สมุทรสาครเริ่มมาตรการคุมเข้ม 9 โรงงานปลากระป๋องชื่อดัง สั่งทำ bubble & seal พร้อมเปลี่ยนวิธีตรวจเชื้อโควิด-19 ใหม่ เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน “antibody” จากกลุ่มเสี่ยงสูงที่เคยตรวจรอบแรกผลเป็นลบอีก 40,000 คน รอลุ้นไปอีก 14 วันถึงสิ้นเดือน ก.พ. ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่ำ 100 เป็นครั้งแรก
ผ่านไป 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ออกประกาศเรื่องมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ด้วยการสั่งให้ผู้ประกอบการทำ bubble & seal ขีดวงให้พื้นที่บางส่วนของ ต.นาดี และ ต.ท่าทราย และ อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด โดยห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน เขตพื้นที่ควบคุมให้มาทำงานและตรงกลับบ้าน ห้ามแวะเข้าไปซื้อของในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น
การให้ลูกจ้างติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ กำกับดูแลให้แรงงานดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ “ลดลงทุกวัน” จากระดับ 800 คน ลงมาเหลือ 100 กว่าคน ล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือเพียง 95 คน หรือ “ต่ำกว่า” 100 คน เป็นวันแรกนับตั้งแต่มีการระบาด รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 15,571 คน จากการตรวจเชิงรุกไปแล้ว 173,853 คน
เปลี่ยนวิธีตรวจเชื้อใหม่
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการตามมาตรการ bubble & seal ที่บริษัทพัทยาฟู้ดอินดัสตรี กับ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2 ใน 9 บริษัทที่ต้องดำเนินการตามมาตรการ bubble & seal เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า การดำเนินการตามมาตรการ bubble & seal ทั้ง 9 โรงงานที่ผ่านมา “ทุกโรงงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”
มีการจัดระเบียบการเดินทางไปกลับของแรงงานด้วยการใช้ รถสองแถว รถบัส และมีการติดตามประเมินสถานการณ์ในทุก ๆ วัน เพื่อรายงานผลไปยัง ศบค.มหาดไทย และ ศบก.ศบค. ให้รับทราบถึงผลการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามแผนการทำ bubble & seal ที่สาธารณสุขจังหวัดกำหนด พอถึงประมาณวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ก็จะดำเนินการตรวจ “แอนติบอดี” แล้วรออีก 14 วัน คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ “กระบวนการทำ “bubble & seal ก็น่าจะจบลง”
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่อำเภอบ้านแพ้ว กับอำเภอกระทุ่มแบน ได้มีการตรวจเชิงรุกอยู่เรื่อย ๆ จากการรายงานที่เข้ามายังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมใน 2 อำเภอนี้ ส่วนการ “ปลดล็อก” นั้นจะต้องประเมินดูอีกที เพราะจำเป็นต้องมีการนับจำนวนวันที่พบผู้ป่วยคนสุดท้ายและต้องไม่พบผู้ป่วยอีกประมาณ 7 วัน หรือ 14 วัน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนตลาดกลางกุ้ง ตอนนี้ก็เหลือแต่ทางที่ผู้ประกอบการต้องมายื่นแผนกับทางจังหวัด
รุกตรวจซ้ำ 4 หมื่นคน
ด้านนายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร (สสจ.สมุทรสาคร) กล่าวว่า ตามแผนที่วางไว้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ทางสาธารณสุขจะระดมทีมทยอยตรวจโควิด-19 พนักงานใน 9 โรงงานที่กำลังทำ bubble & seal แต่จะไม่ตรวจพนักงานทั้งหมด 50,000 กว่าคน
“เราจะตรวจเฉพาะพนักงานที่เคยตรวจโควิด-19 รอบแรกไป 100% ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 และผลออกมาเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง มีอยู่ประมาณ 40,000 กว่าคนจะต้องตรวจใหม่”
ส่วนพนักงานที่ติดเชื้อโควิด-19 รอบแรกอีกประมาณ 10,000 คน ที่บางส่วนรักษาหายและกลับเข้ามาทำงานแล้ว “เราจะไม่ตรวจ” เพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาติดโรคโควิดซ้ำ คนในกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีภูมิคุ้มกันทำให้ไม่ติดเชื้ออีก ประกอบกับคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น กระบวนการตรวจเชื้อรอบที่สองนี้คาดว่าจะใช้เวลาตรวจประมาณ 4 วันจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นนับไปอีก 14 วันคือในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จะทยอยตรวจซ้ำอีกครั้ง
ทั้งนี้ การตรวจเชื้อโควิด-19 รอบนี้จะไม่ใช่การตรวจหา “แอนติเจน (antigen)” แต่จะใช้วิธีตรวจหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือ “antibody” กับพนักงานที่เคยตรวจหาเชื้อรอบแรกแล้วผลเป็นลบ หรือไม่พบเชื้อ เพื่อพิสูจน์ว่าใครติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแล้ว จัดเป็นการคัดกรองคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ออกมามากกว่า ถ้าตรวจ antigen ก็จะมีเรื่องของคนที่เคยติดเชื้อโควิด แต่มีซากเชื้ออยู่จะบอกไม่ค่อยได้ชัดว่า ตกลงใครติดเชื้อหรือเคยติดเชื้อมานานเพียงใด การตรวจหา antibody จะมีราคาค่าตรวจประมาณ 300 บาท/คน ได้ผลดีและประหยัดเงินไปได้มาก หากเทียบกับการตรวจหาเชื้อปกติค่าตรวจประมาณ 1,600 บาท/คน
“กลุ่มที่ผ่านการตรวจโควิด-19 รอบแรกตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมนั้น ได้ผ่านเลย 14 วันมานานแล้ว กลุ่มเสี่ยงสูงนี้หากเชื้อฟักตัวก็จะฟักตัวไปนานแล้ว บางคนอาจติดเชื้อโควิด ไม่แสดงอาการป่วยและหายป่วยไปแล้ว โดยร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ” นายแพทย์นเรศฤทธิ์กล่าว
จำนวนเตียงใน รพ.พอรองรับ
ส่วนกรณีการทำ seal พนักงานพักในโรงงานในขณะนี้ “ยังควบคุมได้” แต่สำหรับโรงงานที่ต้องทำ bubble ก็เพราะ โรงงานไม่สามารถจัดที่ให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัว จึงต้องทำ bubble ถ้าปกติเจอคนติดโควิด 1 คน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5-10 คน สามารถแยกกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ออกมาอยู่ในบ้านหรือสถานที่กักตัวที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ก็ไม่ต้องไปทำ bubble หรือ seal แต่กลุ่มเสี่ยงจำนวนมากในโรงงานที่ต้องทำ bubble & seal โดย bubble ก็คือการที่พนักงานมีที่พักอาศัยนอกโรงงาน
ถ้าจะให้ได้ผลดี ทุกคนต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ทุกคนต้องอยู่ในบ้าน ในโรงงาน ไม่ออกไปไหน โรงงานต้องคุมพนักงานและมีตำรวจ-ทหารเข้าไปควบคุมตามลำดับ แต่ในทางปฏิบัติความเป็นจริงก็เรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะคนไม่ใช่สิ่งของวางไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น และคนกลุ่มเสี่ยงตั้ง 50,000 คน จะทำตามกฎมาตรการทั้งหมดคงไม่ง่าย แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด “ก็ยอมรับว่าทุกอย่างไม่ 100%”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังว่า มีการเล็ดลอดกระจายของเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดออกไปหรือไม่ โดยการเฝ้าระวังดำเนินการได้หลายวิธี เช่น การเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนยังทำต่อเนื่อง การสอบสวนโรคที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 นอกโรงงานยังทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าปล่อยเรื่องอื่นทิ้งไว้ ดำเนินการทำทุกวิธี ตอนนี้รวมยอดสะสมตรวจเชิงรุกไปกว่า 170,000 คนแล้ว ถ้าหากตรววจพบผูัติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมากตอนนี้คิดว่า “โรงพยาบาลสนาม” ไม่น่ามีปัญหา ปัจจุบันทั้งจังหวัดมีจำนวนเตียงรวมกันกว่า 7,000 เตียง
ไป-กลับข้ามจังหวัดทำ Bubble ด้วย
ส่วนกรณีความกังวลจากคนงานในจังหวัดข้างเคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสมุทสงคราม ที่เดินทางไปทำงานแบบไป-กลับเข้ามาในจังหวัดสมุทรสาครวันละกว่า 2,400 คน และกลัวว่าจะติดเชื้อจากสมุทรสาครแพร่ไปยังสมุทรสงครามนั้น ในประเด็นนี้ นายแพทย์นเรศฤทธิ์กล่าวว่า จะต้องใช้มาตรการการทำ bubble เข้ามาควบคุมคนกลุ่มนี้ จะมีการลงทะเบียน หลักการเดียวกัน การเดินทางระหว่างบ้านและที่พัก แต่ถ้าไปแวะที่ไหนก็ควบคุมลำบาก ถ้าจะให้ได้ผลทุกคนต้องร่วมมือกัน สำหรับการทำ bubble & seal ในโรงงานตอนนี้ยังไม่มีแผนการขยายเพิ่มขึ้น
“หลักเกณฑ์การพิจารณาโรงงานที่จะต้องทำ bubble & seal นอกจากจะต้องตรวจพบคนติดเชื้อโควิดสูงเกิน 10% จากพนักงานรวมทั้งหมดแล้ว บางโรงงานพบพนักงานติดเชื้อเพียง 5% แต่เป็นโรงงานขนาดใหญ่มีแรงงานจำนวนมาก ระดับ 1,000 คนขึ้นไป ก็ต้องทำ bubble & seal ไม่ใช่ทำเฉพาะโรงงานที่มีตัวเลขการติดเชื้อมาก ๆ แม้ว่าทำการตรวจจะเป็นบวกอาจจะต่ำ 5-8% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในโรงงาน แต่ถ้ามีจำนวนคนติดโควิด-19 หลัก 100 คนก็ต้องทำ bubble เช่นกัน” นายแพทย์นเรศฤทธิ์กล่าว
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาว่า ปัจจุบันมีโรงงานที่ต้องดำเนินการใช้มาตรการ bubble & seal ใน พท.ที่ประกาศตามมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ของจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 9 โรงงาน มีพนักงานรวมกันประมาณ 52,955 คน ผลการตรวจเชื้อโควิด-19 รอบแรกมีประมาณ 10,671 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.19 แบ่งเป็น 5 โรงงาน เป็นโรงงานผลิตปลากระป๋องและผลิตอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง/แช่แข็ง ส่งออกทั่วโลก อีก 4 โรงงานเป็นโรงงานผลิตกระป๋อง, บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทผลิตที่นอน