5เม.ย.64-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2564 ว่า เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กลุ่มก้อน (Cluster) ใหม่ บริเวณสถานบันเทิง สถานบริการย่านทองหล่อ (สุขุมวิท 55) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานครจึงได้เชิญคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนฯ มาร่วมประชุม เพื่อขอปรับมติการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ที่กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรจากรัฐบาล รอบที่ 2 จำนวน 100,000 โดส
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค รอบแรกเมื่อประมาณปลายเดือน ก.พ. 64 จำนวน 66,000 โดส ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ หมดภายในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ 3.กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และ 4.กลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตลาดย่านบางแคเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำเป็นต้องฉีดให้ประชาชน คนละ 2 โดส/เข็ม ดังนั้นเมื่อได้รับจัดสรรวัคซีนฯ จากรัฐบาลในรอบที่ 2 จำนวน 100,000 โดส คณะอนุกรรมการฯ จึงกันไว้สำหรับเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ของผู้ได้รับวัคซีนในรอบแรก จำนวน 66,000 โดส ส่วนที่เหลือ 34,000 โดส จัดสรรไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 24,000 โดส หรือจำนวน 12,000 คน ส่วนที่เหลือ 10,000 โดส มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ผ่านมา (5/2564) กำหนดให้ฉีดให้แก่บุคคลกลุ่มต่างๆ ได้แก่ 1.ผู้ค้าคนไทยในตลาด 4 เขตใกล้เคียงตลาดย่านบางแค 2.เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ ประกอบด้วย ฝ่ายทะเบียน 50 เขต ที่จะต้องรับจดทะเบียนบุคคลไม่มีสัญชาติไทย ฝ่ายพัฒนาสังคม 6 เขตติดจังหวัดสมุทรสาครที่ต้องทำหน้าที่ประสานงานชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 5,000 คน
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด Cluster ใหม่ย่านทองหล่อ กรุงเทพมหานครจึงเชิญคณะอนุกรรมการฯ มาร่วมประชุม เพื่อขอมติที่ประชุมปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการวัคซีน จำนวน 10,000 โดสข้างต้น โดยที่ประชุมเห็นควรปรับเปลี่ยนการให้บริการฉีดวัคซีน ดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ จำนวน 2,000 โดส 2.ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดย่านตลาดบางแคและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 2,000 โดส 3.ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในสถานที่ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ จำนวน 1,800 โดส และ 4.ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ Cluster ย่านทองหล่อ จำนวน 4,200 โดส หรือกลุ่มเสี่ยง จำนวน 2,100 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด้านหน้าในพื้นที่ จำนวน 400 คน และผู้ที่มีความเสี่ยงจากการสอบสวนโรค จำนวน 1,700 คน ทั้งนี้คาดว่ากรุงเทพมหานคร จะได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จากรัฐบาลในรอบที่ 3 ภายในเดือนนี้เพียงพอต่อการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครโดยคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานครจะพิจารณาบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างดีที่สุดต่อไป