สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ใครก่อนดี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงจังหวัดที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.90 ระบุว่า จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากในรอบที่ 2 ที่ผ่านมา รองลงมา ร้อยละ 16.77 ระบุว่า เริ่มทุกจังหวัดพร้อม ๆ กัน ร้อยละ 10.70 ระบุว่า จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ร้อยละ 10.39 ระบุว่า จังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนทั้งหมด และร้อยละ 5.24 ระบุว่า จังหวัดที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมสูง
ด้านกลุ่มอายุที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.01 ระบุว่า กลุ่มวัยทำงาน ตั้งแต่ 20-59 ปี รองลงมา ร้อยละ 37.10 ระบุว่า กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ร้อยละ 15.10 ระบุว่า เริ่มทุกกลุ่มอายุพร้อม ๆ กัน และร้อยละ 9.79 ระบุว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 20 ปี
เมื่อถามถึงกลุ่มอาชีพที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นกลุ่มเป้าหมายแรก พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.48 ระบุว่าเป็น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข รองลงมา ร้อยละ 14.41 ระบุว่าเป็น กลุ่มผู้รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 8.87 ระบุว่าเป็น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ร้อยละ 7.59 ระบุว่าเป็น เริ่มทุกกลุ่มอาชีพพร้อม ๆ กัน ร้อยละ 5.29 ระบุว่าเป็น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านการเดินทางและขนส่งทุกชนิด ร้อยละ 4.93 ระบุว่าเป็น กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น กลุ่มเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 4.38 ระบุว่าเป็น กลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 3.82 ระบุว่าเป็น กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 3.49 ระบุว่าเป็น กลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.41 ระบุว่าเป็น กลุ่มเกษตรกร ประมง และร้อยละ 0.48 ระบุว่าเป็น กลุ่มนักการเมือง
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการบังคับให้ชาวต่างชาติทุกคนในประเทศไทยฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.54 ระบุว่า ควรบังคับชาวต่างชาติทุกคนให้ฉีดวัคซีน รองลงมา ร้อยละ 28.22 ระบุว่า ควรเป็นไปตามความสมัครใจในการฉีดวัคซีน ร้อยละ 26.25 ระบุว่า ควรบังคับเฉพาะชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงให้ฉีดวัคซีน และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ความคิดเห็นของประชาชนต่อการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.92 ระบุว่า ชาวต่างชาติทุกคนต้องเสียเงินในการฉีดวัคซีนเอง รองลงมา ร้อยละ 31.72 ระบุว่า ชาวต่างชาติที่เสียภาษีถูกต้องเท่านั้นที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนฟรี ร้อยละ 25.72 ระบุว่า ชาวต่างชาติทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนฟรี ร้อยละ 0.68 ระบุว่า ชาวต่างชาติกับรัฐบาลจ่ายคนละครึ่ง และร้อยละ 2.96 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