“การเลือกโฟกัสธุรกิจ health Care อย่างเดียว ไม่ได้มองว่าการทำธุรกิจอสังหาฯ ไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำอสังหาฯ มาในระยะหนึ่ง ผลตอบรับก็ดีต่อเนื่อง แต่ด้วยปณิธานขององค์กร เราต้องการสร้างคนที่มีจิตใจเป็นผู้ให้ ฉะนั้นการที่จะทำอะไรในการดำเนินธุรกิจหรือการขยายธุรกิจในแต่ละครั้ง ก็ต้องย้อนกลับไปนึกถึงว่าองค์ประกอบขององค์กรเรามีปณิธานอย่างไร ซึ่งการทำธุรกิจอสังหาฯ อาจไม่ได้ตอบโจทย์ในส่วนนี้มากนัก จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับโฟกัสของธุรกิจให้มันตรงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว”
ธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2563 ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้ป่วยหรือผู้บริโภคก็ปรับเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดเพื่อการักษาคนไข้มากขึ้น โดยในส่วนของพริ้นซิเพิล แคปิตอล แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล แต่ก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงคนไข้ก็เป็นประชาชนในประเทศมากกว่าต่างชาติ โดยนับจากนี้ พริ้นซิเพิล แคปิตอล ก็เตรียมเดินหน้าพร้อมลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรองรับเทรนด์ในอนาคต และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยิ่งยืน
เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกคนไข้
(ธานี มณีนุตร์)
นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด(มหาชน) (PRINC) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2563 ของโรงพยาบาลในประเทศไทยติดลบประมาณ 14% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวในกลุ่ม medical tourism ไม่สามารถเดินทางมาได้ ส่วนกลุ่มที่เป็นคนไทยเองก็ไม่กล้าออกจากบ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มเด็กก็ป่วยน้อยลงเพราะว่าอยู่ในช่วงโรงเรียนถูกสั่งปิด ทำให้เด็กเจ็บป่วยน้อยลง และคนก็ระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น มีการป้องกันตัวมากขึ้น
รวมถึงยังมีผู้ป่วยที่เลื่อนการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเร่งด่วน เช่น ผ่าตัดเข่า ผ่าตัดสะโพก ซึ่งเคสเหล่านี้ค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูงหากเปรียบเทียบกับการรักษาในกลุ่มอาการของโรค เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ที่เข้ามารักษาถี่กว่าการผ่าตัด จึงทำให้ภาพรวมของโรงพยาบาลติดลบ ซึ่งปกติแล้วธุรกิจโรงพยาบาลมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ 7-8% ต่อปี จะเห็นได้ว่าการติดลบ 14% ของปีที่แล้วนั้น เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมนี้ สำหรับบริษัทผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นติดลบไม่มากนัก เนื่องจากไม่ได้เป็นโรงพยาบาลที่มีลูกค้าหลักในกลุ่มต่างชาติ แต่เน้นคนไทยเป็นหลักที่เป็นระดับกลางถึงระดับล่าง โดยรวมบริษัทติดลบที่ 1-2% แต่ช่วงปลายปีที่มีการระบาดระลอกสองบริษัทได้มีการปรับตัว ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบบริการให้มีความกระชับและก็เข้ากับธุรกิจสมัยใหม่มากขึ้น
“ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลตั้งอยู่กับที่ และรอคนไข้เดินเข้ามารับการรักษา แต่ในวิกฤติแบบนี้ มันทำให้เกิดบริการใหม่ๆ หลายบริการ โดยที่ไม่คิดว่าจะต้องทำ เช่น บริการหมอพบคนไข้ที่บ้าน Bring at home ซึ่งก่อนหน้านี้หมอทุกคนจะตั้งอยู่ในที่มั่นของตัวเอง และคนไข้เดินเข้ามาหาที่โรงพยาบาล แต่ว่าสมัยนี้มันเปลี่ยนไปเพราะว่าคนไข้ลดการเดินทาง และบางครั้งอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย คนไข้ก็จะตัดสินใจรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง” นายธานีกล่าว
ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นทำให้โรงพยาบาลต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้นในงานบริการ เช่น แอปพลิเคชัน เกี่ยวกับ Telemedicine เป็น Virtual Doctor, Virtual Hospital เพื่อให้สามารถติดต่อกับทางคนไข้และบริการได้เสมือนคนไข้ได้พบกับหมอหรือเสมือนเดินทางมารักษาอาการที่โรงพยาบาล และถ้าคนไข้ต้องการให้หมอเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง จะมีทีมแพทย์เข้าไปดูแลถึงที่บ้าน อย่างเช่น กรณีคนไข้ต้องล้างแผล ปกติต้องเดินทางมาล้างแผลที่โรงพยาบาล 2 วัน หรือ 3 วันมาล้าง 1 ครั้ง ซึ่งเป็นการล้างแผลอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้คนไข้ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล แต่จะมีทีมพยาบาลเดินทางไปหาคนไข้ เพื่อล้างแผลให้ที่บ้าน ก็จะเกิดความสะดวกต่อคนไข้ที่ไม่ต้องการเดินทางออกมาข้างนอก แน่นอนว่าเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โรงพยาบาลผู้ให้บริการก็ต้องปรับตัวตาม ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ
ปรับพอร์ตเน้นโฟกัสธุรกิจเฮลท์แคร์
นายธานี กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจในเครือประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.โรงพยาบาล 2.อสังหาริมทรัพย์ และ 3.คลินิกชุมชน ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ โดยในปี 2563 รายได้โรงพยาบาล 2,682 ล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจปี 2564 มีการปรับพอร์ต โดยหยุดลงทุนในส่วนอสังหาริมทรัพย์ และโฟกัสในส่วน Health Care มากขึ้น ซึ่งการปรับพอร์ตลักษณะนี้ค่อนข้างใช้เวลาประมาณ 1–3 ปี ตอนนี้ได้เริ่มขายอสังหาฯ บางส่วนออกไปแล้ว เพื่อนำมาลงทุนในส่วนของโรงพยาบาลมากขึ้น และมองว่าแผนในอนาคตจะขยายธุรกิจออกไปในตลาดอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น
“การเลือกโฟกัสธุรกิจ health Care อย่างเดียว ไม่ได้มองว่าการทำธุรกิจอสังหาฯ ไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำอสังหาฯ มาในระยะหนึ่ง ผลตอบรับก็ดีต่อเนื่อง แต่ด้วยปณิธานขององค์กร เราต้องการสร้างคนที่มีจิตใจเป็นผู้ให้ ฉะนั้นการที่จะทำอะไรในการดำเนินธุรกิจหรือการขยายธุรกิจในแต่ละครั้ง ก็ต้องย้อนกลับไปนึกถึงว่าองค์ประกอบขององค์กรเรามีปณิธานอย่างไร ซึ่งการทำธุรกิจอสังหาฯ อาจไม่ได้ตอบโจทย์ในส่วนนี้มากนัก จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับโฟกัสของธุรกิจให้มันตรงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว”
เดินหน้าลงทุนโรงพยาบาลต่างจังหวัด
นายธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนส่วนมากมักไปกระจุกตัวที่จังหวัดใหญ่ๆ เช่น จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีโรงพยาบาลเอกชนที่เดียวที่อาจไม่ค่อยดีมากนัก ซึ่งถ้าจะเข้าไปตั้งโรงพยาบาลก็ต้องได้คุยกับบุคลากรและคนพื้นที่ ซึ่งต้องการความทันสมัยทั้งอุปกรณ์และสถานที่ในการรักษา นับเป็นเรื่องพื้นฐานที่ยังไปไม่ถึงจังหวัดเมืองรอง การที่บริษัทเข้าไปตั้งในพื้นที่นั้นจะทำให้คนมีทางเลือกในการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนที่มีคุณภาพที่เท่าเทียมกับที่กรุงเทพฯ ได้ใช้บริการ
ขณะเดียวกัน บุคลากรที่ทำงานในนั้นก็จะมาจากคนของท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นเมื่อมีการประกาศรับสมัครบุคลากร คนในจังหวัดนั้นที่ทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะสมัครเข้ามาเพื่อที่จะได้กลับไปทำงานในจังหวัดบ้านเกิด เพื่อพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งบริษัทยินดีที่ได้มีโอกาสคัดเลือกบุคลากรเหล่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมุ่งมั่นอยากทำงานให้บ้านเกิด และมีแพชชั่นในการทำงาน
ส่วนกำลังซื้อของกลุ่มระดับกลางถึงล่างมีกำลังซื้อที่ดี เพราะทุกคนอยากได้การดูแลรักษาที่ดี เมื่อกำหนดการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเงินถุงเงินถังในการเดินเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาล อย่างโรงพยาบาลของบริษัทที่ลำพูนก็รับประกันสังคม ซึ่งมองว่าตลาดนี้เป็นโอกาสที่จะขยายการเติบโตได้
“บริษัทเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญที่ระดับกลางถึงล่าง มีศักยภาพในการดูแลคนในภาพรวมที่ต้องการเข้าถึงคนในชุมชน เป็นภาพของโรงพยาบาลเอกชนที่คนเข้าถึงได้ ซึ่งในต่างจังหวัดบางแห่งไม่มีโรงพยาบาลลักษณะนี้ เช่น ในจังหวัดที่เป็นเมืองรอง บริษัทก็จะเข้าไปตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นเพื่อให้มีทางเลือกให้กับคนมากขึ้น ส่วนราคาก็ไม่ได้ต่ำกว่าของโรงพยาบาลรัฐ แต่ก็ไม่สูงถึงกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 11 แห่ง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าปีนี้จะซื้อเพิ่ม 2-3 แห่ง และภายใน 3 ปี คาดว่าจะมีประมาณ 20 แห่ง” นายธานี กล่าว
ปั้นคลินิกเข้าถึงชุมชนมากขึ้น
นายธานี กล่าวว่า ส่วนคลินิกชุมชนจะเป็นธุรกิจหนึ่งของแผนที่กำลังเกิดขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีประมาณ 16 แห่ง เป็นลักษณะของคลินิกที่กระจายอยู่ตามชุมชนแต่ละแห่ง เบื้องต้นนำร่องที่ชุมชนภายในกรุงเทพฯ โดยมองว่าคลินิกเหล่านี้จะทำให้ได้ใกล้ชิด ดูแลคนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนจริงๆ และที่ตั้งของคลินิกจะเลือกทำเลที่เป็นชุมชน เช่น ตลาด หรือใกล้กับร้านสะดวกซื้อ เพราะทำให้คนเข้าถึงคลินิกได้ง่ายขึ้น
สำหรับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดคลินิกไปแล้ว 16 แห่ง ตอนนี้ผ่านไป 1-2 เดือนเริ่มมีคนไข้เข้ามาแล้ว เนื่องจากการเปิดคลินิกชุมชนจะต้องทำสัญญาร่วมกับภาครัฐ คือ สปสช. เพราะฉะนั้นจึงมีการจัดทำเรื่องเอกสารค่อนข้างหลายขั้นตอน ตอนนี้เราอยู่ในเฟสของการโปรโมตและทำมาร์เก็ตติ้ง สร้างการรับรู้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีคนเข้ามาที่คลินิกเฉลี่ยแล้ว 10-20 คนต่อวัน คาดหวังว่าต่อวันควรจะมีประมาณ 60 คน โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายไว้ที่ 30 แห่ง และมองที่ 100 แห่งภายใน 3 ปี
นายธานีกล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์เป็นการเข้าซื้อบางส่วน ซึ่งมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้เกิดปัญหา มองว่าแนวโน้มธุรกิจนี้ดีสามารถลงทุนได้ และเกิดความร่วมมือกันทั้งสองเครือ เนื่องจากบริษัทเป็นโรงพยาบาลระดับกลาง และทำคลินิกที่เป็นระดับกลางถึงล่าง การที่จะต่อยอดในส่วนของเฮลท์แคร์จริงๆ จะต้องมีส่วนที่อยู่ในระดับบนด้วย เป็น Luxury Care ซึ่งโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านนี้มานาน
ดังนั้น จะทำให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไกลค่อนข้างมาก เช่น การรักษาด้วยยาในคนไข้ แต่ละคนไม่สามารถรับยาตัวเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ทางเทคนิคเหล่านี้เรายังไม่เชี่ยวชาญมากขนาดนั้น ซึ่งบำรุงราษฎร์มีทีมอาจารย์แพทย์ที่ทำอยู่แล้ว เนื่องจากใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่างชาติ การที่ได้องค์ความรู้จากบำรุงราษฎร์เข้ามาช่วยประกอบในการรักษา
จับเทรนด์ผู้สูงวัยลุยโครงการใหม่
นายธานี กล่าวถึงแผนการลงทุนด้านศูนย์ฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุ ว่า เป็นโครงการใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาโควิด-19 ทำให้ในช่วงไตรมาส 4/2563 กลับมาปรับแผนและเริ่มใหม่อีกครั้ง หลักการคือทำร่วมกับบริษัท Nihon Kei ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยส่งคนเข้าไปดูแลในโรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจประมาณ 2,000-3,000 คน ถือว่าเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่มากในญี่ปุ่น
เนื่องจากญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก่อนไทยมานาน ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์จึงพร้อมกว่า บริษัทจึงนำองค์ความรู้เข้ามาและร่วมลงทุนด้วยกัน เปิดเป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า บริษัท พริ้นซ์ เอ็นเค จี จำกัด สำหรับโมเดลของญี่ปุ่นจะไม่เหมือนโมเดลบ้านพักคนชราในประเทศไทย ซึ่งผู้สูงอายุที่เข้ามาจะเข้ามาอยู่เป็นคอร์สสั้นๆ ประมาณ 6-8 เดือน เพื่อฟื้นฟูให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยที่เส้นเลือดในสมองแตก สูญเสียศักยภาพในการดำรงชีวิต หรือผู้ป่วยนอนติดเตียง โดยคาดหวังว่าหลังจากที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมแล้ว จะสามารถที่จะออกมาเดินและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น เข้าห้องน้ำเองได้ ตักข้าวรับประทานเองได้ ซึ่งญี่ปุ่นมีวิธีในการรักษาประสบความสำเร็จมาแล้ว
“ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการอบรมในทุกวัน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้จะมีการทำ Pilot Case 3 เดือน และใช้สถานที่ที่สุวรรณภูมิก่อน และจะขยายไปอีก 5 แห่งทั่วประเทศ มองว่าอีก 3 ปี จะเห็นภาพชัดขึ้น และหลังจากนั้นจะต้องดูว่าเมื่อกลับออกไปใช้ชีวิตที่บ้านจำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเพิ่มเติม เพราะไทยยังไม่มีการเข้ามาดูแลส่วนนี้อย่างจริงจังจากรัฐบาล”.