ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2563 เกิดจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับต่าง ๆ การสื่อสารที่ดีของรัฐ และการให้ความร่วมมือของประชาชน
จนมาต้นปี 2564 การระบาดของโควิด-19 กลับมารุนแรงอีกครั้งใน จ.สมุทรสาคร ที่รัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 สูงสุด เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งเป็นไฟก้อนใหญ่ที่ยากจะดับ หากไม่มีวัคซีน
ผลเช่นนี้จึงทำให้ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยบนเวทีสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ของประชาชาติธุรกิจ รวมถึงประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ และต้นทุนแฝงในแรงงานต่างด้าว ดังนี้
ความท้าทายเรื่องวัคซีน
“ดร.สมเกียรติ” กล่าวว่า วารสารทางการแพทย์ “เดอะแลนซิต” (The Lancet) ประเทศอังกฤษ ระบุประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และไฟเซอร์ (Pfizer) ไม่ได้ต่างกัน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า 0.5% ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรง คล้ายกับการเป็นไข้หวัดใหญ่ และยังไม่มีการพบผู้เสียชีวิตจากวัคซีน 2 ตัวนี้
บริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีอัตราการผลิตวัคซีนโควิด-19 มากที่สุดในโลก คือประมาณ 79% แต่ความท้าทายในวงการวัคซีนมีมาก และเกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1.ไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเดิม
2.การแพร่กระจายจากคนหนึ่งสู่ผู้อื่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากเดิมที่สามารถแพร่เชื้อเฉลี่ยไปสู่คนอื่นได้ 3 คน แต่สายพันธุ์ใหม่แพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ 4.5 คน
และ 3.มีทั้งหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเดิมและแพร่กระจายจากคนหนึ่งสู่ผู้อื่นเพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น สายพันธุ์เคนต์ หรือสายพันธุ์อังกฤษ เป็นต้น
จึงส่งผลให้การฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศต้องมีเปอร์เซ็นต์การฉีดที่เปลี่ยนไป แต่เดิมหากต้องการให้สถานการณ์กลับไปสู่ปกติ ต้องฉีดวัคซีนประมาณ 84% ของประชากรโลก แต่เมื่อเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปคนอื่นมากขึ้น ทำให้การฉีดวัคซีนต้องเป็น 98% ของประชากรโลก
“โชคดีที่บริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 หลายแห่งมีเทคโนโลยี mRNA เช่น ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) โมเดอร์นา (Moderna) และแอสตร้าเซนเนก้า จึงสามารถปรับสูตรวัคซีนใหม่ ๆ ได้ภายใน 2 เดือน และเป็นเรื่องดีที่เรามีโรงงานผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเองในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ทำให้สามารถป้อนวัคซีนให้คนไทยได้ตลอด หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วประเทศผู้นำผลิตวัคซีนระงับการส่งออกเพื่อช่วยคนในประเทศตนเองก่อน”
เศรษฐกิจไทยป่วยด้วย 3 โรค
“ดร.สมเกียรติ” ยกตัวอย่างคำพูดของ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานบอร์ด TDRI ที่พูดไว้ 4-5 ปีที่แล้วว่า เศรษฐกิจไทยป่วยด้วยโรค 3 โรค ได้แก่ 1.ไข้หวัด 2.ข้อเข่าเสื่อม 3.ขาดความมั่นใจ
เศรษฐกิจแบบโรคไข้หวัด คือ การที่ไทยสามารถได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ทุกเมื่อ เมื่อเกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในโลก แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย แต่การป่วยแบบนี้เราใช้มาตรการทางการเงินมาช่วยกระตุ้นได้
ส่วนเศรษฐกิจแบบโรคข้อเข่าเสื่อม คือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลง เช่น กำลังแรงงาน และการไม่เพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในประเทศได้ดีพอ และเศรษฐกิจแบบโรคขาดความมั่นใจคือ การที่ไทยรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ใน ช่วงขาลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ดังนั้น ไทยจึงหวั่นไหวกับข่าวต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรงงานต่างชาติย้ายออกจากไทยไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนาม มีการรับการลงทุนจากต่างประเทศสูงกว่าไทย และมีการส่งออกสูงกว่าไทย สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลว่าเราจะ ไม่สามารถแข่งขันได้
