เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ยะลา – กยท.จ.ยะลานำร่องฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย.2 เพื่อแก้ปัญหาโรคใบยางร่วงชนิดใหม่ในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ที่กำลังระบาดอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (16 มี.ค.) นายศานติ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา มอบหมายให้ นายภาสกร ปาละวัล ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา จัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการของรัฐบาล และการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (ฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย.2) ในพื้นที่ ม.1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบเงินสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง (กรณีเสียชีวิต) และมอบสารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย.2 ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง
นายภาสกร ปาละวัล ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เกิดปัญหาซ้ำเติมเกษตรกรชาวสวนยาง จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ลุกลามของโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสระบาดเกือบ 8 แสนไร่ และจังหวัดยะลา พบเนื้อที่ระบาด 88,517 ไร่ โดยโรคทำให้ใบยางพาราร่วงหล่นไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ที่เกิดจากการกรีดยางจริง กระทบต่อปริมาณผลผลิต ทำให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 30-50
สำหรับพื้นที่ที่เกิดโรค การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อแก้ไข บรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในหลายๆ วิธีการ โดยได้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี สารชีวภัณฑ์ สารชีวภาพ เพื่อช่วยในการป้องกันกำจัดเชื้อโรคสาเหตุ และปัจจัยที่เอื้อต่อการก่อโรค ในครั้งนี้ได้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการให้ความรู้ นำร่องการใช้และการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย.2 ในแปลงยางพาราเกษตรกรชาวสวนยางบ้านจะกว๊ะ หมู่ที่ 1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเบื้องต้น
โดย กยท.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา) เพื่อสร้างขวัญกำลังใจที่ดี ได้ใกล้ชิดและเข้าถึงการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง และจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำเป็นเวลานานหลายปี ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ที่มั่นคงแน่นอน
โดยกำหนดราคาประกันและปริมาณผลผลิตเฉลี่ยไว้ เพื่อชดเชยส่วนต่างจากราคาอ้างอิงในแต่ละรอบที่จ่ายค่าชดเชย โครงการดังกล่าวทำให้เกิดความมั่นคงในแหล่งที่มาของรายได้ โดยเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดยะลาจำนวน 58,526 ราย เป็นผู้ได้รับประโยชน์ทั้งเงินชดเชยส่วนต่างจากราคาอ้างอิง และประโยชน์จากการกรีดยางจริง ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรอย่างมาก และทำให้ราคายางในตลาดปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยมา
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิมมะแอ เจ๊ะหลง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้คิดค้นสารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย. 2 กล่าวว่า ในปีที่แล้ว การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ทดลองฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ในพื้นที่แปลงยางพาราที่ประสบปัญหาโรคใบร่วง ใน ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา และมีการฉีดซ้ำหลังจากฉีดครั้งแรกในระยะ 7-15 วัน ผลการทดลองปรากฏว่าใบยางที่แตกใบใหม่มีขนาดค่อนขางใหญ่ สมบูรณ์ และทรงพุ่มกระจายตัวหนาแน่น แต่พบการระบาดซ้ำในแปลงเดิมเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนรอบใหม่
ในครั้งนี้ ดำเนินการฉีดพ่นในสวนยางของเกษตรกร ม.1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา โดยใช้สารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย. 2 อัตราชนิดละ 500 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร และจะมีการฉีดซ้ำในอัตราเดิม หลังจากฉีดครั้งแรกในระยะเวลา 15 วัน โดยติดตามผลการเปลี่ยนแปลงหลังจากฉีดพ่นอย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับสารชีวภัณฑ์ มรย.1 และ มรย. 2 นั้น เป็นสารที่ส่งเสริมให้พืชมีความแข็งแรงมากขึ้น จนสามารถป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราได้
นายภาสกร ปาละวัล ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดใบร่วงชนิดใหม่นี้ได้ เกษตรกรชาวสวนยางก็ยังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผลผลิตลดลง ทำให้ขาดรายได้ พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางควรมีการปรับตัวเพื่อไม่ต้องหวังพึ่งรายได้จากจากยางพาราเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องมีการประกอบอาชีพเสริม โดย กยท.มีการสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. สามารถขอกู้เงินตามมาตรา 49 (5) ได้ที่ กยท.สาขาในพื้นที่