ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 ก.พ.พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 186 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 176 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 141 คน ในจำนวนนี้มาจาก จ.สมุทรสาคร 132 คน กทม. 3 คน นครปฐม 1 คน ปทุมธานี 4 คน เพชรบุรี 1 คน มาจากการค้นหาเชิงรุก 35 คน ในจำนวนนี้เป็นการค้นหาเชิงรุกที่ จ.สมุทรสาคร 31 คน และสมุทรสงคราม 4 คน นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน โดยมาจาก สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 2 คน เยอรมนี อินเดีย มาเลเซีย สวีเดน ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดทั้งสิ้น 23,557 คน หายป่วยสะสม 17,410 คน อยู่ระหว่างรักษา 6,068 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 79 คน
คลัสเตอร์ใหม่แม่ค้าหมูอัมพวา
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 คน ที่ กทม.เป็นเจ้าหน้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการสอบสวนพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ 230 คน และมี 9 คนที่มีแนวโน้มจะติดเชื้อโควิด-19 โดยคณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ ได้สอบสวนวงจรการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวดเพื่อกำหนดผู้มีความเสี่ยงภายในระยะ 14 วันก่อนวันที่ 6 ก.พ.ที่พบผู้ติดเชื้อ ในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงนั้นจะให้ลาหยุดกักตัวเป็นเวลา 14 วัน จะทำความสะอาดพื้นที่ โดยคณะกรรมการโควิด-19 จะดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่กรณีแม่ค้าขายหมูที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตอนนี้เราถือว่าเป็นหนึ่งคลัสเตอร์ จากการสอบสวนโรคพบว่าแม่ค้าขายหมูรายนี้เดินทางไปหลายจังหวัด พักอาศัยอยู่ที่ อ.อัมพวา แต่ไปรับหมูจาก จ.ราชบุรี และนำไปขายของที่ตลาดรถไฟสมุทรสาคร พบว่าติดเชื้อวันที่ 28 ม.ค.เมื่อตรวจคัดกรองพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นลูกสะใภ้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 30 ม.ค.แม่ค้าคนดังกล่าวเดินทางไปกลับเช่นนี้ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-4 ก.พ. ทำให้มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 87 คน เชื่อมโยงไปในหลายจังหวัด ซึ่งที่ชัดเจนแล้ว ได้แก่ สมุทรสาคร 22 คน เพชรบุรี 5 คน กทม. 1 คน ราชบุรี 1 คน และสุพรรณบุรี 1 คน เนื่องจากผู้สัมผัสใกล้ชิดเดินทางในลักษณะข้ามจังหวัดใกล้เคียงกัน และมีบางส่วนใช้บริการขนส่งสาธารณะ
ปรับค้นหาเชิงรุกสมุทรสาคร
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ช่วงสิบกว่าวันที่ผ่านมามีการระดมสรรพกำลังตรวจเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร ทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนที่สูงมาก แต่ตอนนี้ที่พบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุกน้อยลง ไม่ใช่เป็นเพราะค้นหาน้อยแต่ค้นหาแล้วเจอเชื้อน้อยลง อย่างไร ก็ตาม ขณะนี้เราไม่ได้ค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร วันละเป็นหมื่นคนแล้ว แต่ยังคงค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง แต่จะเปลี่ยนรูปแบบ เนื่องจากเราค้นหาเชิงรุกในโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ไปหมดแล้ว สัปดาห์นี้จะปรับรูปแบบไปค้นหาเชิงรุกในโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นจะค้นหา 100-150 เคสต่อโรงงาน วันละ 50 โรงงาน หรือประมาณ 5,000 คน ขอให้มั่นใจว่ายังคัดกรองต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพื่อนำไปสู่การผ่อนคลาย และกลับสู่ปกติโดยเร็ว ส่วนของ กทม.ยังคงค้นหาเชิงรุกในโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดย กทม.มีการตรวจคัดกรองโรงงานไปแล้ว 123 แห่ง ตรวจพนักงานไปแล้ว 13,480 คน พบผู้ติดเชื้อ 54 คน คิดเป็น 0.4 เปอร์เซ็นต์
วอนตั้งการ์ดสูงสุดช่วงเทศกาล
