บลจ. ทิสโก้โชว์ผลงานบริหารกองทุนหุ้นไทย สร้างผลตอบแทนเหนือ SET TRI ชูกองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน A และกองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ ชนิดหน่วยลงทุน A โดดเด่น แม้อยู่ในช่วงวิกฤต COVID -19 ที่ตลาดหุ้นไทยโดยรวมติดลบ พร้อมเปิดกลยุทธ์ลงทุนหุ้นไทยปี 64 นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID -19 แพร่ระบาด โดยปัจจัยลบดังกล่าวได้กดดันให้ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) ติดลบราว 5.24% สาเหตุเพราะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ และมีสัดส่วนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตดังกล่าวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กองทุนหุ้นไทยของ บลจ.ทิสโก้หลายกองทุน กลับยังคงสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวก สวนทางกับตลาดโดยรวมได้ “ในภาวะปกติผู้ลงทุนจะแยกได้ยากว่า ผู้จัดการกองทุนไหนเก่งหรือไม่เก่ง เพราะไม่ว่าจะลงทุนกองทุนใดก็ดีไปหมด แต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนสูงกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุก (Active Fund) จะโดดเด่นขึ้นมา เพราะผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนและใช้กลยุทธ์เลือกหุ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุนหุ้นไทยของ บลจ.ทิสโก้ล้วนแต่เป็นกองทุน Active Fund ดังนั้น ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยในปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ฝีมือในการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนของบลจ.ทิสโก้ได้เป็นอย่างดี” นายสาห์รัชกล่าว สำหรับกองทุนหุ้นไทยที่เป็นดาวเด่นของ บลจ.ทิสโก้ ในปีที่ผ่านมา มี 2 กองทุน คือ 1. กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน A (TSF-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มั่นคง และมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่ดี กองทุนนี้มีจุดเด่นตรงที่เป็นกองทุนที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องกลยุทธ์การลงทุน สามารถลงทุนได้ทั้งหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกหุ้นด้วยวิธี Bottom Up จากนั้นจึงวิเคราะห์และคัดสรรจนเหลือหุ้นที่จะลงทุนเพียง 10-15 ตัว โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุน TSF-A สามารถทำผลตอบแทนได้ 18.3% มากกว่าดัชนี SET TRI ที่เป็นดัชนีชี้วัด (Benchmark) ที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีอัตราผลตอบแทนติดลบ 5.24% ซึ่งกองทุน TSF-A สามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้มากกว่า 23% ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของ บลจ.ทิสโก้ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 17.54% 34.09% 54.31% ต่อปี 11.71% ต่อปี 16.74% ต่อปี 12.12% ต่อปี และ12.46% ต่อปี ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันดัชนีชี้วัด SET TRI มีผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 6.62% 14.88% 15.13% ต่อปี -3.48% ต่อปี 5.66% ต่อปี 7.78% ต่อปี และ 8.87% ต่อปี นอกจากนี้ กองทุน TSF-A ยังได้รับการจัดอันดับ 5 ดาว จาก Morningstars (ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564) และได้รับรางวัล “กองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2020” ประเภทตราสารทุนทั่วไป จาก Money & Baking Awards 2020 ซึ่งจัดโดยวารสารการเงินธนาคารอีกด้วย 2. กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ ชนิดหน่วยลงทุน A (TISCOMS-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท โดยผู้จัดการกองทุนจะใช้กลยุทธ์การเลือกหุ้นแบบ Bottom Up เป็นหลัก ประกอบกับใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณมาประยุกต์ในอีกทางหนึ่งเพื่อเพิ่มโอกาสผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2563 กองทุน TISCOMS-A มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 14.1% มากกว่าดัชนีชี้วัด SET TRI ที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีผลตอบแทนติดลบ 5.24% หรือสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 19% ทั้งนี้ กอง TISCOMS-A มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของ บลจ.ทิสโก้ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 15.53% 20.73% 50.18% ต่อปี 1.17% ต่อปี 7.87% ต่อปี และ 8.85% ต่อปี ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนคือ ดัชนี SET TRI มีผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 6.62% 14.88% 15.13% ต่อปี -3.48% ต่อปี 5.66% ต่อปี และ 3.65% ต่อปี นอกจากนี้ กองทุน TISCOMS-A ยังได้รับการจัดอันดับ 4 ดาว จาก Morningstars (ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564) และได้รับรางวัลกองทุนตราสารทุนยอดเยี่ยมปี 2021 ประเภทกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก จาก Morningstar Thailand Fund Awards 2021 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 อีกด้วย นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้กองทุนหุ้นไทยของบลจ.ทิสโก้ประสบความสำเร็จมาจาก กลยุทธ์การบริหารจัดการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ 1. บริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยผู้จัดการกองทุนพยายามลดความเสี่ยงของพอร์ตด้วยการให้ความสำคัญกับการประเมินมูลค่า (Valuation) ของหุ้นรายตัว และกระจายความเสี่ยง (Diversification) บนพื้นฐานที่มุ่งหวังสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) โดยคำนึงถึงคาดการณ์ผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม (Risk-adjusted Return) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องในระยะปานกลางถึงระยะยาว 2. ปรับกลยุทธ์ได้ทันสถานการณ์ลงทุน ซึ่งเดิมก่อนที่ COVID – 19 จะแพร่ระบาด บลจ.ทิสโก้มองว่าปี 2563 จะเป็นปีของหุ้นเติบโต แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นทำให้ทีมบริหารจัดการลงทุนปรับเปลี่ยนมาเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง และมีหนี้ต่ำ แต่เมื่อราคาหุ้นปรับลงรับข่าวมาระดับหนึ่งทีมลงทุนก็ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนด้วยการมองหาและเข้าซื้อหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกครั้ง 3. การคัดเลือกหุ้นที่ดี โดยมีพื้นฐานมาจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของผู้จัดการกองทุน ทีมงาน รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ บลจ.ทิสโก้ และผู้จัดการกองทุนจะพยายามลดเวลาที่ต้องใช้ระหว่างการวิเคราะห์ วางแผน และการตัดสินใจลงทุนซื้อขายให้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ ทีมผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในสายการลงทุนอย่างยาวนาน รวมถึงศึกษา ค้นคว้า วิธีการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Method) มาช่วยในการเลือกหุ้น และการจัดพอร์ตการลงทุน เนื่องจากแนวทางการลงทุนดังกล่าวเป็นแนวทางที่อุตสาหกรรมกำลังพัฒนาไปในอนาคต นายสุพงศ์วรกล่าวอีกว่า สำหรับมุมมองการลงทุนหุ้นไทยในปีนี้ ทีมจัดการลงทุนประเมินเป้าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีไว้ที่ระดับ 1,600 จุด และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีสิ้นปีหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ดังนั้น หากหุ้นไทยเกิดการปรับฐานก็เป็นโอกาสในการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุน โดยผู้ลงทุนอาจเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีด้วยการเลือกลงทุนในกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจ และมีผลตอบแทนในอดีตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ด้านปัจจัยบวกของหุ้นไทยในปีนี้ บลจ.ทิสโก้มองว่าตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนหุ้นวัฏจักรเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะได้รับประโยชน์ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงมีส่วนเสริมให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ส่วนปัจจัยลบมี 2 ปัจจัยคือ 1. การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยหากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลลบต่อค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง และ 2. ปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID -19 ที่ต้องจับตาว่าจะดำเนินการได้ดีเพียงใด เพราะส่วนนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต |