกรรมหรือกิจการให้ชัดเจน และให้มีช่องทางเข้าและออก ตามความเหมาะสมกับขนาดของกิจกรรม ตลอดจนให้มีมาตรการควบคุมและมาตรการป้องกันโควิด ? 19 บริเวณทางเข้าและออก ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ให้เน้นย้ำผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเว้นระยะห่างหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคลอื่น ตรวจวัดอุณหภูมิและล้างมือ และติดตั้งแอปพลิเคชันไทยชนะหรือหมอชนะ รวมทั้งให้ระมัดระวังเรื่องการดื่มสุราจนขาดสติ รวมทั้ง ให้พิจารณาผ่อนคลายกิจกรรมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 18) ข้อ 8 กรณีสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามฝึกซ้อมหรือแข่งขันหรือการจัดกิจกรรมอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยให้สามารถจัดการฝึกซ้อม หรือจัดการแข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชมและมีการปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายพิจารณาอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. ให้ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทาง/มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนเข้าประเทศไทย เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง กำหนดแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามประเภทและระยะเวลากักกันตัวในสถานกักกันตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ โดยพิจารณาจัดทำความตกลงทวิภาคี และ/หรือดำเนินการฝ่ายเดียวกับประเทศเป้าหมาย
6. ให้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ/ร่วมมือด้านวัคซีนกับประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ทั้งโดยตรงหรือผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น COVAX โดยคำนึงว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข ซึ่งมีนโยบายช่วยเหลือประเทศอื่นในหลายด้านอย่างสม่ำเสมอ เป็นฐานการผลิตวัคซีนของ บริษัท AstraZeneca จำกัด ในภูมิภาคและมีการพัฒนาวัคซีนของตนเองเช่นของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และองค์การเภสัชกรรม รวมทั้ง สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ส่งเสริมให้วัคซีนเป็น ?สินค้าสาธารณะ? (Global Public Goods)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564