ไทยยังอยู่ในช่วงระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซิโนแวค จากประเทศจีน ใน 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง โดยผ่านสัปดาห์แรก ให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายไปแล้วกว่าครึ่ง
ส่วนใหญ่อักเสบบริเวณที่ฉีด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า มีผู้รับวัคซีนซิโนแวคแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ถึงวันที่ 6 มี.ค. เวลา 18.00 น.แล้วจำนวน 27,497 คน โดยฉีดเพิ่มเมื่อวันที่ 6 มี.ค. จำนวน 1,633 คน ในจำนวนนี้มีรายงานผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน 128 คน รวมผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน จำนวน 956 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.48 ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด อาการที่พบ อาทิ อักเสบบริเวณที่ฉีด 191 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้มีอาการฯ ปวดเมื่อยเนื้อตัว 173 คน คิดเป็นร้อยละ 18 คลื่นไส้ 116 คน คิดเป็นร้อยละ 12 มีไข้ 73 คน คิดเป็นร้อยละ 8 อาเจียน 71 คน คิดเป็นร้อยละ 7 ผื่น 66 คน คิดเป็นร้อยละ 7 ท้องเสีย 50 คน คิดเป็นร้อยละ 5 เหนื่อย 49 คน คิดเป็นร้อยละ 5
กระจายวัคซีนแล้ว 1.16 แสนโดส
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 โดยกรมควบคุมโรค สรุปความก้าวหน้าการให้บริการวัคซีนซิโนแวค จำนวน 116,520 โดส จำแนกเป็นรายจังหวัดที่ได้รับจัดสรรวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-6 มี.ค.2564 จ.สมุทรสาคร ได้รับวัคซีน 35,080 โดส ฉีดไปแล้ว 6,922 คน กทม. ได้รับวัคซีน 33,600 โดส ฉีดไปแล้ว 2,742 คน ปทุมธานี ได้รับวัคซีน 8,000 โดส ฉีดไปแล้ว 1,902 คน นนทบุรี ได้รับวัคซีน 6,000 โดส ฉีดไปแล้ว 2,107 คน สมุทรปราการ ได้รับวัคซีน 6,000 โดส ฉีดไปแล้ว 2,226 คน ตาก ได้รับวัคซีน 5,000โดส ฉีดไปแล้ว 1,057 คน ชลบุรี ได้รับวัคซีน 4,750 โดส ฉีดไปแล้ว 2,296 คน ภูเก็ต ได้รับวัคซีน 4,000 โดส ฉีดไปแล้ว 809 คน นครปฐม ได้รับวัคซีน 3,560 โดส ฉีดไปแล้ว 1,480 คน เชียงใหม่ ได้รับวัคซีน 3,520 โดส ฉีดไปแล้ว 1,258 คน ราชบุรี ได้รับวัคซีน 2,520 โดส ฉีดไปแล้ว 1,258 คน สุราษฎร์ธานี ได้รับวัคซีน 2,520 โดส ฉีดไปแล้ว 968 คน สมุทรสงคราม ได้รับวัคซีน 2,000 โดส ฉีดไปแล้ว 759 คน
ให้ 7 กลุ่มเสี่ยงเช็กสิทธิฉีดวัคซีน
ต่อมา พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผอ.กองโรคป้องกัน ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคมีคำแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มจองสิทธิและนัดหมายเพื่อเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อป้องกันความสับสนระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 จะเริ่มต้นฉีดในเดือน พ.ค.นี้เช่นกัน และทั้ง 2 โรคมีอาการคล้ายคลึงกันมาก และไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ ต้องตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการ ต้องมีการตรวจความเสี่ยง สอบถามไทม์ไลน์ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนทั้ง 2 โรคนี้หลายกลุ่มซ้อนทับกัน โดยกลุ่มที่ต้องรับวัคซีนทั้ง 2 โรคต้องฉีดห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ดังนั้น การเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาล เหมือนกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือผู้รับวัคซีนจะมีโอกาสได้พบกับเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบถึงสิทธิในการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงให้ได้มากขึ้นด้วย และมีส่วนช่วยประเทศให้สามารถจัดการโรคโควิด-19 ลดอุปสรรคในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19
แนะควรฉีดวัคซีน “หวัดใหญ่-โควิด”
พญ.สุชาดากล่าวอีกว่า สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ได้แก่ 1.หญิงมีครรภ์ 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบ 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ 7.โรคอ้วน มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนทั้ง 2 โรค ได้แก่ กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค, ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และโรคอ้วน
ติดเชื้อในประเทศ 60 คน
ส่วนสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เผยรายงานเมื่อวันที่ 7 มี.ค.พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 65 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 60 คน มาจากต่างประเทศ 5 คน โดยติดเชื้อในประเทศ แยกตามพื้นที่ได้แก่ สมุทรสาคร 47 คน ตาก 5 คน ปทุมธานี 3 คน นครนายก 2 คน กทม. 2 คน และพระนครศรีอยุธยา 1 คน ส่วนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ ประกอบด้วยผ่านระบบคัดกรองเข้าสถานกักกันของรัฐ 3 คน เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย สหราชอาณาจักร และสวีเดน ประเทศละ 1 คน และผู้เดินทางเข้าประเทศตามเส้นทางธรรมชาติ มาจากมาเลเซีย 2 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 26,370 ราย มีผู้ป่วยหายเพิ่มขึ้นถึง 58 คน รวมหายป่วย 25,744 คน อยู่ระหว่างรักษา 541 คน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดเสียชีวิตสะสม 85 คน สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 117,059,448 ราย เสียชีวิตสะสม 2,599,984 ราย หายแล้ว 92,634,367 ราย
แม่สอดวุ่น “โต๊ะอิหม่าม” ติดโควิด
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยังไม่คลี่คลาย หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อที่ร้านค้าหน้าตลาดหมวยแขก ก่อนลุกลามไปยังร้านถ่ายเอกสารในเขตเทศบาลนครแม่สอด ฝ่ายสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสไปตรวจหาเชื้อ ผลปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดที่มีประวัติเกี่ยวเนื่องกันถึง 11 คน ล่าสุดส่งรักษาตัวใน รพ.แม่สอดแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีมุสลิมชาวเมียนมาเป็นโต๊ะอิหม่าม อาศัยอยู่ในชุมชนอิสลาม อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสัมผัสของผู้ติดเชื้อชาวเมียนมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ยอมไปตรวจเชื้อ ทำให้คนในชุมชนต่างหวาดกลัวพากันกดดันจนยอมไปตรวจ และผลออกมาเป็นบวก คือติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องระดมทีมติดตามสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสกับโต๊ะอิหม่ามรายนี้ เนื่องจากทราบว่ามักนำละหมาดที่มัสยิด มีผู้เข้าร่วมครั้งละ 20-30 คน เจ้าหน้าที่กำลังติดตามกลุ่มคนเหล่านี้มาตรวจ ก่อนที่จะแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง ขณะที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก รายงาน ณ เวลาเที่ยง วันที่ 7 มี.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 คน เป็นชาวเมียนมาทั้งหมดทำให้ จ.ตาก มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 303 คน
สมุทรสาครติดเชื้อเกือบครึ่งร้อย
ในพื้นที่ที่เคยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนมาก่อน ล่าสุดก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก โดยสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี รายงานเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 7 มี.ค. มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน เป็นคนไทย 1 คน และต่างด้าว 2 คน ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 610 คน ส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครแจ้งเมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 6 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 47 คน เป็นคนไทย 14 คน แรงงานต่างด้าว 33 คน ทำให้ขณะนี้ จ.สมุทรสาคร มีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 16,587 คน
ลงทะเบียน ม.33 กว่า 8 ล้านคน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ในกลุ่มผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่เปิดรับลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 4 พันบาทนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ถึงภาพรวมการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม33เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.-7 มี.ค.2564 จากเป้าหมาย 9.27 ล้านคน ปรากฏว่าข้อมูล ณ วันที่ 7 มี.ค. เวลา 12.00 น. มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ลงทะเบียนแล้ว 8,185,079 คน คงเหลือประมาณ 1 ล้านกว่าคน จังหวัดที่มีการตกค้างอยู่สูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และเชียงใหม่
กลุ่มไร้สมาร์ทโฟนลงทะเบียนที่ สปส.
นายสุชาติกล่าวอีกว่า ขั้นตอนหลังจากปิดลงทะเบียนในวันที่ 7 มี.ค.แล้ว จะเป็นการแจ้งขอทบทวนสิทธิ โดยจะเปิดบริการให้ขอรับทบทวนสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 15-28 มี.ค.นี้ ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทุกพื้นที่ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในการติดต่อเท่านั้น รวมถึงผู้ประกันตนกลุ่มที่ไม่มี สมาร์ทโฟน ก็จะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 15-28 มี.ค.ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัดและสาขา โดยเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจะบันทึก แทนผู้ประกันตน กรอกข้อมูลตามบัตรประชาชนของ ผู้ประกันตน กดยืนยันหลักเกณฑ์เงื่อนไขและความยินยอมเข้าร่วมโครงการ ม33 เรารักกัน จากนั้นจะตรวจสอบว่าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือไม่ มีสัญชาติไทยหรือไม่ ต้องไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ และไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินเกิน 500,000 บาท
เตือนร้านค้าห้ามฉวยขึ้นราคา
วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ กำชับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า จากโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ที่จะเริ่มใช้จ่ายเร็วๆนี้ ขอให้เห็นใจ ประชาชน ทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งไปยังร้านค้าทุกแห่งและ ออกตรวจสอบไม่ให้ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ เช่น ห้ามยึด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ห้ามรับ/แลกเป็นเงินสด ห้ามบังคับการซื้อ/ขายสินค้า ห้ามเอาเปรียบขึ้นราคาและ ขายเกินราคาเด็ดขาด หากพบฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าตรวจพบกระทำผิดจะถูกยกเลิกจากโครงการทันที และอาจถูกยึดเครื่อง EDC หรือยกเลิกใช้แอปพลิเคชัน ทำให้ไม่สามารถขายสินค้ากับโครงการได้อีกต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้า ภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
โสมตายเพิ่มหลังฉีดวัคซีน
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกวันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติเกาหลีใต้ (KCDC) รายงานความคืบหน้ากระบวนการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่าจากการ ฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา-มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 291,000 คน ได้เกิดอาการข้างเคียงกว่า 2,800 คน ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 24 คน พร้อมทั้งพบผู้เสียชีวิต หลังการฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 7 คน แต่มิได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติม ระบุเพียงว่าผู้เสียชีวิต 2 รายของประเทศ เป็นผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยอยู่แต่เดิม และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ส่วนการฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐฯ แก่ประชากรอย่างน้อย 5,000 คน ยังไม่พบว่ามีรายงานผลข้างเคียงแต่อย่างใด
จีนเล็งตั้งศูนย์วัคซีนต่างแดน
ขณะที่นายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน เผยว่า รัฐบาลจีนมีแผนการจัดตั้งศูนย์วัคซีนในประเทศต่างๆ เพื่อฉีดวัคซีนต้านไวรัสให้แก่พลเมืองจีนในต่างแดน แต่ต้องหารือเพิ่มเติมว่าสถานการณ์จะเอื้ออำนวยหรือไม่ ส่วนที่อังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ประชาชนช่วงอายุ 56-59 ปี ลงทะเบียนจองคิว ฉีดวัคซีน หลังกระบวนการฉีดวัคซีนคนในช่วงอายุ 65-69 ปี เสร็จสิ้นไปแล้ว 8 ใน 10 ส่วน ขณะที่มหาวิทยาลัยคิง คอลเลจ ลอนดอน เผยผลการศึกษาว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน มากกว่าคนที่ไม่เคยรับเชื้อถึง 3 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์