ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผย การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 “คลัสเตอร์ตลาดบางแค” เป็นภาพสะท้อนสมุทรสาคร
วันนี้ (16 มี.ค.64) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ TNN ช่อง 16 โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 “คลัสเตอร์ตลาดบางแค” นั้น มีจุดเชื่อมต่อกับที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งย้อนกลับไปที่แม่สอดด้วย โดยพบการเชื่อมโยงจากแรงงานต่างด้าว และผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ จะออกมาในลักษณะของการเป็นกระจุก และกระจายต่อ ซึ่งการควบคุมตอนนี้ คงไม่สามารถเรียกได้ว่าตรวจเชิงรุกที่ชัดเจน เพราะความหมายของการตรวจเชิงรุก หมายความว่า ตรวจเข้าไปในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด โดยจุดประสงค์เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด
การที่ใช้วิธี Swab และตรวจด้วย RT-PCR เป็นวิธีที่ไม่แม่นยำ ซึ่งทั่วโลกยอมรับแล้ว หากตรวจไปครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อ และอาจจะต้องตรวจต่ออีก 2-3 ครั้ง อย่างที่ทำในผู้ที่กลับจากต่างประเทศ และกักตัว 14 วัน รวมทั้ง Swab ที่จมูก 2-3 ครั้ง
ดังนั้นประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงเป็นบทเรียน ในที่สมุทรสาครนั้น ใช้กระบวนการตรวจลักษณะนี้ครั้งเดียว และแยกตัว แต่คนที่ไม่พบเชื้อจากการตรวจเพียงครั้งเดียวนั้น ก็ยังให้ทำงานต่อ ซึ่งตรงนี้เองทำให้คนที่ติดเชื้ออาจจะมีไม่กี่คน ได้แพร่กระจายให้กับเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ที่พักอาศัยด้วยกัน
หากตัดเรื่องความแออัดของที่พัก ไม่ว่าจะเป็นที่พักในโรงงาน นอกโรงงาน ถึงแม้จะมีคนติดเชื้อและแพร่เชื้ออยู่บ้างจากการตรวจเพียงครั้งเดียว แต่หากแยกตัวได้ 14-20 วันโรคก็จะหายไปเอง แต่ที่ผ่านมานั้นไม่สามารถแยกตัวได้ ทำให้ที่จ.สมุทรสาคร กลายเป็นที่เพาะเชื้อแห่งใหม่
ดังนั้น สิ่งที่เจอ ขณะนี้ มีการเปิดตลาดสมุทรสาครแล้ว จะมีการแพร่ระบาดเงียบๆ ในลักษณะอย่างนี้ต่อไป ขณะที่ “ตลาดบางแค” เป็นกระจุก ซึ่งเป็นภาพจำลองของสมุทรสาคร และจะมีการกระจาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการซื้อขายสินค้า ก็จะทำให้เกิดการแพร่ไปแทบทุกจังหวัดในประเทศไทยจากผู้ที่เดินทางมาซื้อของที่ตลาด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เราต้องการการตรวจที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ ในราคาประหยัด และสามารถทราบผลได้เร็ว โดยที่มีความไวของการตรวจนั้น 100% หลุดไม่ได้ และแยกตัวไปก่อน สามารถจะตอบโจทย์ พร้อมในควบรวมกับวิธีการหาเชื้อที่ทำในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายถึงกรณีที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 2.2 โดยระบุว่า ระลอก 2 มาจากแม่สอด เชื่อมมาสมุทรสาคร ปทุมธานี แตกกระจายไปทั่วแบบไม่มีอาการ หรือมีแต่ไม่มาก เลยไม่ได้ตรวจ
สมุทรสาคร ตลาดกุ้ง เก็บตัวมาตั้งแต่ 18-19 มกราคม แต่มีความยากลำบากในการเก็บ แยกตัว ดังนั้น แพร่ในกลุ่มเอง ในโรงงาน โดยทำงานต่อ และที่พัก อาจแยกตัวยาก จากที่ควรจะน้อยลงจนไม่มี กลับติดมากขึ้น เช่นโรงงานเดียว 14 ก.พ.ติด 283 ใน 1900 คน 4 -5 มี.ค. ตรวจซ้ำ ติด 538 ติดเพิ่มอีก 345 ราย และในที่สุด ปล่อยจากที่เรียกว่า เก็บตัว ออกไปเป็นสภาวะปกติ แต่ยังจำกัดการแพร่ไม่ได้ ขณะที่ ตลาดบางแค ที่เห็นเป็นเพียงการกระจายจากที่เก่าที่ยังมีปัญหาไปยังที่ต่างๆ เท่านั้น
สำหรับการระบาดระลอก 3 จะเป็นตัวกลายที่การตรวจหาท่อนพันธุกรรม หลุดบ้าง ทำให้ตรวจเจอไม่ครบ และดื้อวัคซีนการติดเชื้อกลายพันธุ์นี้ ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อครั้งแรก หรือที่ได้รับจากวัคซีน จะช่วยป้องกันเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่เกิดในระลอก 3 ไม่ได้เลย เพราะเชื้อดื้อวัคซีน และหมายความว่าใครที่เคยติดเชื้อแล้วจะติดเชื้อใหม่ได้ ใครที่ได้รับวัคซีนแล้ว วัคซีนจะทำอะไรไม่ได้ และอาจจะต้องฉีดวัคซีนใหม่อีกครั้งหนึ่งภายในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ประเทศไทยจึงกำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2.2