ตรัง พบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งอีก 164 ราย จากคลัสเตอร์โรงงานศรีตรังโกลฟส์ แห่งเดียว รวมมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 665 ราย ทำสถิติขึ้นเป็นลำดับ 1 ของภาคใต้ และลำดับ 4 ของประเทศ เผยยังมีผู้ติดเชื้อที่ยังรอรายงานผลในวันพรุ่งนี้อีกเพียบ
วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงงานศรีตรังโกล์ฟ นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอกันตัง นายแพทย์ ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง และ พญ.ทิพย์ลดา บุญชัย นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาล รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
•ศรีตรังโกลฟส์ ยืนยันการผลิตถุงมือยางปลอดภัย-มีสต๊อกไม่ขาดแคลน
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า วันนี้ จังหวัดตรัง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่ม 164 ราย ผลจากค้นหาเชิงรุก (Active case finding) ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม รวมมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 665 ราย เป็นลำดับ 1 ของภาคใต้ และลำดับ 4 ของประเทศ ทั้งนี้ จังหวัดตรัง ได้ทำงานเชิงรุกตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มจากกลุ่มเล็กๆในครอบครัว งานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งจังหวัดตรังได้เตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำชับภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้เข้มงวดขึ้น รวมถึงงดรับพนักงานเพิ่มโดยเด็ดขาด
นายขจรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ จังหวัดตรัง มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 413 แห่ง มีพนักงานและลูกจ้างกว่า 2 หมื่นคน ดังนั้น เมื่อพบว่ามีพนักงานของโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ บริษััทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)) ป่วยเป็นไข้ และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกันตัง 1 ราย และโรงพยาบาลย่านตาขาว 1 ราย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 แพทย์ลงความเห็นว่าอยู่ในกลุ่มที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จึงได้ทำการตรวจหาเชื้อโควิด19 จากโพรงจมูกและคอ(Swap) พบว่าทั้ง 2 รายติดเชื้อโควิด 19 จังหวัดตรัง จึงได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 33 ราย ใน 3 แผนกของโรงงานดังกล่าว และตรวจพบเชื้อเพิ่มอีก 22 ราย จึงสั่งปิดโรงงานดังกล่าวเป็นการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายพร้อมติดตามพนักงานทุกคนของโรงงานดังกล่าว มาทำการคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากโพรงจมูกและคอ ทั้งหมด
“โดยได้ดำเนินการ Swap เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 จำนวน 493 ราย / Swap เมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2564 จำนวน 486 ราย และ Swap เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2564 จำนวน 617 ราย รวม Swap ไปทั้งสิ้น 1,627 ราย โดยจังหวัดตรัง ได้เร่งดำเนินการในการป้องกันและควบคุมจำกัดวงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงคุมเข้มมาตรการเชิงรุกในโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน” นายขจรศักดิ์ กล่าว
นายขจรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่พบมีการติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรม ทางจังหวัดก็ได้สั่งการให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ลงไปกำชับให้ผู้ประกอบการโรงงานต่างๆกว่า 400 แห่งให้คุมเข้มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด กรณีของโรงงานศรีตรังโกล์ฟ ที่มีพนักงานประมาณ 1,600 คนพอทราบมีการติดเชื้อก็ได้ลงไปดูแลทันทีและภายใน 3 วันคือจากวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจหาเชื้อครบแล้ว 100% และผลก็ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับวันนี้ตรังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 164 คนเป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากคลัสเตอร์โรงงานศรีตรังฯทั้งหมด จำนวน 164 คน เป็นแรงงานไทย 115 คน เป็นแรงงานพม่า 49 คน ซึ่งเป็นผลจากการตรวจหาเชื้อจากแรงงานในโรงงานทั้งหมดจำนวน 1,579 คน เป็นผลถึงวันเสาร์ส่วนผลของวันอาทิตย์ที่ตรวจไปแล้วยังรอผลอยู่ คาดว่าภายในวันสองวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน่าจะมากอยู่ แต่หลังจากนั้นคาดว่าน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางจังหวัดก็จะทำงานเชิงรุกกันต่อไป” นายขจรศักดิ์ กล่าว
นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการผู้จดการสายงานการผลิตสาขาตรัง บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดตรัง ที่พบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบันมีพนักงานในโรงงานติดเชื้อโควิด 19 ไปแล้วจำนวน 387 คนนั้น ทางบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ไปทำการปิดโรงงานในทันทีที่ทราบว่ามีพนักงานของทางโรงงาน ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 2 ราย พร้อมปรับโรงงานเป็นสถานที่กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ(Factory Quarantine) โดยมีพนักงานเข้ารับการกักตัวในโรงงานกว่า 1,200 คน
นอกจากนี้ ทางโรงงานยังได้ส่งพนักงานอีกกว่า 300 คน เข้ารับการกักตัวในอีก 3 โรงแรมคือโรงแรมวัฒนาพาร์ค โรงแรมอีโค่อิน และโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ซึ่งเป็นสถานที่กักกันตัวของจังหวัด(Local Quarantine) โดยทางโรงงานได้ดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของพนักงานทั้งหมด ส่วนพนักงานที่ทำการกักตัวในบ้านพักพนักงานและภายในโรงงาน(Factory Quarantine) ทางโรงงานได้ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานทุกคนเป้นอย่างดี อีกทั้งได้คุมเข้มมาตรการเสริมในการป้องกันส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล และงดการพูดคุยหรือจับกลุ่มกัน งดรับประทานอาหารร่วมกัน แยกของใช้ส่วนตัวของทุกคนไม่ให้ปะปนกัน และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
“นอกจากนี้ ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ทำการรวบรวมข้อมูลของพนักงานแต่ละราย เพื่อส่งมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐ กรณีพบว่าพนักงานรายใดตรวจพบเชื้อโควิด 19 เพื่อจะได้ทำการสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดมาทำการตรวจหาเชื้อ และหลังจากส่งตัวพนักงานที่ตรวจพบเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลแล้ว ทางโรงงานได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในทันที พร้อมทั้งประสานกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง โรงพยาบาลกันตัง อย่างใกล้ชิดทุกวันรวมถึงปฎิบัติตามาตรการควบคุมและคำสั่งของทางจังหวัดอย่างเคร่งครัดด้วยเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วๆที่สุด”นางสาวจริญญา กล่าว
นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอกันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า สำหรับการควบคุมโรคในเชิงพื้นที่ของทางอำเภอกันตัง ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของทางสาธารณสุขจังหวัด สรุปเป็น 2 เรื่อง ส่วนแรกคือเรื่องของการจัดทำสรุปข้อมูล ซึ่งได้มีการประสานทางโรงงานสรุปข้อมูลแยกภูมิลำเนาพนักงาน ตรงนี้สามารถประสานกับอำเภอที่เกี่ยวข้องทั้งอำเภอเมือง อำเภอย่านตาขาวในการจัดเตรียมข้อมูล ในเรื่องของการควบคุมโรคในส่วนของพนักงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ของอำเภอนั้นๆ ส่วนที่สองคือการควบคุมโรคการดำเนินการในเชิงลึก
“เมื่อทราบสถานการณ์ของการแพร่ระบาด ให้ทางโรงงานดึงพนักงานมาทำการ Swap มากักตัวที่โรงงาน แต่ช่วงก่อนที่จะมากักตัวพนักงานกลับบ้านทุกวันจึงเสี่ยงในการสัมผัสคนในครอบครัวช่วงนั้นถือเป็นจุดเสี่ยง เพราะฉะนั้นจึงได้มีการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ได้ตรวจสอบว่าแต่ละพื้นที่ว่ามีพนักงานของโรงงานอยู่ในพื้นที่ใดบ้างก็ให้ทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะมีการสังเกตอาการตลอดหากไม่มีอาการก็กลับสู่สังคมต่อไปได้ หากมีอาการก็ต้องตรวจหาเชื้อและเข้ารับการรักษาต่อไป ก็คาดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนได้ในระดับหนึ่ง” นายจักรพงษ์ กล่าว
นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จากการตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากโพรงจมูกและคอ(Swap) ในพนักงานทุกคนของโรงงานผลิตถุงมือยาง(ศรีตรังโกล์ฟ) จำนวน 1,627 ราย มีอัตราการพบเชื้อ 1 ต่อ 3 ถือว่าค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันผลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในคลัสเตอร์โรงงานศรีตรังโกล์ฟ พบว่า มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 387 ราย (เมียนมา 84 ราย และคนไทย 303 ราย)
“อย่างไรก็ตาม โรงงานดังกล่าว มีทั้งพนักงานที่พักอาศัยในบ้านพักพนักงานภายในโรงงาน และมีบางส่วนที่เดินทางไป-กลับ อาจทำให้การแพร่ระบาดของโรคขยายเป็นวงกว้างได้ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้ประสานกับทางโรงงานและอำเภอ นำข้อมูลของพนักงานในกลุ่มนี้ มาติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสร่วมบ้าน มาทำการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด 19 พร้อมกักตัว 14 วัน หากพบผู้ติดเชื้อ จะส่งตัวเข้าทำการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ตามลักษณะอาการ หากไม่พบเชื้อ จะทำการกักกันตัวในสถานที่กักกันตัว พร้อมทำการตรวจหาเชื้อ (Swap) ครั้งที่ 2 เมื่อกักตัวครบ 7 วัน และตรวจหาเชื้อ (Swap) ครั้งที่ 3 เมื่อกักตัวครบ 14 วัน นอกจากนี้ ยังได้ทำการสอบสวนเชิงลึกด้วยว่า พนักงานโรงงานดังกล่าว มีการเช่าบ้านอยู่ร่วมกันกับพนักงานในโรงงานอื่น ๆ ด้วยหรือไม่” นายแพทย์บรรเจิด กล่าว
ด้าน นายแพทย์ตุลกานต์ มักคุ้น เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ทั้งหมดที่รายงาน ศบค.กลางมี 164 คนเป็นลำดับ 1 ของภาคใต้ และอันดับ 4 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และเพชรบุรี ผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่พบวันนี้อยู่ในโรงงานศรีตรังโกลฟส์ฯทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่มีผู้ป่วยจากคลัสเตอร์อื่นๆในวันนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นชาวพม่า 49 รายที่เหลือเป็นคนไทย สำหรับคนงานของโรงงานศรีตรังฯทั้งหมด 1,579 ราย เราได้ดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ตอนที่เรารู้ 2 รายแรกเมื่อคืนวันพุธ ที่ผ่านมาเราก็เริ่มสงสัยจึงเข้าไปค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 33 ราย พบผลเป็นบวก 20 รายนั่นคือประมาณ 60% เมื่อผลเป็นเช่นนี้เราจึงทำการค้นหาคนงานในโรงงานทั้งหมดโดยได้ทำการปิดโรงงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาแล้วทำการ Swap เสร็จทั้งหมดภายใน 3 วันซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
นายแพทย์ตุลกานต์ เปิดเผยต่อไปว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในจังหวัดตรัง และทีมสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 ได้ลงมาช่วยกันทั้งหมด ซึ่งจะเกิดผลอย่างน้อย 2 ประการ คือประการแรกผู้ที่ได้รับการรายงานผลเป็นบวก แน่นอนว่าจะต้องเข้าโรงพยาบาลสนาม โดยจังหวัดตรังมี 595 เตียงยังมีศักยภาพที่เพียงพอและทางจังหวัดยังเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นอีกเพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ประการที่สอง ถ้าผลเป็นลบก็จะแยกกักตัวแล้ว Swap หนที่สองหนที่สาม จนครบ 14 วันถ้าไม่พบเชื้อก็กลับบ้านออกสู่ชุมชนได้ สำหรับคนงานทั้ง 1,579 คนอยู่นอกพื้นที่ 16 ราย ซึ่งประเมินแล้วว่าเขาสามารถทำ Home Quarantine ได้ สามารถทำตามมาตรการควบคุมโรคได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนทุกคนการ์ดต้องไม่ตก ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“ส่วนที่เป็นสถิติคลัสเตอร์โรรงานศรีตรัง ณ วันนี้(1มิย.)ทำ Swap ไปแล้ว 1,625 Swapตอนนี้ออกผลแล้ว 1,186 รายผลเป็นบวก 387 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งรายงานจนถึงวันนี้ อีกส่วนหนึ่งออกผลเมื่อ 09.00-10.00 น.ซึ่งจะไปรายงานผลในวันพรุ่งนี้ เหลือที่ห้องปฏิบัติการ กำลังรันอยู่ 489 ราย ตัวเลขนี้ถ้าทราบภายในเย็นวันนี้ก็จะรายงานในวันพรุ่งนี้ทั้งหมด แต่ถ้าทราบเช้าพรุ่งนี้ก็จะรายงานในวันถัดไป เพราะฉะนั้นไม่เกิน 2 วันเราจะทราบผลของคลัสเตอร์โรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามนับถึงวันนี้จังหวัดตรัง Swap ไปแล้วทั้งสิ้น 17,980 รายเป็นผลบวก 665 รายคิดเป็น 3.69% ที่เป็นผลบวก ในทางระบาดวิทยาถือว่ายังสามารถควบคุมโรคได้”