7 เม.ย.64 10.30 น. ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)โดยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.ร่วมกับหน่วยงานรัฐ-เอกชน 5 หน่วยงานได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกอบจ.เชียงราย ,ห้างหุ้นส่วนตำกัดเติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม , สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย,สมาคมยักษ์ขาว และสมาคมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย รวมถึงว่าที่ร้อยตรีณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่นในบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม จังหวัดเชียงราย” และยังได้มอบรางวัล เกียรติบัตรแก่โรงเรียนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 แห่ง ใน จ.เชียงราย ต้นแบบการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความร่วมมือเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชน
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สสส.จึงร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ขับเคลื่อนนโยบายการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่เยาวชน ผ่านการสอนในโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่น ที่ผ่านมาสสส. และภาคี นำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้ในจังหวัดแพร่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน จำนวน 30 โรง และเตรียมขยายผลไปจังหวัดอื่นๆในภาคเหนือ เพื่อให้เด็กมีจิตสำนึกไม่เผานาไร่ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำหน้าที่กระจายความรู่สู่ผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมในการลดปัญหาฝุ่นPM 2.5 อย่างยั่งยืน
ต่อมาคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส.ลงพื้นที่การดำเนินงาน”ห้องเรียนสู้ฝุ่น”ที่โรงเรียนบ้านป่าแผ่-หนองอ้อ-สันทรายมูล อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นในเดือนตุลาคม 2563 โดยนำกิจกรรม”โรงเรียนสู้ฝุ่น”เข้าเสริมหลักสูตรการเรียนการสอน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่5 ระยะเวลา 6 เดือน เด็กนักเรียนสามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดฝุ่น และติดธงสีต่างๆเพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ 2 ครั้งต่อวัน เช้า และเที่ยง หากแกนนำนักเรียนปักธงสีแดง หมายถึงค่าฝุ่นPM2.5 มีค่าปริมาณที่วัดได้ตั้งแต่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เด็กนักเรียนจะงดกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมทั้งได้นำความรู้เรื่องไม่เผาไร่นา ส่งต่อไปยังผู้ปกครอง แนะนำการกำจัดฟางข้าวด้วยการหมักทำปุ๋ยป้องกันการเกิดฝุ้นควันในพื้นที่