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงกรณีหลายประเทศ เริ่มพูดคุยกันว่าควรกำหนดมาตรการที่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เดินทางออกนอกประเทศได้ อาจพิจารณาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่การตัดสินใจออกมาตรการใดต้องไตร่ตรองให้ดี ดังนั้น มาตรการที่จะออกมา จะตามต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษาให้รอบด้านและต้องฟังองค์การอนามัยโลกด้วย ขณะที่ในเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้ ต้องขอความร่วมมือให้ทุกคนตั้งการ์ดสูงสุด โดยเรื่องการจับจ่ายใช้สอยเป็นสิ่งที่ ศบค.มีความเป็นห่วงสูงสุด เพราะหลายคนเมื่อรวมตัวกันก็ต้องทำอาหาร ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่อาจจะอยู่บ้านมาโดยตลอด ตอนนี้จะต้องไปตลาด จึงขอให้ระมัดระวัง เพราะที่ตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เกตมีคนไปจำนวนมาก รวมถึงการรวมตัวกันในครอบครัวต้องระมัดระวัง มีการนำเสนอมาตรการที่อาจจะช่วยลดความเสี่ยง เช่น ให้อั่งเปาออนไลน์ อวยพรโดยนวัตกรรมและ เทคโนโลยี หรือแม้แต่การจับจ่ายใช้สอยผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ ในเทศกาลวาเลนไทน์ ถ้ารักกันวันนี้ขอให้รักษาระยะห่าง จะได้รักกันนานๆการจะพบเจอกันนั้น อยากให้ระมัดระวังเรื่องมาตรการความสะอาดสูงสุดด้วย
คาดปิดคลัสเตอร์แม่ค้าหมูได้
ต่อมา นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีกลุ่มผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับแม่ค้า ขายหมู จ.สมุทรสงคราม ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบ 87 คนนั้น รายงาน ศบค.แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. -4 ก.พ. เป็นการค้นหาของทีมสอบสวนโรคและนำประวัติการสัมผัสของผู้ป่วยแต่ละคนมาเชื่อมโยง ทำให้พบตัวอย่างของการติดเชื้อในตลาด และตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.เป็นต้นมา ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คาดหวังว่าคลัสเตอร์นี้น่าจะหยุดได้ แต่ยังมีการเฝ้าระวังกันต่อไป กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ต้องการเตือนให้ทุกคนต้องเฝ้าระวังตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเข้าที่ชุมชน เช่น ตลาด ขอให้เคร่งครัดต่อการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ
แม่สอดติดเชื้ออีก 14 คน-ปิดเรียนต่อ
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ว่าในพื้นที่เขตเทศบาลนครแม่สอด โรงเรียน 15 แห่ง ที่ประกาศหยุดการเรียนการสอนมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากลุงวัย 75 ปี ก่อนลามไปติดกระจายมากถึง 7 ครอบครัว จำนวนผู้ติดเชื้อ 11 คน ต่อมาเจ้าหน้าที่ปูพรมตรวจคัดกรองพื้นที่เสี่ยงสูงในตลาดสีมอย หรือตลาดสดนครแม่สอด และตลาดสดพาเจริญ ครั้งแรก วันที่ 1 ก.พ. สุ่มตรวจคนไทยและเมียนมา จำนวน 953 คน ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 คน ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ก.พ.ระดมตรวจครอบคลุม 4 พื้นที่ จำนวน 2,246 คน ผลเบื้องต้นพบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 14 คน และนำผู้มีความเสี่ยงต่ำเข้ากักกันในโลคัล การันตี กว่า 50 คน ในขณะที่ต้องระดมทีมแพทย์พยาบาลจากพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดตาก และทีมเสริมจากโรงพยาบาลพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เข้ามาร่วมปฏิบัติงาน ส่วนโรงเรียนทั้ง 15 แห่งที่จะต้องเปิดเรียนในวันนี้ ก็หยุดต่อไปจนถึงวันที่ 14 ก.พ. และจะเปิดเรียนในวันที่ 15 ก.พ.หากสถานการณ์โควิดเบาบางลง
สมุทรสาครตัวเลขลดฮวบ
ขณะที่ จ.สมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯแจ้งเมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 7 ก.พ. ว่าพบ ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 163 คน จำแนกเป็นจากการค้นหาเชิงรุก 31 คน เป็นคนไทย 6 คน ต่างด้าว 25 คน ที่เหลือเป็นผู้ป่วยจากการตรวจในโรงพยาบาล 132 คน เป็นคนไทย 44 คน ต่างด้าว 88 คน สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 15,056 คน ขณะเดียวกัน ตลอดวันมีบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศทยอยเดินทางมาช่วยปฏิบัติหน้าที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย อาทิ จ.พัทลุง จัดส่งบุคลากรทางการแพทย์ 2 ทีม รวม 23 คน ทีมแรกเป็นบุคลากรจาก รพ.พัทลุง 9 คนจากโรงพยาบาลชุมชนอีก 8 คน ปฏิบัติงานในระหว่างวันที่ 8-13 ก.พ.64 ส่วนทีมที่ 2 จาก รพ.พัทลุง รพ.ศรีนครินทร์ และบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง 6 คน ปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 15-22 ก.พ.64
