ไทยติดเชื้อเกิน 3 หมื่นคนแล้ว ศบค.เปิดตัวเลขล่าสุดติดโควิด-19 ถึง 405 ราย ยันไม่มีขยับโซนสี เพราะไม่แฟร์คนส่วนใหญ่ แต่ลงดาบสถานประกอบการที่เข้าข่ายสถานบันเทิงใน 41 จังหวัดต้องปิด 14 วัน พร้อมให้อำนาจผู้ว่าฯ ฟันร้านอาหารหรือร้านค้าที่เป็นต้นตอแพร่โรค “หมอยง” คาดไวรัสสายพันธุ์อังกฤษมาจาก “กัมพูชา” สาธารณสุขรับแต่ละจังหวัดอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือนถึงคุมอยู่ เพราะรอบนี้เป็นแบบปลวกกระจาย หลายจังหวัดออกมาตรการเข้มหลังผู้ติดเชื้อพุ่ง พาเหรดยี้ 5 จังหวัดโซนสีแดง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 405 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 391 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 197 ราย และมาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 194 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 30,310 ราย หายป่วยสะสม 28,101 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2,114 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสม 95 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.มี 95 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 48 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 47 ราย ซึ่งกราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำแนกตามความเสี่ยง พบว่าการติดเชื้อในสถานบันเทิงในพื้นที่ กทม.ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เคยมีมาแล้วในช่วงต้นปี 2564 ในสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า ครั้งนี้มาอีกกลุ่มย่านทองหล่อ โดยสาเหตุที่ยอดพุ่งสูง เพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ปิด มิดชิด อับ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และข้อมูลจากสำนักอนามัย กทม. ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.ถึงปัจจุบันที่มีการปิดสถานบันเทิงต่างๆ ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 21 แห่งใน 8 เขต ประกอบด้วย เขตวัฒนา 9 แห่ง, บางแค 1 แห่ง, ภาษีเจริญ 1 แห่ง, ลาดพร้าว 2 แห่ง, ห้วยขวาง 4 แห่ง, ดินแดง 1 แห่ง, วังทองหลาง 2 แห่ง และบางกะปิ 1 แห่ง โดยข้อสังเกตของการระบาดรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นสถานบริการในรูปแบบเลานจ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนที่หรูดูดี เน้นลูกค้าที่มีระดับ ราคาแพง และลูกค้าเมมเบอร์เป็นหลัก มีเด็กนั่งดริงก์ และย่านที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมีร้านประเภทเดียวกันตั้งอยู่ติดกัน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 เม.ย. ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยได้พิจารณาเรื่องการปรับระดับพื้นที่หรือปรับสีพื้นที่ โดยได้ข้อสรุปและจะเสนอ ศบค.ชุดเล็ก ว่าจะไม่มีการปรับระดับพื้นที่ หรือปรับสีพื้นที่ เพราะจะกระทบต่อการวางแผนการเดินทางของประชาชนและผู้ประกอบการที่ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องสถานบันเทิงเท่านั้น ดังนั้นมาตรการช่วงสงกรานต์จึงยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 7 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องสถานบันเทิงเพียง 20 จังหวัด และ 504 รายเท่านั้น ถ้าจะออกมาตรการไปกระทบต่อคนเรือนล้าน คงไม่แฟร์และไม่ยุติธรรมกับคนอื่นๆ การใช้ยาแรงกวาดไปทั้งหมดจึงไม่เหมาะสม ผอ.ศบค.จึงมอบหมายให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พูดคุยกับ สธ. เพื่อเสนอแนวทางการให้ยาเฉพาะจุดที่มีปัญหา จะเฉพาะเจาะจงลงไป โดยให้ สธ.ทำเสนอขึ้นมา
“ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก อีโอซีได้เสนอแนวทางผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานที่บริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานประกอบกิจการอาบอบนวด อย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กอีกครั้งในวันที่ 9 เม.ย. เพื่อพิจารณาและเสนอ ผอ.ศบค.ลงนาม โดยมาตรการดังกล่าวจะใช้กับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงและจังหวัดใหญ่ที่เป็นทางผ่านและมีสถานบันเทิงจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 41 จังหวัด ประกอบด้วย กทม., ปทุมธานี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ลพบุรี, นครนายก, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ระนอง, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, ยะลา, นราธิวาส, นครราชสีมา, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, อุดรธานี, บุรีรัมย์, เลย, เชียงใหม่, ลำปาง, เชียงราย, ตาก และเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ ข้อเสนอที่กล่าวมาเป็นการพิจารณาในเบื้องต้นและจะมีการอนุมัติในภายหลัง แต่ที่เอามาพูดก่อนเพื่อให้ผู้ประกอบการใน 41 จังหวัดได้เตรียมการล่วงหน้า” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ผอ.ศบค.