ไทยยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เลขสองหลักที่ 65 ราย อึ้ง! 40 คนมาจากการค้นหาเชิงรุก หมอยงเผยยังไม่มีใครตายจากการฉีดวัคซีน “กรมควบคุมโรค” แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงรีบรับวัคซีนหวัดใหญ่ หวังลดความสับสนวัคซีนโควิด
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 7? มี.ค. ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 65 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ? 60? ราย? มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 20 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 40? ราย ในจำนวนนี้มาจากสมุทรสาคร? 38? ราย? และปทุมธานี? 2? ราย? นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 26,370 ราย หายป่วยสะสม 25,744 ราย อยู่ระหว่างรักษา 541 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม? ยอดสะสมคงที่ 85 ราย
ด้านนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อระลอกที่ 2 ของจังหวัด มีอยู่ที่ 59 ราย โดยเป็นชายไทย อายุ 34 ปี พักอาศัยที่หมู่ 3 ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน อาชีพ ขับรถรับจ้างร้านขายส่งอาหารสด จากตลาดสุชาติ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายล่าสุดมี 10 คน อยู่ในพื้นที่อยุธยา 5 คน และอ่างทอง 5 คน
ส่วนศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สาธารณสุข จ.ตาก แจ้งว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5 ราย เป็นชาวเมียนมาทั้งหมด ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 303 ราย ในประเทศ 179 ราย ต่างประเทศ 124 ราย อยู่ในระหว่างการรักษา 34 ราย คนไทย 17 ราย ชาวต่างชาติ 17 ราย และรักษาหาย 1 ราย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิดวัคซีน” ระบุว่า ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนไปแล้วร่วม 300 ล้านโดส ประเทศที่ฉีดมากที่สุดคืออเมริกา ฉีดไปประมาณ 85 ล้านโดส ใช้วัคซีน 2 บริษัทคือ Pfizer และ Moderna ประเทศที่ฉีดมากเป็นอันดับ 2 คือจีน ฉีดไปแล้วมากกว่า 52 ล้านโดส เป็นวัคซีนของจีนเชื้อตาย inactivated vaccine
“ทุกวัคซีนมุ่งเน้นลดความรุนแรง ถึงแม้จะติดต่อเป็นโรคได้ ก็น้อยลงกว่าผู้ไม่ได้ฉีด ในการฉีดวัคซีนคนหมู่มาก โอกาสจะพบความผิดปกติร่วมด้วยหลังการฉีดหรือที่เรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์ ก็จะมีให้ได้ยินเสมอ แต่จะต้องพิสูจน์ว่ามีสาเหตุจากวัคซีนหรือไม่ อาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง พบได้ แต่โอกาสดังกล่าว อย่างการศึกษาในอเมริกา วัคซีน Pfizer พบได้ 5.5 ในล้านโดส วัคซีน Moderna พบได้ 2.5 ในล้านโดส ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตเลย วัคซีนเชื้อตาย Sinovac หรือ AstraZeneca ถ้าฉีดเป็นจำนวนแสนจำนวนล้าน ก็คงจะพบได้เช่นกัน เราจะต้องไม่ประมาท หลังฉีดวัคซีนจึงจำเป็นที่จะต้องให้ดูอาการอย่างน้อย 30 นาที เพื่อป้องกันอาการแพ้อย่างรุนแรง” ศ.นพ.ยงระบุ
วันเดียวกัน พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีส่วนช่วยให้จัดการโรคโควิด-19 ได้ด้วย เพราะหากสามารถลดภาระจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากจะช่วยลดความสับสนระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 ได้แล้ว ยังลดอุปสรรคในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 รวมถึงค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขที่ลดลงไปด้วย เนื่องจากอาการป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 นั้นมีลักษณะคล้ายกันมาก และไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ ฉะนั้นในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งเมื่อเจอเคสแล้วต้องตรวจความเสี่ยงตามไทม์ไลน์ สอบสวนโรคต่างๆ หากเรามีการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดอัตราการป่วยไข้หวัดใหญ่ ก็จะช่วยลดความสับสนกับโควิด-19 ลงไปได้
พญ.สุชาดากล่าวอีกว่า ข้อดีอีกประการคือ กลุ่มเป้าหมายของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด-19 นั้นใกล้เคียงกัน และมีหลายกลุ่มที่ซ้อนทับกันอยู่ ฉะนั้นการเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาล ผู้รับวัคซีนก็จะมีโอกาสได้พบกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบถึงสิทธิในการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงให้ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งแม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะฉีดพร้อมกันไม่ได้ โดยต้องเว้นห่างอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน แต่การเข้ารับวัคซีนตัวหนึ่ง ก็จะได้ทำนัดในการรับอีกตัวหนึ่งไปเลย เพื่อให้แพทย์สามารถจัดตารางการให้วัคซีนได้ ในกรณีของกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว
“ไทม์ไลน์ของการให้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนั้นยังใกล้เคียงกัน โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวน 6.4 ล้านโดสนั้น มีแผนให้ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป ส่วนวัคซีนโควิด-19 ก็จะเริ่มมีเข้ามาฉีดสำหรับประชาชนในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ดังนั้นการเข้ารับวัคซีนก็จะเหมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลก็จะสามารถเช็กสิทธิ์ได้เลยว่าได้รับอะไรบ้าง” พญ.สุชาดากล่าว
สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ได้แก่ 1.หญิงมีครรภ์ 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ 7.โรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อมีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป.