กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมฯ แชมป์แพร่โควิด-19 สธ.ไม่ห้ามสงกรานต์สาดแป้ง ขอสวมหน้ากาก
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย
นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยค่อนข้างคงที่ อยู่ในระดับอุ่นใจแต่ไม่คลายใจทีเดียว ส่วนพื้นที่ระบาดหลักยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร จ.สมุทรสาคร จ.ปทุมธานี แผนที่ประเทศไทยสัปดาห์นี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 จังหวัด ส่วนใหญ่จังหวัดอื่นค่อนข้างปลอดภัย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เขตบางแค กรุงเทพฯ จากการดำเนินงานการสอบสวนโรคอย่างใกล้ชิด ระหว่างสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมควบคุมโรค สธ. และหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมยังพบการระบาดในพื้นที่ตะวันตกของกรุงเทพฯ แต่ล่าสุดการติดเชื้อเริ่มลดลง
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า โดยเขตที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เขตบางขุนเทียน 93.0 ต่อประชากรแสนคน เขตภาษีเจริญ 89.6 ต่อประชากรแสนคน เขตบางแค 77.0 ต่อประชากรแสนคน เขตปทุมวัน 41.9 ต่อประชากรแสนคน และเขตบางรัก 41.5 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจตลาดหลายแห่ง ไม่เพียงแค่เขตบางแค พบว่า ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยแต่ไม่ถูกต้องถึง 1 ใน 3 โดยสวมใต้ค้าง คล้องไว้ที่คอ และเว้นระยะห่างค่อนข้างยาก
“นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ดูแลตลาด ร้านขายของชำ ตัวแทนชุมชน พบว่า แผงขายอาหารแต่ละชนิดอยู่ปะปนกัน ไม่ได้จัดหมวดหมู่ ลูกค้าและคนส่งของเข้าออกตลาดหลายทาง พนักงานเก็บเงินห้องน้ำ พนักงานตลาด พนักงานรักษาความปลอดภัยมีการติดเชื้อไปด้วย เพราะเจอคนในตลาดทั้งหมด และบางแผงขายไม่มีการทำความสะอาด ที่สำคัญสุด คือ พฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง พูดคุยใกล้ชิดกัน ร้องเรียกตะโกน สัมผัสใกล้ชิดกัน ถ่มน้ำลาย บ้วนน้ำหมาก ลูกจ้างอยู่กันเป็นกลุ่ม จึงขอความร่วมมือตลาดอื่นๆ ด้วย ที่ยกมาไม่ได้ตั้งใจว่าใคร แต่อยากให้เป็นบทเรียน ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียงก็ด้วย อย่าง จ.ปทุมธานี หรือแม้แต่ตลาดใน จ.นนทบุรี ก็พบลักษณะนี้เช่นกัน แต่มีสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ มีการปิดตลาด ปรับปรุงสุขาภิบาล มีมาตรการค้นหาเชิงรุก มีการออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิด-19 ก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด ติดตามตรวจซ้ำ 1 เดือน” นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ จึงต้องย้ำเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะปีนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) และ สธ. เห็นด้วยว่า การพบปะของครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่ดีงาม จึงไม่ห้ามการเดินทาง แต่ขอความร่วมมือผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และหากมีอาการป่วย ก็ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
นพ.โอภาส กล่าวถึงกิจกรรมสาดสี จ.เชียงใหม่ ว่า ในภาพรวม จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สีเขียว การใช้ชีวิตของประชาชน ร้านอาหาร สถานศึกษา การจัดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มากก็สามารถจัดได้ แต่ต้องจัดรูปแบบนิว นอร์มอล ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง มีมาตรการคัดกรองอุณภูมิร่างกาย การลงทะเบียนไทยชนะ โดยเฉพาะกิจกรรมรวมคนหลักร้อย จะต้องขออนุญาตส่วนท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบ เช่น เทศบาล อำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หากเป็นกิจกรรมภายในครอบครัว ญาติสนิทคนไม่มาก ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่างานรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่คนที่มางานก็จะรู้จักกัน เวลาติดตามผู้สัมผัสจะไม่ยุ่งยากมากนัก ต่างจากกิจกรรมสาธารณะ จะติดตามตัวได้ยาก ดังนั้น ไม่ได้ห้ามการจัดกิจกรรมสงกรานต์ แต่จะต้องขออนุญาต กำกับ ติดตาม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกคน
“กิจกรรมสาดแป้ง หากถามว่าผิดหรือไม่ ก็คงตอบว่าไม่ผิด เพราะ ศบค. ประกาศว่าห้ามสาดน้ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบทานข้อมูลกับ จ.เชียงใหม่ ก็ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า กิจกรรมที่จัด ได้ขออนุญาตผู้ที่รับผิดชอบแล้ว เพียงแต่เวลาจัดกิจกรรม อาจมีความหละหลวมของผู้จัด ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปกำกับ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่ายังไม่ถึงเทศกาลสงกรานต์เต็มตัว ก็เริ่มมีกิจกรรมเสี่ยงอันตรายในการควบคุมโรค ขอเน้นย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องดูกรณีนี้เป็นตัวอย่างและกำกับให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว