วันพฤหัสบดี ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2564, 22.48 น.
ประธาน กมธ.แก้ยากจน วุฒิสภาฯ ชูจังหวัดแพร่ ต้นแบบ “นวัตกรรมสังคม” ผนึกความปรองดอง “ภาครัฐ-ภาคประชาชน” ร่วมบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กอย่างลงตัว
รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เผยแพร่กรณีศึกษา “จังหวัดแพร่” หลักคิดใหม่ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ผ่านเอกสาร “สาระดีๆ จาก ส.ว.” จัดทำโดยคณะอนุกรรมการติดตามการสร้างสรรค์การประชาสัมพันธ์วุฒิสภา โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้
ในสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักในเดือนพฤษภาคมและมีฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแล้งที่อาจยาวนานมากถึงราว 9 เดือน คือระหว่างมิถุนายน 2564-เมษายน 2565 ผมคิดว่าสังคมไทยต้องการหลักคิดใหม่ในการจัดการเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กที่จะสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นในการกักเก็บน้ำได้อย่างรวดเร็ว และดีพอประมาณ
ประสบการณ์เรื่องการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กของจังหวัดแพร่น่าจะให้ประโยชน์แก่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศได้ จังหวัดแพร่คล้ายคลึงกับทุกจังหวัดในประเทศไทย คือมีปริมาณน้ำฝนเกินความต้องการทุกปี แต่มีระบบเก็บกักน้ำฝนได้น้อยเกินไป
จังหวัดแพร่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน แต่ไม่มีการวางระบบเก็บกักน้ำที่สามารถปรองดองผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนที่ลงตัวได้ ภาครัฐอยากสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ภาคประชาชนต่อต้านเพราะเห็นว่าจะสร้างความเสียหายให้แก่สภาพนิเวศน์ทางธรรมชาติอย่างรุนแรง และที่สำคัญยังเป็นการทำลายอาชีพของเกษตรกรจำนวนมากอีกด้วย
เพราะเหตุแห่งการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเพื่อการเกษตร เกษตรกรจึงดิ้นรนต่อสู้เพื่อหาทางช่วยตนเองด้วยวิธีการกักเก็บน้ำ โดยใช้ถุงปุ๋ยบรรจุทรายไปขวางลำน้ำยม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงฝายชั่วคราว แต่ก็ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรได้ นวัตกรรมสังคม (social innovation) ในการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กเรื่องนี้ทำให้จังหวัดแพร่ได้รับรางวัลและการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติในปี 2555
อย่างไรก็ดีฝายแบบนี้มีจุดอ่อนอย่างน้อยที่สุดสองประการคือ ประการแรก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต้นน้ำที่ได้น้ำใช้กับคนท้ายน้ำที่ไม่ได้น้ำ ทำให้คนท้ายน้ำแอบมารื้อถอนถุงทรายในเวลากลางคืน จนนำไปสู่การฆ่ากันตายเพราะการแย่งชิงน้ำระหว่างเกษตรกรเป็นประจำทุกปี และ ประการที่สอง ถุงกระสอบทรายไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำในฤดูฝนได้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างฝายกระสอบทรายขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณเป็นประจำทุกปี
จนกระทั่งเมื่อคุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ในปี 2556-2557 จึงได้มีการใช้งบภัยพิบัติมาสร้างฝายกระสอบทราย ท่านผู้ว่าและประชาชนได้ร่วมกันแบกถุงทรายจำนวนหลายพันลูกมาสร้างฝายชะลอน้ำชั่วคราวกั้นลำน้ำยมอย่างต่อเนื่องทุกปี
คุณอภิชาติเล่าให้พวกเราฟังว่า “กระแสน้ำที่ไหลมาอย่างเชี่ยวกรากจะพัดพากระสอบปุ๋ยไปถึงจังหวัดพิษณุโลก คนแพร่มักเล่าเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า คนที่รวยคือคนพิษณุโลก เพราะจะคอยเก็บถุงปุ๋ยจำนวนมากมายมหาศาลของเราไปขายทุกปี”
จนกระทั่งระหว่างปี 2562-2563 เมื่อ กมธ.แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำได้พบกับคุณอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกอบจ.แพร่ ที่กรุงเทพ และผมได้พูดถึงฝายแกนซอยซีเมนต์ให้ท่านฟัง ท่านจึงได้เชิญพวกเราไปทดลองสร้างฝาย ”กึ่งถาวร” ที่จังหวัดแพร่ เพื่อพิสูจน์ว่าฝายประเภทนี้จะสามารถเก็บกักน้ำและสามารถทนทานต่อกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากในฤดูฝนได้จริงหรือไม่ ? การเดิมพันครั้งนี้จบลงอย่างมีความสุข เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและจุดประกายความหวังให้แก่ อบจ.แพร่
ในเดือนกรกฎาคม 2563 พวกเราได้เริ่มทดลองทำฝายแกนซิเมนต์กั้นแม่น้ำยม กว้าง 100 เมตร สันฝาย สูง 4 เมตร ลึกลงไปในแม่น้ำ 4 เมตรและคันฝายขยายเข้าไปที่ริมตลิ่งอีกด้านละ 4 เมตร เพื่อป้องกันมิให้น้ำเล็ดลอดออกไปได้อย่างง่ายๆ ในพื้นที่ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง ด้วยการใช้เงิน 300,000 บาท โดยมีผู้บริจาค และฝายเล็ก อีก 2 แห่งกั้นลุ่มน้ำสาขา และลำห้วยในอำเภอหนองม่วงไข่ โดยใช้เงินจากผู้บริจาคไป 70,000 บาท ปัจจุบันฝายทั้ง 3 ตัวยังอยู่ในสภาพดีและใช้งานได้ตามปกติ
ในเดือนมีนาคม 2564 จุดใกล้ฝายแกนซอยซีเมนต์กั้นแม่น้ำยมตัวแรก ที่อำเภอสอง ได้มีการรวมกลุ่มของผู้ใช้น้ำหลายตำบลทำฝายชั่วคราวด้วยกระสอบทรายและดินกั้นแม่น้ำยม เพื่อทดระดับน้ำให้สูงขึ้นและ สูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรในฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำ ตรงจุดดอยผี ตำบลห้วยหม้ายโดยใช้เงินและแรงงานคิดเป็นมูลค่า 300,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในฤดูแล้งได้
ในปี 2563 คุณอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.ในขณะนั้นได้จัดทำงบประมาณประจำปี 2564 และได้ตั้งงบประมาณสำหรับการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ไว้
เมื่อคุณอนุวัธได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาเป็นนายก อบจ.อีกวาระหนึ่งในปี 2564 โครงการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์จึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดำเนินการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์เต็มรูปแบบกั้นแม่น้ำยมจำนวน 2 ตัว ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ดำเนินการได้แล้ว
ฝายตัวแรกจะกั้นแม่น้ำยม ตรงดอยผี ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง บริเวณเดียวกับที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างฝายกระสอบทรายชั่วคราวไว้ ขนาดกว้าง100เมตร สูง2เมตร สันฝายกว้าง 5 เมตร และสโลบตามแม่น้ำ 50 เมตร ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท
ฝายตัวที่สองจะกั้นแม่น้ำยมที่บ้านน้ำโค้งตำบลป่าแมต อำเภอเมือง กว้าง 160 เมตร สันฝายกว้าง 6 เมตร และสโลบไปตามลำน้ำ 80 เมตร ใช้งบประมาณ 11 ล้านบาท
ฝายทั้งสองตัวใช้เทคนิคของฝายแกนซอยซิเมนต์ตามแบบที่คณะกรรมาธิการแก้จน-ลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กำลังเผยแพร่และขับเคลื่อนในเกิดขึ้นจริงในวงกว้าง
ประสบการณ์ในการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กของจังหวัดแพร่ให้บทเรียนแก่เราอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ :
ประการแรก การบริหารจัดการราชการของคุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อดีตผู้ว่าราชการแสดงให้เห็นถึงความมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบ (responsibility) ต่อพี่น้องเกษตรกรจังหวัดแพร่ การทำงานของท่านแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและเห็นใจปัญหาเรื่องปากท้องของพี่น้องเกษตรกรในระดับฐานรากของสังคมอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ทั้งท่านอภิชาติและ ท่านอนุวัธต่างเป็นผู้ที่กล้าเปิดใจรับความคิดใหม่ๆที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน กล้าคิด กล้าลองและกล้าทำในสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรมสังคม”
คุณอภิชาติกล้ารับเอาแนวคิดเรื่องฝายถุงทรายจากชาวบ้านมาสานต่อ แต่ปรับปรุงเรื่องการจัดการใหม่เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำระหว่างประชาชนได้สำเร็จ
ในขณะที่คุณอนุวัธก็เป็นผู้ที่มีสติปัญญา เฉลียวฉลาดและกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆเพื่อประชาชนเช่นกัน
ผมยังจำได้ดีว่า ในปี 2563 เมื่อผมขอนัดพบกับสี่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กรุงเทพ และผมได้พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยการใช้ฝายแกนซอยซีเมนต์และรูปแบบอื่นๆนั้น มีนายก อบจ.เพียงสองท่านที่สนใจและขอให้พวกเราไปทดลองทำให้ดู และหนึ่งในสองท่านนั้นคือคุณอนุวัธ โชคดีที่ท่านได้รับการเลือกตั้งกลับมา ส่วนอีกท่านหนึ่งที่ไปทดลองทำแล้วที่จังหวัดมุกดาหาร แต่โชคไม่ดี ที่ท่านไม่ได้รับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกชื่นชมนายกอบจ.ทั้งสองท่านที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างสูง ที่กล้าทดลองและพยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรในเรื่องที่คนทั่วไปไม่ใคร่กล้านัก
ดังนั้นในบรรดานายกองค์การบริหารสี่ท่านที่ผมได้พบปะในครั้งแรก เพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่เรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็ก จึงมีเพียงท่านอนุวัธเท่านั้นที่ได้มีโอกาสลงมือทำจริง และได้เห็นความสำเร็จในเบื้องต้นแล้ว ผมคิดว่าจังหวัดแพร่น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปทางภาคเหนือที่สนใจทำเรื่องการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก
ประการที่สาม องค์การบริหารจังหวัดแพร่ได้ต่อยอดความรู้เรื่องฝายแกนซอยซีเมนต์ให้มีความแข็งแรงทนทานและใช้ประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรแพร่ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับฝายของเราเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำที่เน้นความประหยัด เสร็จไวและเห็นผลทันทีเท่านั้น ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่สนใจไปทำต่อ สามารถต่อยอดความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้นได้เช่นเดียวกับกรณีของจังหวัดแพร่ครับ