เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
MGR ออนไลน์ – เจ้าหน้าที่และนักอนุรักษ์ในกัมพูชาเรียกร้องให้ยุติการบริโภคสัตว์ป่า โดยกล่าวว่าการบริโภคสัตว์ป่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักต่อการลักลอบล่าสัตว์ ดักจับสัตว์ และการค้าผิดกฎหมาย
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชากล่าวว่าการบริโภคสัตว์ป่ายังเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์
“ผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์จากสัตว์ป่าด้วยหวังว่าจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพหรือรักษาความเจ็บป่วยและเป็นอาหารเสริมที่ทำให้พวกเขาแข็งแรงขึ้นหรือในแง่ของสถานะทางสังคมนั้นเป็นเรื่องผิด ในทางตรงกันข้าม การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้เกิดการลักลอบล่า ดักจับ และค้าสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อโลก” รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวระหว่างเปิดโครงการรณรงค์ยุติการบริโภคสัตว์ป่า ‘Zero Wild Meat’ ในจ.มณฑลคีรี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
“ถึงเวลาที่ผู้ที่ชื่นชอบเนื้อสัตว์ป่าและผู้ค้าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวกเพื่อหยุดการบริโภคหรือค้าสัตว์ป่า และหันมาปกป้องสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนเพื่อประโยชน์ของระบบนิเวศระดับท้องถิ่นและระดับโลก” รัฐมนตรีกล่าว
รายงานการบังคับใช้กฎหมายจากหน่วยบังคับใช้กฎหมายเคลื่อนที่ของจ.มณฑลคีรี ระบุว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 เจ้าหน้าที่สามารถจับยึดเนื้อสัตว์ป่าที่ค้าอย่างผิดกฎหมายได้ทั้งหมด 1,353 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของจ.สะตึงเตรง และจ.มณฑลคีรี ยึดเนื้อสัตว์ป่าได้กว่า 200 กิโลกรัม ระหว่างการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและการบุกตลาดสดในจังหวัดเหล่านั้น
ในคำแถลงร่วมระบุว่าสายพันธุ์สัตว์ป่าที่ตกเป็นเหยื่อของการบริโภคและการค้าผิดกฎหมายมักรวมถึงสัตว์ที่มีกีบเท้า เช่น เก้ง หมูป่า วัวแดง กวางป่า นอกจากนี้ยังรวมถึงพวกชะมด นางอาย เป็นต้น
การศึกษาเกี่ยวกับประชากรสัตว์ที่มีกีบเท้าในที่ราบทางภาคตะวันออกโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) พบว่าระหว่างปี 2553-2565 ประชากรวัวแดง เก้ง และหมูป่า ลดลง 89% 65% และ 15% ตามลำดับ คำแถลงระบุ
สายพันธุ์สัตว์ป่าที่มีความสำคัญระดับโลกได้สูญพันธุ์ไปเนื่องจากการดักจับ การล่าอย่างผิดกฎหมาย และการค้า ที่ยังทำให้มีการฆ่าสัตว์อย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การลดลงของประชากรสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่คุ้มครองของประเทศ ผู้อำนวยการ WWF ประจำกัมพูชาระบุ
“เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ค้า และผู้บริโภคทุกคน ต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการบริโภคและกิจกรรมการค้าสัตว์ป่า และดำเนินการตามความมุ่งมั่นที่จะให้การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเป็นศูนย์” ผู้อำนวยการ WWF ประจำกัมพูชาระบุ
การบริโภคและการค้าสัตว์ป่ายังทำให้มนุษย์สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า เช่น ที่ตลาดและร้านอาหาร ที่ทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างร้ายแรงและเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคจากสัตว์สู่คนผ่านการค้า การรุกล้ำ การขนส่ง การจัดเก็บ การค้า การแปรรูป และการขายเนื้อสัตว์ป่า คำแถลงระบุ
โครงการ Zero Wild Meat จะดำเนินการนำร่องเป็นเวลา 6 สัปดาห์ในเดือนต.ค.-พ.ย. และจะมีส่วนร่วมกับร้านอาหารและร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร 32 แห่ง ในจ.มณฑลคีรี เพื่อสร้างความตระหนักรู้และยุติการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า
“ในนามของฝ่ายบริหารจ.มณฑลคีรี ผมขอเรียกร้องให้ประชาชนในกัมพูชาเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ป่าและร่วมมือกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” จัน รัตนา รองผู้ว่าราชการจ.มณฑลคีรี กล่าว
รองผู้อำนวยการกรมควบคุมโรคติดต่อของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรณรงค์ยุติการบริโภคเนื้อสัตว์ป่ามีความสำคัญต่อการปกป้องสุขภาพจากความเสี่ยงของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการซื้อ ขาย ขนส่ง และบริโภคสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน” รองผู้อำนวยการกรม กล่าว.