ลุยตรวจเลือดหาแอนติบอดี
จากนั้นตลอดวัน ที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ที่พักอยู่ภายในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว ดร.วริษฐา แสวงดี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าทางกรมวิทยาศาสตร์ฯมีโครงการศึกษาปัจจัยทางภูมิคุ้มกันและพันธุกรรมของผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้บางคนไม่มีอาการ แต่บางคนอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล ตั้งสมมติฐานไว้ว่า คงมีปัจจัยบางอย่างในร่างกายของตัวมนุษย์เอง ที่ส่งผลให้เกิดการแสดงออกของโรคไม่เหมือนกัน รวมถึงบางคนอยู่ร่วมในที่เดียวกันเป็นเดือน แต่ไม่ติดเชื้อเลย จึง มาเก็บเลือดไปตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 มีกลุ่มเป้าหมายที่จะตรวจประมาณ 1,900 คน ใช้เวลาตรวจ 3 วัน และถ้าพบผู้ที่ถูกตรวจมีแอนติบอดี ประมาณร้อยละ 60-70 ก็สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อของโรคได้และข้อมูลตรงนี้จะสนับสนุนในการวางแผนในการจัดการเกี่ยวกับโรคนี้ในจังหวัดสมุทรสาครได้อีกด้วย
เปิดช่วงเวลาฉีดวัคซีนโควิด-19 (คลิกอ่านข่าว)
ได้วัคซีนจีนก่อน 2 แสนโดส (คลิกอ่านข่าว)
เล็งจัดหาเพิ่มอีก 20 ล้านโดส (คลิกอ่านข่าว)
จุฬาฯติดเชื้ออีก 3 คน
ส่วนกรณีบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดเชื้อโควิด-19 รวม 3 คนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศฉบับที่ 3/2564 ลงวันที่ 7 ก.พ.2564 ระบุว่า หลังพบผู้ติดเชื้อและขณะนี้ผู้ป่วยทั้งหมดเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้วนั้น คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มดังกล่าวให้เข้ามารับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 3 คน พักอยู่ห้องตรงข้ามและห้องเยื้องกับผู้ป่วยกลุ่มเดิมและมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกัน คณะกรรมการจึงกำหนดมาตรการดังนี้ 1.สอบสวนโรคผู้ป่วย 3 คนใหม่โดยเร็วที่สุด 2.ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยดังกล่าวให้เข้ามารับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์ บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ โดยทันที 3.ให้ปฏิบัติตามประกาศจุฬาฯ ให้ผู้พักอาศัยในอาคารจุฬานิวาสปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยของตนเองในช่วงการแพร่ระบาดของโรค กรณีอื่นๆให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานพิจารณาตามความเหมาะสม 4.ให้อาคารจุฬานิวาสเป็นเขตต้องดูแลเป็นพิเศษ ตรวจคัดกรองเชิงรุกแก่ผู้พักอาศัยในหอพักจุฬานิวาสให้ครบทุกคนในวันที่ 7 ก.พ.เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ได้ตรวจคัดกรองผู้พักอาศัยในหอพักจุฬา– นิวาส จำนวนทั้งสิ้น 230 คน และยังติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้ขณะนี้บุคลากรของจุฬาฯ ติดโควิด-19 รวม 6 คน โดยพบผู้ป่วยคนแรก วันที่ 5 ก.พ. 1 คน วันที่ 6 ก.พ. 2 คน และวันที่ 7 ก.พ. พบอีก 3 คนดังกล่าว
คุมเข้มเข้าออกอาคารจุฬานิวาส
นอกจากนี้ นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกประกาศจุฬาฯ ลงวันที่ 7 ก.พ.64 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับผู้พักอาศัยในอาคารจุฬานิวาส กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากอาคารจุฬานิวาสเป็นอาคารที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่จุฬาฯ ผู้ปฏิบัติงานให้บริการของส่วนงานและหน่วยงานต่าง ๆของมหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดโอกาสติดเชื้อโรคดังกล่าวของผู้พักอาศัยในอาคารรายอื่น รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานและหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัย จึงให้บุคลากรที่พักอาศัยในอาคารนี้ทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ในที่พักตนเอง เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-21 ก.พ. และห้ามมิให้ผู้พักอาศัยเข้าอาคารตั้งแต่เวลา 22.00 น.ถึง 06.00 น.ของวันถัดไป ทั้งนี้ผู้พักอาศัยสามารถเข้าออกได้เฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น โดยลงทะเบียนเข้าออกผ่านแอปพลิเคชันหมอชนะ หรืออื่นๆตามที่กำหนด และขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
เรียก “ดีเจมะตูม” พบตำรวจ 15 ก.พ.
ขณะที่การดำเนินคดีนายเตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม กรณีจัดปาร์ตี้วันเกิดในโรงแรมจนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า พนักงานสอบได้ออกหมายเรียกดีเจมะตูม มาให้ปากคำในวันที่ 15 ก.พ.นี้ และรับทราบข้อกล่าวในความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หากมีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถเข้าพบพนักงานสอบสวนได้ เช่น ยังอยู่ในขั้นตอนการรักษาก็จะเลื่อนออกไปก่อน ขณะเดียวกันกลุ่มเพื่อนที่ไปร่วมงานวันเกิดดีเจมะตูม หากพ้นการกักตัว 14 วัน จะมาให้ปากคำเช่นกันที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ส่วนข้อสงสัยว่าในงานเลี้ยงวันเกิด ดีเจมะตูมมีการเสพยาเสพติดหรือไม่นั้น เบื้องต้นผลการตรวจสอบห้องที่จัดงานเลี้ยงไม่พบยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีเหตุจำเป็นต้องตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือดเพื่อหาสารเสพติดในร่างกายของดีเจมะตูมหรือผู้มาร่วมงานเลี้ยง ขณะที่การเอาผิดกับทางโรงแรมเจ้าของสถานที่ จากการตรวจสอบไม่ได้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับดีเจมะตูม ไม่มีความผิด การนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่มในห้องพัก เป็นสิทธิ์ของลูกค้าผู้ใช้บริการเนื่อง จากห้องพักโรงแรมไม่ได้เป็นสถานที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามประกาศของกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตสาทร และชายผู้ร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของดีเจมะตูม 1 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ศณศร นักเรียน สว. (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้แล้วเช่นกัน
ต่างด้าวแห่ลงทะเบียนออนไลน์
วันเดียวกัน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน ให้แรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่อยู่และทำงานในประเทศอย่างไม่ถูกต้อง รายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ ตามมติ ครม. วันที่ 29 ธ.ค.2563 เริ่มเปิดให้แจ้งรายชื่อตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.-13 ก.พ.2564 ปรากฏว่า ณ วันที่ 8 ก.พ. มีต่างด้าวยื่นรายชื่อแล้ว 422,162 คน เป็นกลุ่มมีนายจ้าง 388,974 คน ไม่มีนายจ้าง 33,188 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 251,510 คน กัมพูชา 126,078 คน และลาว 44,574 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.กว่า 8 หมื่นคน รองลงมาคือ จ.ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ทำงานก่อสร้างมากที่สุดกว่า 9 หมื่นคน รองลงมาเป็นงานเกษตรและปศุสัตว์ จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม งานให้บริการต่างๆ และงานต่อเนื่องเกษตร ทั้งนี้ ระบบออนไลน์จะเปิดให้แจ้งรายชื่อต่างด้าวจนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 13 ก.พ. คาดว่าใน 5 วันสุดท้ายจะมียอดเข้ามาวันละกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งจะทำให้ยอดรวมทั้งหมดมีประมาณ 5 แสนคน ตามที่ได้คาดหมายไว้ ขอย้ำเตือนแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง หากพ้นกำหนด 13 ก.พ.แล้วจะไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยเพื่อทำงานได้อีกต่อไป คนที่แจ้งรายชื่อจะต้องเข้าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กับโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ภายใน 16 เม.ย.นี้
แอฟริกาใต้ระงับวัคซีนแอสตราฯ
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ ยอดติดเชื้อรวมทั่วโลกเพิ่มเป็น 107 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 2.33 ล้านคน ที่สหรัฐอเมริกา ยอดติดเชื้อรวมขยับเป็น 27.6 ล้านคน เสียชีวิตรวม 474,933 คน นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุเป็นเรื่องยากมากที่ภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จะฉีดวัคซีนให้ประชากรครบ 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อังกฤษยอดติดเชื้อรวมกลายเป็น 3.94 ล้านคน เสียชีวิตรวม 112,465 คน ด้านเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นประเทศที่ 21 ของโลก ที่พบยอดติดเชื้อรวมทะลุ 1 ล้านคน เสียชีวิตรวม 14,403 คน ขณะเดียวกันรัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศระงับโครงการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาให้กับบุคลากรการแพทย์ทั่วประเทศ หลังมีรายงานผลการศึกษาว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเผชิญกับไวรัสกลายพันธุ์ B1351 ของแอฟริกาใต้ และอาจเปลี่ยนไปใช้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แทน วัคซีนแอสตราเซเนกาที่สั่งจองไว้ 1.5 ล้านโดส มีอายุการใช้งานถึงเดือน เม.ย.นี้ จะให้ทีมนักวิทยาศาสตร์พิจารณาว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง