ถ้ำกลางป่าอันเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินปูนอำเภอร้องกวางแห่งนี้เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยสวยวิจิตรอลังการราวกับประติมากรรมจากธรรมชาติที่ได้สรรค์สร้างไว้ให้มนุษย์ได้ชื่นชม เมื่อร้อยเรียงเข้ากับตำนานพื้นบ้านบอกเล่าถึงที่มาของเสาหิน รูปทรงผู้หญิงกำลังอุ้มลูกน้อยเพื่อรอคอยการกลับมาของชายอันเป็นที่รักนั้น ซึ่งได้กลายเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำผานางคอย” ยิ่งทำให้ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความน่าสนใจ ตำนานรักถ้ำผานางคอย ตำนานถ้ำผานางคอย เปิดฉากด้วยความรักต่างชนชั้นอันยิ่งใหญ่ระหว่างเจ้าหญิงอรัญญาณี หญิงสาวผู้สูงศักดิ์ กับ คะนองเดช ชายอันเป็นที่รัก ในสมัยอาณาจักรแสนหวี จนในที่สุดเจ้าหญิงเกิดตั้งครรภ์จึงตัดสินใจหนีไปด้วยกัน แต่ทั้งสองก็ถูกทหารตามล่าอย่างกระชั้นชิดจนมาถึงกลางป่า ทหารพยายามยิงคะนองเดชแต่พลาดเป้าไปถูกกลางอุระ ของเจ้าหญิง ทั้งสองพยายามตะเกียกตะกายหลบหนีจนมาเจอถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหญิงได้ให้ประสูติพระโอรสพอดี ด้วยความรักที่มีอย่างเปี่ยมล้น พระองค์ตัดสินใจปล่อยให้ชายที่รักหนีเอาชีวิตรอดไป พร้อมพูดว่า “หญิงจะรออยู่ที่นี่ชั่วกัลปาวสาน” ด้วยแรงอธิษฐานดังกล่าวได้ทำให้นางกลายเป็นหินในขณะที่มือยังโอบพระโอรส ไว้บนตัก และนี่เองจึงเป็นเป็นที่มาของชื่อถ้ำผานางคอย ไฮไลท์ภายในถ้ำ ปัจจุบันถ้ำผานางคอยได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ มีการปรับภูมิทัศน์ พัฒนาเส้นทาง ติดไฟ และป้ายบอกถึงความเป็นมาประวัติศาสตร์บอกเล่าตำนาน “ผานางคอย” ไว้รับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูป ซึ่งถ้ำแห่งนี้มีความสูงจากด้านล่างจนถึงปากถ้ำ 50 เมตร และภายในถ้ำ ระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางออกอีกด้านยาวถึง 150 เมตร ทางเดินนั้นมีทั้งกว้างและแคบสลับกันไป โดยแบ่งออกเป็น 13 จุดให้นักท่องเที่ยวได้ชม และมีการเรียกชื่อแต่ละจุดได้อย่างไพเราะ ได้แก่ คูหาสวรรค์วิเศษ เทพอารักษ์นครา นาคาสถิต งามพิศอนงค์สนาน หิมพานต์พิจิตร เนรมิตม่านแก้ว มรกตเพริดแพร้ววิจิตรา บูชาพระมุนี นทีชลเนตร ธารเทพอธิษฐาน คชสารพิทักษ์ ลานรักพระนาง และหินนางคอยซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของถ้ำ ที่อยู่ถัดจากลานรักพระนาง โดยคุณจะได้พบกับหินปูนที่หยดย้อยลงมาก่อเกิดรูปทรงเหมือนหญิงสาวกำลังก้มหน้าโอบอุ้มลูกน้อยนั่งอยู่บนแท่นหิน และต้องยืนอยู่ห่างออกมาประมาณ 10 เมตร จึงจะมองเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปร่างเหมือนผู้หญิงอุ้มลูก ถัดจากหินนางคอยไปเล็กน้อย จะพบปากถ้ำอีกด้านหนึ่งที่สูงขึ้นไปซึ่งปากถ้ำด้านหลังนั้น มีความกว้างกว่า15 เมตร เปิดให้แสงสว่างส่องลอดเข้ามาภายในถ้ำได้เป็นอย่างดี อีกทั้งก่อนถึงปากถ้ำด้านหลัง ชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปตั้งไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไว้บูชาและขอพรก่อนเดินทางกลับอีกด้วย Blog ท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ร้านชิค ๆ ในแพร่10 สุดยอดสถาปัตยกรรมอาคารเก่าแก่ในเมืองแพร่วัดเก่าแก่ในเมืองแพร่