“อันที่จริงประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าเวียดนาม และมีความพร้อมมากกว่า โดยการจัดอันดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ World Economic Forum (WEF) ปี 2564 จัดให้ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 40 ส่วนเวียดนามอยู่ที่อันดับ 67 ซึ่งไทยชนะเวียดนามทุกตัวชี้วัด แต่ที่น่ากังวลคือ เวียดนามไต่อันดับขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ไทยอันดับลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2563 ไทยอยู่อันดับ 38 และเวียดนามอยู่อันดับที่ 77 ดังนั้นหากเราไม่แก้ไขปัญหา สักวันเวียดนามจะแซงหน้าเราได้”
ทางรอดเศรษฐกิจไทย
“ดร.สมเกียรติ” บอกว่า ทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยต้องใช้แนวทางเดียวกับที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ชินโซะ อาเบะ” ประกาศใช้ในปี 2555 ที่เป็นช่วงเศรษฐกิจในญี่ปุ่นซบเซาต่อเนื่องเกินกว่า 10 ปี โดยแนวทางดังกล่าวเรียกว่า “ยิงลูกธนู 3 ดอก” ดอกที่ 1.นโยบายการเงิน 2.นโยบายการคลัง 3.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
“ตอนนี้สิ่งที่ประเทศไทยทำเป็นส่วนใหญ่ คือ การออกนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง โดยมีโครงการต่าง ๆ ออกมาช่วยช่วงโควิด-19 หลายโครงการ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และล่าสุด มาตรการโกดังเก็บหนี้ (asset warehousing) ในธุรกิจโรงแรม”
แต่ไทยยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจน้อยไป ซึ่งเศรษฐกิจหลังโควิดจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างมากมาย เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ทุกวันนี้มีอัตราห้องพักต่ำกว่า 40%
ดังนั้น ประเทศไทยควรปรับโครงสร้างทางการเงินเฉพาะหน้า ทำ asset warehousing ในธุรกิจโรงแรม และเปิดทางเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 รวมถึงฉีดวัคซีนให้กับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อจะได้ทยอยเปิดประเทศรองรับการท่องเที่ยวได้ และต้องปรับโมเดลธุรกิจ เช่น นำห้องพักที่เหลือมาบริหารจัดการ ปรับธุรกิจไปสู่โมเดลใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (wellness tourism) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism)
อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 หายไป ประเทศไทยจะยังคงพบปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม
ต้นทุนแฝงในแรงงานต่างด้าว
“ดร.สมเกียรติ” อธิบายด้วยว่า ในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตที่ผ่านมาเจอปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และไทยเลือกใช้วิธีนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพราะคิดว่ามีต้นทุนต่ำ แต่วันนี้เราคงเห็นแล้วว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร ฟ้องภาพว่าการใช้แรงงานต่างด้าวมีต้นทุนแฝงมากมาย เช่น การควบคุมโรคระบาด การดูแลสิทธิมนุษยชน
ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ ที่เจอปัญหาแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก จนต้องสร้างหอพักใหม่ให้แรงงานต่างด้าวอยู่กระจายกันมากขึ้น ทำให้ใช้เงินไปมหาศาล เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ นำต้นทุนแฝงของการนำเข้าแรงงานต่างด้าว มาเป็นต้นทุนที่มองเห็นได้ และต้องคิดถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต จากที่ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเดียว ไปสู่การใช้หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และการเปลี่ยนโมเดลอุตสาหกรรม
“แต่การจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ปฏิรูปภาครัฐเพื่อปรับโครงสร้างต่าง ๆ โดยคะแนนขีดความสามารถภาครัฐของไทยตกลงมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จนถึงวันนี้ ซึ่งต่ำกว่าประเทศเวียดนาม”
การที่จะปฏิรูปภาครัฐนั้น เราต้องปรับกฎระเบียบภาครัฐ ด้วยกิโยตินกฎหมายให้มากขึ้น (regulatory guillotine) รวมถึงปรับประสิทธิภาพของการให้บริการของภาครัฐด้วยดิจิทัล และการให้ทรัพยากรแก่ภาคการผลิต เช่น การอนุญาตให้ภาคเอกชนนำเข้าหุ่นยนต์มาใช้ในไทยได้สะดวกขึ้น เพื่อเพิ่มความง่ายในการทำธุรกิจ