ยังให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยกำหนดแนวทางเวิร์กฟรอมโฮมตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี รวมถึงขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนให้พิจารณาแนวทางดังกล่าวด้วย เพื่อลดปริมาณผู้ปฏิบัติงานและลดการเดินทาง และขอความร่วมมือสถานประกอบการอื่นที่ยังไม่ได้รับคำสั่งให้หยุดการดำเนินงานให้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องกันโควิด-19 หรืออาจพิจารณาหยุดด้วยความสมัครใจ และขอให้ประชาชนร่วมมือต่อการป้องกันโควิด-19 สำหรับแนวทางจัดกิจกรรมช่วงสงกรานต์ การจัดพิธีสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเดินทางข้ามจังหวัดยังสามารถไปได้ทุกที่ แต่มีข้อห่วงใยให้ทุกคนยึดถือมาตรการป้องกันโควิด บุคคลที่เคยไปในพื้นที่เสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการพบปะผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่แคบ และย้ำว่าปีนี้งดการสาดน้ำสงกรานต์ คอนเสิร์ต ปาร์ตี้โฟม และประแป้ง
เมื่อถามว่า สายพันธุ์โควิด-19 จากอังกฤษเข้ามาไทยได้อย่างไร และต้องปรับเรื่องการกักตัวหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สายพันธุ์อังกฤษนั้นแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จึงกังวลว่าอาจต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิมในการดูแล ซึ่งเดิมดูแลกัน 10 วัน ต้องขยายเป็น 14 วัน
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงย้ำว่า ที่ประชุมมีมติให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานที่บริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานประกอบการกิจการอาบอบนวด ใน 41 จังหวัด เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ส่วนการจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดได้ตามที่ราชการกําหนดในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นย้ำมาตรการป้องกันโควิด- 19 อย่างเคร่งครัด
ศธ.ชี้เป็นปลวกกระจาย
เมื่อถามว่าการระบาดรอบนี้หนักสุดในไทยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า หากถามว่าหนักสุดหรือไม่ ก็เกิดขึ้นคนละแบบ การระบาดครั้งแรกสุดในช่วงต้นปี 2563 เราพบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย ต่อมาการระบาดใน จ.สมุทรสาคร เมื่อปลายปี 2563 เกิดขึ้นในรูปแบบรังปลวกสามารถเข้าไปควบคุมใช้มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลได้ แต่ครั้งนี้ที่เกิดขึ้นในเดือน มี.ค.-เม.ย. เป็นการระบาดแบบปลวกกระจาย ซึ่งถือว่าควบคุมยากที่สุด เพราะว่าจับไม่อยู่ เชื่อว่าในรายจังหวัดสามารถควบคุมได้ อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการที่ใช้ว่าจะใช้ไม้แข็งในการควบคุมหรือไม่ เบื้องต้นก็จึงต้องแนะนำประชากรที่อยู่ในพื้นที่ กทม.ให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะ ห่างล้างมือบ่อยๆ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าฯ กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษแพร่ระบาดอย่างมากในประเทศกัมพูชา โดยตั้งแต่ 20 ก.พ.ถึง 19 มี.ค. มีผู้ป่วยกว่า 1,500 ราย ซึ่งสายพันธุ์ที่ตรวจพบคือ สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ต้นตอของการระบาดในไทยครั้งนี้จึงไม่น่าจะมาจากสถานกักกัน ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่น่าจะมาจากการเคลื่อนย้ายของคนระหว่างกัมพูชาและไทย โดยเฉพาะจากแรงงานต่างด้าวหรือคนไทยที่ข้ามไปข้ามมา
สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า มีแผนดังนี้ 1.ถ้าเตียงไม่เพียงพอจะขยายเตียงในแต่ละ รพ.ให้มากขึ้น 2.ถ้ายังไม่เพียงพอ ขอให้เปิดมาตรการการใช้สถานที่กักตัวโดยใช้โรงแรมต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในระบบ แล้วให้ รพ.ประกบเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งใช้ในกรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการไม่มาก 3.สธ.ขอให้จังหวัดต่างๆ เริ่มจัดเตรียมความพร้อม รพ.สนามเอาไว้ ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรคมีการสั่งการให้เตรียมความพร้อมแล้ว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า นายกฯ สั่งการแล้ว ส่วนเรื่องพื้นที่กระทรวงกลาโหมจะไปดู เพราะเป็นผู้รับดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ต้องห่วงเขาเตรียมการไว้แล้ว
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. ระบุว่า ทุกเหล่าทัพอยู่ระหว่างเร่งจัดเตรียมความพร้อมของ รพ.สนาม โดยได้จัดเตรียมพื้นที่หน่วยทหารจำนวน 10 แห่ง พร้อมบุคลากรแพทย์ทหาร สนับสนุนจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามกว่า 3,000 เตียง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และทุกเหล่าทัพอยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติม
นายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ใน กทม.มีหลายแห่งที่จะจัดตั้ง รพ.สนาม เช่น รพ.ราชพิพัฒน์ ย่านพุทธมณฑลสาย 3 และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ของสำนักการแพทย์ กทม.
ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ชี้แจงถึงการเผยแพร่ข้อมูลว่ารัฐบาลผูกขาดการนำเข้าว่า รัฐบาลไม่ได้ผูกขาดการจัดซื้อวัคซีนเพียงบางบริษัท และไม่ได้ปิดกั้นที่เอกชนจะนำเข้าวัคซีนแต่อย่างใด
กวักมือเรียกเอกชนหาวัคซีน
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ไม่เคยปิดกั้นการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมทั้งเชิญชวนให้ภาคเอกชน เช่น รพ.เอกชน บริษัทเอกชน นำเข้าวัคซีน ซึ่งขณะนี้มี 14 บริษัทเอกชนที่เข้ามาติดต่อ อย. เพื่อขอนำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีน แต่มีเพียง 4 รายที่ส่งเอกสารมา และ อย.ได้อนุมัติไปแล้ว 3 ราย คือ 1.วัคซีนแอสตราเซเนกา นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด 2.วัคซีนโคโรนาแวค โดยบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ 3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ส่วนรายที่ 4 คือ วัคซีนบารัต ประเทศอินเดีย โดยบริษัทไบโอเจเนเทค ยังรอเอกสารผลการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 อยู่
“อีก 10 ราย เราก็อยากเชิญชวนให้มาส่งเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียน เพราะมีวัคซีนในหลายตัว เช่น วัคซีนโมเดิร์นนา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา วัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนสปุตนิกวี มาติดต่อ แต่ยังไม่มายื่นขึ้นทะเบียน” นพ.ไพศาลกล่าว
ขณะเดียวกัน ในหลายๆ ภาคส่วนได้เปิดเผยถึงผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบ 3 อย่างต่อเนื่อง โดย พล.ท.วิโรจน์ เกิดแสง ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปอ.) ได้ออกประกาศ วปอ.ว่า มีนักศึกษา วปอ.รุ่น 63 จำนวน 1 คน ติดเชื้อ และมีนักศึกษา วปอ.รุ่น 63 จำนวน 2 คน ขอกักตัวเนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีข้าราชการ 1 คน ตรวจพบการติดเชื้อ จึงเลิกการสัมมนาและกิจกรรมของ วปอ.ตั้งแต่ 8 เม.ย.ถึง 30 เม.ย. และขอให้นักศึกษา รุ่น 63 และข้าราชการตรวจเชื้อและกักตัว 14 วัน
วปอ.รุ่นที่ 63 มีผู้เข้ารับการศึกษา 285 คน ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร 94 นาย, ข้าราชการตำรวจ 9 นาย, ข้าราชการพลเรือน 77 คน, พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ 15 คน, ภาคเอกชน 15 คน, นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป 68 คน, นักศึกษาจากมิตรประเทศ 7 นาย ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ ก็เป็น วปอ.63 ด้วย ซึ่งนายอนุชาระบุว่าไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่จะเริ่มกักตัวเองตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.เป็นต้นไป
นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ยอมรับว่าข่าวอัยการผู้ช่วย สังกัดสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ติดเชื้อโควิด เป็นความจริง โดยขณะนี้อัยการคนดังกล่าวรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
มีรายงานว่า อัยการคนดังกล่าวติดเชื้อจากเพื่อนที่ไปเที่ยวผับที่ทองหล่อ
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีข้าราชการสํานักงานศาลยุติธรรมติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าเป็นข้าราชการสังกัดสํานักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ขณะนี้พักรักษาตัวที่ รพ. และได้ประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข 49 ของ กทม.ที่ดูแลในเขตพื้นที่ ทําการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อสำนักงานแล้ว ส่วนบุคลากรภายในสํานักงาน ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการคัดกรองและตรวจหาเชื้อ รวมถึงกักตัว
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ออกประกาศว่า มีบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 5 คน โดยเป็นการติดเชื้อจากนอกพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และนอกเวลาการปฏิบัติงาน จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในขณะนี้
พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้น ณ วันที่ 8 เม.ย. พบมีตำรวจติดเชื้อ 42 นาย แบ่งตามสังกัด ดังนี้ บช.น. 18 นาย, สตม. 7 นาย, สอท. 1 นาย, สันติบาล 1 นาย, ก.ตร. 1 นาย, สื่อสาร 1 นาย, ภ.1 1 นาย, ภ.5 8 นาย, ภ.7 1 นาย, ทว. 1 นาย, รพ.ตร. 1 นาย และข้าราชการบำนาญ 1 ราย ซึ่งทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวแล้ว และได้มีการตรวจและกักตัวผู้ใกล้ชิดทั้งหมดแล้ว
ส่วนกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ติดเชื้อโควิด-19 นั้น พบว่าในไทม์ไลน์มีการร่วมประชุมหลายครั้ง และที่สำคัญมีงานเตะฟุตบอลกระชับมิตรระหว่าง ‘รุ่นพี่-รุ่นน้อง’ เหล่าทหารม้า ซึ่งในกลุ่มยังมีนายทหารระดับสูงของ พล.ม.2 รอ., ทหารหน่วยมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ยศระดับนายพลติดเชื้อด้วย กองทัพบกจึงมีคำสั่งให้กำลังพลทั้งหมดกักตัวและเฝ้าสังเกตอาการ
ขณะเดียวกัน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับแจ้งผลการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ และรักษาตัวอยู่ที่ รพ.
พาเหรดยี้ 5 จังหวัดสีแดง
สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคนั้น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 9 ราย รวมยอดสะสมอยู่ที่ 25 ราย คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดจึงได้ออกประกาศฉบับที่ 30 สั่งงดการจัดคอนเสิร์ตทุกพื้นที่ทั้ง 26 อำเภอ พร้อมคำสั่งให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ขอนแก่นที่มาจากพื้นที่เสี่ยงทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ และ นครปฐม ต้องทำการกักตัว 14 วันที่บ้านตัวเองทันทีโดยไม่มีการละเว้น
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีรายงานว่า พบผู้ป่วยรายที่ 9 ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำงานที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มีประวัติเที่ยวสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ เบื้องต้นมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 26 คน
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันโรค 8 ราย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงมีคำสั่งปิดสถานบริการที่มีการแพร่เชื้อ รวม 3 แห่ง ดังนี้ 1.คาเฟ่ เดลมาร์ ภูเก็ต 2.อิลลูชั่น และ 3.เชลเทอ เป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 8-21 เม.ย.
ส่วน จ.พิษณุโลก พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 6 ราย จังหวัดจึงได้งดจัดงานมหกรรมอาหารฯ และได้ออกประกาศให้ผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุม 5 จังหวัดต้องเข้าระบบเฝ้าระวัง
นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ เผยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่อีก 6 ราย และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไทม์ไลน์เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์สถานบันเทิงในพื้นที่ กทม. จึงได้มีคำสั่งประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด หากเดินทางเข้ามาในพื้นที่ ต้องรายงานตัวกับผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภายใน 12 ชั่วโมง นับแต่เดินทางมาถึง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ดังกล่าวเดินทางไปแหล่งชุมชน หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้เผยยอดตัวเลขของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่ามีเพิ่ม 36 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 116 ราย เฉพาะผู้ติดเชื้อระลอก?นี้? 4? วันมี 47 รายแล้ว ซึ่งผู้ป่วยเชื่อมโยงคลัสเตอร์สถานบันเทิงทั้งหมด? จึงมีคำสั่งเพิ่มให้ปิดสถานบันเทิง รวม? 6? แห่ง เป็นเวลา 14 วัน
ส่วนที่ จ.ตราด พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย เป็นชาวตราดที่ทำงานในบริษัทประกันชีวิตที่ไปสัมมนาที่ จ.สระแก้ว และไปเที่ยวในสถานบริการและพบว่ามีผู้ติดเชื้อในสถานบริการ จึงมาตรวจและพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จ.นราธิวาส รายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 เม.ย. มีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตจำนวน 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 61 ปี ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 3 ราย.