วันนี้, 10:22น.
การบริโภคของญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือ เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น ระบุว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.4 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2532 เป็นผลจากเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 32 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ค่าจ้างของแรงงานยังอยู่เท่าเดิม ไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อมาเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งอาจจะกระทบแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้เช่นเดียวกัน
ผลจากเงินเฟ้อสูงและการลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า ตัวเลขจีดีพีของญี่ปุ่นช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า จะเติบโตร้อยละ 1.1 เทียบกับการเติบโตร้อยละ 3.5 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
รอยเตอร์ รายงานอ้างสำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นว่า ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนของชาวญี่ปุ่นในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์ คือ ร้อยละ 2.7 นับเป็นการเติบโตเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังผู้จับจ่ายซื้อของมีความสุขกับการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเงินซื้อของช่วงฤดูร้อน(เดือนมิ.ย.ถึงกลางเดือนก.ย.) โดยไม่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดในญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีก่อน
เมื่อเทียบตัวเลขรายเดือน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน เติบโตร้อยละ 1.8 นับว่าฟื้นตัวขึ้นหลังหดตัวมา 2 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ นักวิเคราะห์ คาดว่า ตัวเลขการบริโภคของครัวเรือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายนจะเติบโตร้อยละ 1.7
การบริโภคของเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก ได้รับอานิสงค์จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นคลายล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนมีนาคม เช่น ให้ธุรกิจเปิดบริการตามปกติ ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่น เปิดประเทศเมื่อเดือนที่แล้วให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ตามปกติ ช่วยกระตุ้นการบริโภคให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
#ญี่ปุ่น
#เงินเฟ้อ
#GDP
ข่าวทั้งหมด