สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร โดยจัดทำโครงการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วยเทคนิคการใช้แมลงเป็นหมันในไม้ผลเศรษฐกิจ ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการทดลองใช้กับสวนผลไม้ หลายแห่ง เช่น อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือ ที่ ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ในระดับต่ำ หรือ Low Pop และล่าสุด ที่ จ.นครนายก นำมาใช้กับสวนมะยงชิด
สำหรับ ขั้นตอนการใช้แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ทำได้ดังนี้ เริ่มจาก การเลี้ยงแมลงวันผลไม้ในห้องทดลองเป็นจำนวนมาก การทำหมันแมลงวันผลไม้ที่เลี้ยงด้วยการฉายรังสี การปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันออกไปผสมพันธุ์กับแมลงผลไม้ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ผลของการผสมพันธุ์จากแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน ทำให้ตัวเมียวางไข่ที่ไม่สามารถฟักออกเป็นตัวได้ แต่จะต้องปล่อยแมลงที่เป็นหมันให้มากกว่าแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อลดโอกาสแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติจะได้ผสมพันธุ์กันเอง ทำให้ประชากรแมลงในธรรมชาติลดลง เมื่อปล่อยแมลงที่เป็นหมันจำนวนมากติดต่อกัน จะสามารถลดประชากรแมลงในธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเสียหายกับผลผลิตลดลง
การควบคุมแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคแมลงวันเป็นหมันในประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรก ที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2528-2540 พบว่า สามารถลดการทำลายท้อพันธุ์พื้นเมือง ของแมลงวันผลไม้จาก 54.7% ลดลงเหลือ 4% และที่ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ครอบคลุมพื้นที่ราว 3,700 ไร่ ผลการดำเนินการตลอดปี 2561-2562 ปรากฏว่า ความเสียหายของผลผลิตลดลงเหลือเพียง 14% เกษตรกรมีรายได้รวมมากกว่า 25 ล้านบาท ลดการใช้สารเคมีลงได้มากกว่า 70%
เกษตรกรที่สนใจ ต้องการเข้าร่วมโครงการ ดังกล่าว ติดต่อได้ที่ สทน.