29 มีนาคม 2564
| โดย กรุงเทพธุรกิจ Explore
69
ททท. จัดงาน “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ฉลอง “ปีใหม่ไทย” แบบ New Normal ตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ
จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่ได้ตามปกติ ประกอบกับอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวในประเทศก็ซบเซา เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ททท. จึงกำหนดกลยุทธ์ “Event Marketing” โดยการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งใช้โอกาสของเทศกาลงาน “สงกรานต์” เป็น Game Changer ในการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและชาวไทยและชาวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยในการควบคุม บริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดย ททท. ยังคงดำเนินการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้หลักการผ่อนคลายตามมาตรการของ ศบค. และแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อป้องการการกระจายเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
สำหรับ “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีขึ้นในวันที่ 13-15 เมษายน 2564 ณ ลานกิจกรรม รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ (สถานีมักกะสัน) สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้แนวคิด ปลอดภัย ประเพณี ประหยัด พร้อมชูพื้นที่จัดสงกรานต์แบบ New Normal ตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ คาดใน 6 วัน เงินสะพัดกว่า 12,000 ล้านบาท
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงการจัดเทศกาลสงกรานต์ในปี 2564 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดยาว เพื่อใช้โอกาสนี้กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ กระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศให้การจัดเทศกาลสงกรานต์ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อยู่ในรูปแบบการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ สงกรานต์ทั่วประเทศในปี 2564 นี้ เน้นการนำเสนอคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ พร้อมควบคุมมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า งานเทศกาล “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” เน้นแนวทาง “ปลอดภัย ประเพณี ประหยัด” นำวัฒนธรรมผสมผสานกับ วิถีไทย วิถีถิ่น ศิลปวัฒนธรรม มาชูเป็นจุดเด่นในการจัดกิจกรรมร่วมกับการควบคุมมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวด ภายในงานจะได้พบกับการจำลองบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์แบบศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การจำหน่ายอาหารชาววัง อาหารที่หารับประทานทานยาก และอาหารที่นิยมทานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ส้มฉุน มะยงชิดริ้วลอยแก้ว ปลาแห้งแตงโมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น และการแสดงวัฒนธรรมและการแสดงดนตรี อาทิ โขน หนังใหญ่ หุ่นกระบอก และดนตรีร่วมสมัย พร้อมรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม “สงกรานต์แต่งดอก ออกเที่ยว แต่งไทยไปเที่ยวสงกรานต์”
นอกจากนี้ ททท. ยังได้สนับสนุนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่เอกลักษณ์ทั่วประเทศ ได้แก่
- ประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า เล่นน้ำกับช้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ประจำปี 2564 จังหวัดสุโขทัย
- งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2564 และมหกรรม 2 ทศวรรษก๋องปู่จานครลำปาง จังหวัดลำปาง
- งานเสน่ห์วิถีอีสาน ย้อนวันวานสงกรานต์ขอนแก่น #บ่ซิดบ่สาดก็ม่วนได้ วิถีไทยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
- งานประเพณีมหาสงกรานต์อีสานหนองคาย ประจำปี 2564 จังหวัดหนองคาย
- งาน Amazing Songkran Buriram presented by Chang ประจำปี 2564 “สาดแสง สาดสี สาดของดีบุรีรัมย์” จังหวัดบุรีรัมย์
พร้อมสนับสนุนการจัดประเพณีสงกรานต์ให้แก่พันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี และเทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ครั้งที่ 6 โดย บริษัท ทศภาค จำกัด อีกทั้ง บริษัท เรกคิทท์เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มอบผลิตเดทตอล จำนวน 200,000 ชิ้น ให้แก่พื้นที่จัดงานฯ เพื่อสร้างมาตรฐานสุขอนามัยที่ดีในการจัดเทศกาลสงกรานต์
ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาว 6 วัน (วันที่ 10-15 เมษายน 2564) จะคึกคักมากกว่าช่วงวันหยุดตรุษจีนและวันมาฆบูชาที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ เยี่ยมญาติ และถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกัน กอปรกับแรงหนุนจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ จะส่งผลให้มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 3.20 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท
ประเพณีสงกรานต์ ถือ เป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ ช่วงวันสงกรานต์ จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพันธ์ ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา เป็นโอกาสให้ลูกหลานได้ขอพรจาก บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ได้แก่ การร่วมกันทำบุญให้ทาน การก่อพระเจดีย์ทราย และเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การละเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน
นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกผูกพันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน สร้างความรู้สึกหวงแหน ในสาธารณสมบัติของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนอาคารสถานที่ที่มีความสำคัญ ทำให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในสังคมไทย ซึ่งในแต่พื้นที่ทั่วประเทศก็มีความหลายหลายของงานประเพณีสงกรานต์ แตกต่างกันไปตามพื้นทางทางวัฒนธรรมท้องถิ่น สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และวิถีการดำเนินชีวิต