กรมชลประทาน สั่งการทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าต้น พ.ค. ตกแน่มาเร็วกว่าปีผ่านๆ มา
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (29 มี.ค.64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,451 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,521 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,770 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,444 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,748 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,052 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีฝนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี จึงได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์
พร้อมตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยฯ กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาค ซึ่งเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยเพื่อให้เพียงพอ ต่อการอุปโภค-บริโภค การช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศน์ให้กับพื้นที่ป่าไม้
รวมถึงพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า ตลอดจนการบรรเทาและยับยั้งพายุลูกเห็บ เนื่องจาก สภาพอากาศในขณะนี้มีโอกาสที่จะเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพายุลูกเห็บตามมาด้วย โดยกรมฝนหลวงฯ ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลเพื่อวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่
ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าบริเวณ จ.แพร่ และพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.กำแพงเพชร อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี สกลนคร นครศรีธรรมราช พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจำนวน 7 แห่ง และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร