ฉากสงครามในภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก ถ่ายทำที่ตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ (ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
‘พระเจ้าช้างเผือก’ หรือ ‘The King of the White Elephant’ เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างเมื่อปี 2483 โดยปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ตำแหน่งในขณะนั้น) และนำออกฉายในเดือนเมษายน 2484 ในประเทศไทย อเมริกา และสิงคโปร์ มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารให้โลกตระหนักถึงหนทางแห่งสันติภาพ เนื่องจากในขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเริ่มต้น โดยเยอรมันส่งกำลังทหารเข้ายึดครองโปแลนด์ในปี 2482 จากนั้นสงครามได้ขยายไปทั่วยุโรป และกำลังลุกลามไปทั่วโลก
แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จในแง่ชื่อเสียงและรายได้ เพราะฉายได้ไม่นานก็ถูกถอดออกจากโปรแกรม แถมยังถูกนักวิจารณ์ภาพยนตร์ต่างชาติสวดเสียย่อยยับในทำนองว่า “เป็นผลงานของนักทำหนังสมัครเล่น แต่พยายามจะพูดถึงเรื่องราวระดับมนุษยชาติ”
อย่างไรก็ตาม ในปี 2538 องค์การ UNESCO ได้จัดงานเทศกาลฉลองครบรอบ 100 ปีของวงการภาพยนตร์โลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าจากทั่วโลกได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายโชว์ และหนึ่งในนั้นมีภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ จากประเทศไทยด้วย
ในปี 2554 หอภาพยนต์ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้พระเจ้าช้างเผือกเป็น ‘มรดกภาพยนตร์ของชาติ’
ขณะที่ชาวบ้านสันกลาง ตำบลป่าแดง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ และมีปัญหาเรื่องสิทธิการครอบครองที่ดิน ใช้หลักฐานจาก ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ยืนยันสิทธิชุมชนว่าชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจะเป็นที่ดินรัฐ !!
สงครามและสันติภาพ
ในปี 2482 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเริ่มต้นในยุโรป โดยเยอรมันส่งกำลังทหารเข้ายึดโปแลนด์ ส่วนในประเทศไทยมีรัฐบาลที่นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยึดแนวทางลัทธิชาตินิยมแบบทหาร ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยึดแนวทางสันติภาพต่างจากจอมพล ป.
ในปี 2483 ปรีดีแต่งนวนิยายเรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพ และต่อมาในปีเดียวกันนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘The King of the White Elephant’ โดยปรีดีเป็นผู้อำนวยการสร้าง นักแสดงและทีมงานสร้างเป็นคนไทยทั้งหมด มีบทพูดเป็นภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่อง มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารแนวทางสันติภาพไปยังนานาชาติขณะที่สงครามโลกเริ่มคุกรุ่น
หนังสือเรื่องพระเจ้าช้างเผือก / ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ส่วนรัฐบาลจอมพล ป. เริ่มปลุกกระแสชาตินิยม สนับสนุนนักศึกษาและประชาชนให้เดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส เช่น พระตะบองและเสียมราฐในเขมร จำปาสักในลาว ในช่วงปลายปี 2483 ไทยเริ่มรบกับฝรั่งเศสบริเวณชายแดนเขมรและลาว ต่อมาในเดือนมกราคม 2484 การสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขยายข้ามพรมแดน มีการสู้รบทางบก ทางอากาศ ในน่านน้ำแม่น้ำโขง และทางทะเลชายแดนด้านจังหวัดตราด–เกาะกงของเขมร หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ยุทธนาวีเกาะช้าง’ เรือรบไทยจมทะเล 3 ลำ ฝรั่งเศสเสียหายเล็กน้อย
ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมันเริ่มเปิดสงครามในเอเซียเพื่อตีโต้อังกฤษและสัมพันธมิตร ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จนประสบผลสำเร็จ ไทยและฝรั่งเศสเจรจาตกลงหยุดยิงกันในช่วงปลายเดือนมกราคม 2484
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 8 ธันวาคมปีเดียวกัน กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งกำลังยกพลขึ้นบกตามชายทะเลภาคใต้ของไทย รวมทั้งที่สมุทรปราการ เพื่อจะบุกไปตีอังกฤษในพม่าและอินเดีย มีการปะทะกันระหว่างทหารญี่ปุ่นกับไทย แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ จนในเวลาต่อมา รัฐบาลไทยจำยอมให้ญี่ปุ่นยกพลข้ามประเทศ และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสงครามกับญี่ปุ่น
ในวันเดียวกับที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในไทยนั้น ผู้รักชาติหลายคนได้มาพบกับปรีดีเพื่อร่วมกันก่อตั้ง ‘องค์การต่อต้านญี่ปุ่น’ โดยให้ปรีดีเป็นหัวหน้า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ขบวนการเสรีไทย’ ร่วมเคลื่อนไหวทั้งในและนอกประเทศร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น อังกฤษและสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น
การสู้รบขยายวงไปทั่วโลกนานหลายปี จนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงใน 2 เมืองใหญ่ของญี่ปุ่น สร้างความเสียหายยับเยิน จึงนำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2488
เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จอมพล ป. ต้องตกเป็นอาชญากรสงครามด้วย แต่ประเทศไทยรอดพ้นไม่ต้องตกเป็นประเทศที่แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากขบวนการเสรีไทยที่ได้เข้าร่วมต่อต้านญี่ปุ่นกับสัมพันธมิตรนั่นเอง
‘80 ปี พระเจ้าช้างเผือก’
ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกนำออกฉายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484 พร้อมกัน 3 ประเทศ คือ ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และประเทศไทยที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน 2564 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์
ปรีดี พนมยง (ยืนกลาง) ขณะถ่ายทำหนังในปี 2483 ที่บ้านสันกลาง ตำบลป่าแดง จ.แพร่ /ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก กล่าวถึงกษัตริย์ 2 พระองค์ คือ ‘พระเจ้าจักรา’ กษัตริย์ผู้ครอบครองอโยธยาเมื่อ 400 ปีก่อน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงธรรมราชา ไม่โปรดสาวงามในราชสำนัก พระองค์ทรงอุทิศตนเพื่อราษฎร ทรงกล้าหาญชาญชัยในการศึก ขณะเดียวกันทรงรักสันติภาพ บนแผ่นดินที่อุดมไปด้วยช้างเผือก ราษฎรจึงขนานนามพระองค์ผู้เก่งกล้าว่า “พระเจ้าช้างเผือก”
อีกพระองค์ คือ ‘พระเจ้าหงสา’ ซึ่งเป็นทรราช มีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณ มักมากในกาม ส่งกองทัพบุกอาณาจักรอโยธยา เพราะพระเจ้าจักราไม่ยอมให้ช้างเผือกตามที่พระเจ้าหงสาต้องการ
พระเจ้าจักรายกกองทัพไปเผชิญทัพหงสาที่นอกพระนคร เพราะไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อน และได้ท้าทายให้กษัตริย์หงสาไสช้างออกมาต่อสู้กันตัวต่อตัวเพื่อไม่ให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ผลปรากฏว่า พระเจ้าจักราได้รับชัยชนะ และแทนที่จะจับทหารศัตรูเป็นเชลย พระองค์ทรงประกาศสันติภาพว่าอโยธยามิได้เป็นศัตรูกับชาวหงสา แต่เป็นศัตรูกับกษัตริย์หงสาที่โหดเหี้ยม และปล่อยทหารหงสากลับไป
โดม สุขวงศ์ จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้หนึ่งที่มีส่วนอนุรักษ์และเชิดชูเกียรติภาพยนต์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เสนอความเห็นในงานเขียนเรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก : ช้างเผือกของหนังไทย’ ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า
“ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสื่อสารกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้ท่านผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนหนังสือรับรองความเป็นผู้นำเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ ดูเหมือนว่า เครื่องหมายเสรีไทยในประเทศไทย ก็คือรูปช้างเผือกกำลังทะยานไปข้างหน้า
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินลงนามประกาศสันติภาพไทย ให้ถือว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาลเคยประกาศมาก่อนหน้านี้เป็นโมฆะ ทำให้ชาติไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามแต่…ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ได้ทำหน้าที่ประกาศสันติภาพดังกล่าวให้ไทยไว้ล่วงหน้าไปแล้ว”
(ดูภาพยนตร์เรื่องนี้และรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์หอภาพยนต์ https://www.fapot.or.th)
ตามรอยกองถ่ายพระเจ้าช้างเผือกที่ตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่
การถ่ายทำภาพพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกในช่วงปี 2483 ก่อนจะนำออกฉายเมื่อต้นเดือนเมษายน 2484 นั้น การถ่ายทำฉากท้องพระโรงส่วนใหญ่จะถ่ายในโรงถ่าย ‘ไทยฟิลม์’ ที่กรุงเทพฯ และบริเวณพระบรมมหาราชวัง
ส่วนฉากสำคัญคือการต่อสู้ระหว่างไพร่พลและกองทัพช้างของพระเจ้าหงสากับพระเจ้าจักราที่ต้องใช้ช้างนับร้อยเชือกเข้าฉากนั้น ถ่ายทำที่ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดแพร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งในขณะนั้นเป็นแหล่งทำไม้และชักลากซุงแห่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจึงมีช้างมากมายให้นำมาเข้าฉาก
พิสิษฐ์ ตาจา อายุ 52 ปี แกนนำพัฒนาในตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ ในฐานะผู้ที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน เล่าว่า ตำบลป่าแดงเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยเฉพาะฉากสู้รบถ่ายที่ ‘บ้านสันกลาง’ ห่างจากพระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองแพร่ไม่ถึง 1 กิโลเมตร
จากข้อมูลของหมู่บ้านบอกว่า บ้านสันกลางตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ ‘แม่ก๋อน’ และ ‘แม่สาย’ จึงเรียกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสายนี้ว่า ‘บ้านสันกลาง’ บริเวณโดยรอบของแม่น้ำทั้ง 2 สายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีภูเขาสูงที่เห็นได้ชัดเหมือนกับเป็นแลนด์มาร์คของตำบล คือ ‘ดอยช้างผาด่าน’
พิสิษฐ์ ตาจา ชี้ให้ดูบริเวณทุ่งนาที่ใช้เป็นฉากสู้รบ มองเห็นดอยช้างผาด่านอยู่ลิบๆ
สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยให้สัมปทานทำไม้สักในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ก๋อนและแม่สายแก่บริษัทอีสต์ เอเซียติค บริษัทเอกชนจากประเทศเดนมาร์ก บริษัทได้ว่าจ้างให้พ่อเลี้ยงเมืองแพร่ชื่อ ‘เจ้าโว้ง’ หรือ ‘เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์’ ที่มีช้างประมาณ 200 เชือก นำช้างมาชักลากไม้ซุงในป่าที่โค่นแล้วออกมากองรวมกันที่ปางไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้พระธาตุช่อแฮ (ปัจจุบันคือที่ทำการเทศบาลตำบลช่อแฮ)
จากนั้นจะใช้รถรางลากซุงไปลงแม่น้ำยมที่ไหลผ่านเมืองแพร่ แล้วล่องซุงไปตามแม่น้ำยมจนถึงปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมทางค้าไม้ ไม้ซุงที่ส่งออกไปต่างประเทศจะล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ และนำซุงขึ้นที่โกดัง–โรงเลื่อยของบริษัทอีสต์เอเซียติคริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเจริญกรุง
พิสิษฐ์ เล่าต่อว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตนได้ไปสอบถามข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินในตำบลป่าแดง รวมทั้งถามคนเฒ่าคนแก่ในตำบลว่ามีใครเกิดทันหรือพอจะรู้เรื่องการถ่ายหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกบ้าง พบว่า ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในสมัยนั้นเสียชีวิตไปหมดแล้ว โดยเฉพาะคนที่เคยเข้าฉากเป็นทหาร เป็นตัวประกอบ เพราะหนังเข้ามาถ่ายที่ตำบลช่อแฮในปี 2483 นั้น คนที่เข้าฉากหรือเล่นเป็นตัวประกอบส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำงานชักลากไม้ซุงกับเจ้าโว้งนั่นเอง และมีชาวบ้านในตำบลช่อแฮและใกล้เคียงประมาณ 100 คนเข้าฉากด้วย แสดงเป็นลูกหาบและทหาร และหากคนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ (ช่วงเก็บข้อมูลปี 2551) จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี แต่ก็ไม่มีใครเหลือแล้ว
“แต่ยังเหลือแม่เฒ่าปิ๋ว ปลาลาส ตอนที่เก็บข้อมูลช่วงนั้นประมาณปี 2551 แกอายุประมาณ 83 ปี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) แกบอกว่า ตอนนั้นแกไม่ได้เข้าฉากอะไรกับเขาหรอก เพราะเป็นเด็กเพิ่งจะโตเป็นสาว อายุประมาณ 15 ปี แต่ได้ฟังจากผู้ใหญ่บอกว่า คนที่ได้เล่นหนัง ถ้าเป็นผู้ชายจะได้รับค่าจ้างวันละ 5 สตางค์ ถ้าเป็นผู้หญิงได้ 3 สตางค์” วินัยบอกความที่ได้จากการเก็บข้อมูลเมื่อ 10 ปีก่อน
แม่เฒ่าปิ๋ว ปลาลาส
พิสิษฐ์ บอกด้วยว่า คนรุ่นหลังๆ ในตำบลป่าแดงและช่อแฮ (เมื่อก่อนเป็นตำบลป่าแดง แยกเป็นตำบลช่อแฮในปี 2535) ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนั้น ส่วนใหญ่ไม่รู้ประวัติศาสตร์และความสำคัญของหนังเรื่องนี้หรอก ตนก็เพิ่งจะได้ดูหนังเรื่องนี้ทาง Youtube เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นฉากการสู้รบ และกองทัพช้างที่ถ่ายทำที่ตำบลป่าแดงก่อนที่ตนจะเกิด
“ที่จำแม่นก็คือ ฉากที่กองทัพหงสายกไพร่พลเข้ามาจะตีเมืองอโยธยานั้น ถ่ายทำในทุ่งนาบ้านกลาง จะเห็นดอยช้างผาด่านเป็นฉากหลังได้ชัดเจน (ประมาณนาทีที่ 43-44) และฉากที่ช้างลงเดินในลำน้ำก็คือน้ำแม่สาย ผมคิดว่าคนป่าแดงและช่อแฮควรจะภูมิใจว่าบ้านเราเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังประวัติศาสตร์ของประเทศ” พิสิษฐ์ บอก และว่า ปัจจุบันดอยช้างผาด่านก็ยังดูโดดเด่นเหมือนเดิม แต่ผืนนาที่เห็นในฉากการสู้รบนั้น ปัจจุบันกลายเป็นบ้านเรือน ร้านค้า และเป็นร้านอาหารไปหมดแล้ว
ฉากการสู้รบในหนัง ทัพหงสากำลังจะเข้าตีเมืองอโยธยา เห็นคันนาบ้านสันกลาง และดอยช้างผาด่านมุมบนซ้าย
ดอยช้างผาด่านปัจจุบัน
‘เจ้าโว้ง’ ผู้กำกับโขลงช้าง
ส่วนประวัติของ ‘เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์’ หรือ ‘เจ้าโว้ง’ ตามสำเนียงคนแพร่ เจ้าของช้างประมาณ 200 เชือกที่นำมาเข้าฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับเกียรติให้ขึ้นชื่อในไตเติ้ลร่วมกับนักแสดงและผู้กำกับคนอื่นๆ ว่าเป็น ‘ผู้กำกับโขลงช้าง’ (Master of The Elephants) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดแพร่ในปี 2476 (การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475) มีความสนิทสนมรู้จักกับปรีดี พนมยงค์มาก่อนที่จะมีการสร้างหนังพระเจ้าช้างเผือก
‘เจ้าโว้ง’ ภาพจาก https://th.wikipedia.org/
เจ้าโว้งมีเชื้อสายเป็นทายาทของเจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่ เรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เคยทำงานกับบริษัทอีสต์เอเซียติคที่ได้รับสัมปทานทำไม้สักในภาคเหนือ ก่อนจะลาออกมาทำไม้สักเอง มีช้างมากมาย ต่อมาจึงได้รับการว่าจ้าง จากบริษัทอีสต์เอเซียติคให้มาชักลากไม้ที่ป่าแดง–ช่อแฮ เมื่อปรีดีสร้างหนังพระเจ้าช้างเผือกในปี 2483 จึงนำช้างมาร่วมแสดง
ช่วงญี่ปุ่นบุกไทยในปี 2484 นั้น เจ้าโว้งเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยสายปรีดี พนมยงค์ด้วย โดยเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่ มีเรื่องเล่าว่า ทหารอเมริกัน 3 คนที่กระโดดร่มลงมาเพื่อเป็นครูฝึกให้เสรีไทยที่ค่ายลับในเมืองแพร่นั้นกินอาหารเหนือไม่คล่องคอ เจ้าโว้งจึงต้องจ้าง ‘กุ๊ก’ ฝีมือดีมาทำอาหารฝรั่งให้ทหารอเมริกันกินจนอิ่มแปล้…
ในปี 2513 เจ้าโว้งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมอายุได้ 72 ปี……!!
(ติดตามตอนต่อไป…ปัญหาที่ดินบ้านสันกลาง ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาช้านาน แต่ถูกเพิกถอน ส.ค.1 ใช้หลักฐานจากหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน)