คุมโรงเรียนแม่สอด ป้องกันโควิดแพร่ระบาด สธ. ลงพื้นที่จังหวัดตาก แนะผู้บริหารโรงเรียนปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรค ลดความเสี่ยงเด็กวัยเรียน
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สถานศึกษาใน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญ ต่อมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา หลังเปิดเรียน โดยวางแนวทาง 6 มิติ คุุมเข้มโรงเรียนแม่สอด ประกอบด้วย
- มิติที่ 1 การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อโรคด้วย 6 มาตรการหลัก และ 6 มาตรการเสริม อาทิ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ คัดกรองไข้ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และทำความสะอาด บริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วม เป็นต้น
- มิติที่ 2 การเรียนรู้ สนับสนุนสื่อความรู้ป้องกันโรคโควิด-19 เตรียมความพร้อมการเรียน รู้ของเด็กตามวัย และสอดคล้องกับพัฒนาการ และสร้างความเข้มแข็ง ของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
- มิติที่ 3 การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาก
- มิติที่ 4 สวัสดิภาพและการคุ้มครอง เตรียมแผนรองรับ ด้านการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนป่วย แนวปฏิบัติ เพื่อลดการรังเกียจ และการตีตราทางสังคม (Social stigma)
- มิติที่ 5 นโยบาย มีแผนงาน โครงการรองรับ แต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่ และสื่อสาร
- มิติที่ 6 การบริหารการเงิน โดยพิจารณาการใช้งบประมาณ สำหรับการป้องกันการระบาด ของโรคโควิด-19 ตามความจำเป็น และเหมาะสม
สำหรับการเรียน ขอให้เน้นจัดการเรียนการสอน ให้เป็นกลุ่มเดียว และให้มีกิจกรรมทำในกลุ่มเดียวกันตลอดทั้งวัน และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ อาทิ สนามเด็กเล่น อุปกรณ์ของเล่น ร่วมกับการจัดกลุ่ม สลับกันใช้งาน เพื่อช่วยลดการสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังวางปรับรูปแบบ และเวลา ในการรับประทานอาหารกลางวัน เช่น จัดเป็นกล่องอาหารแยกเฉพาะบุคคล และให้นักเรียนรับประทาน ในห้องเรียนของตนเอง ซึ่งมีที่นั่งเว้นระยะห่างกัน หรือปรับเวลาในการพักรับประทานอาหารกลางวัน ให้เหลื่อมเวลากัน
ขณะเดียวกัน เมื่อกลับถึงบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้เด็กล้างมือด้วย สบู่และน้ำ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน
ด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย และกระทรวงศึกษาธิการ มีกลไกการประเมิน และติดตามประเมินผล ตามมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังเปิดภาคเรียนร่วมกัน ในแต่ละโรงเรียน ตามพื้นที่เขตการศึกษา
พร้อมกันนี้ ให้มีผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียน เป็นจิตอาสา เข้ามาร่วมติดตามผล การปฏิบัติตามมาตรการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำทั้งด้านสุขอนามัยเบื้องต้น ในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคติดต่อ การตรวจคัดกรองสุขภาพ รวมทั้งสร้างเครือข่าย ป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับโรงเรียน ตั้งเป้าหมายจังหวัดละ 2 คน
ขณะที่การรายงานผล จะรายงานผลการดำเนินงาน อย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบ Thai Stop COVID กลับมายังกระทรวงสาธารณสุข และมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กำกับดูแล ให้โรงเรียนมีสุขอนามัย เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้การดำเนินงานควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 มีความปลอดภัย อย่างสูงสุด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เด็กติดโควิด! สั่งปิด โรงเรียนสรรพวิทยาคม จ.ตาก – สพฐ.เผยรับเชื้อจากบ้าน
- ยกเลิก! จัดงานตรุษจีนเยาวราช ปีนี้ หนีโควิด
- โควิด ‘แม่สอด’ เริ่มพบการระบาดในชุมชน ตรวจพบลักลอบเข้าเมืองทุกวัน